++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

สร้างทัศนคติที่ดีเรื่องการแข่งขันของลูกต้องเริ่มจากพ่อแม่/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 9 กันยายน 2552 09:31 น.


ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ตลอดเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา
จนกระทั่งไปถึงกลางเดือนกันยายน เป็นการแข่งขันรอบคัดเลือกของโครงการ
"ลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน"
ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค) ณ ชั้น 8
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของโครงการนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 4
หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค), นิตยสาร
Mother&Care, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
จัดโครงการให้เด็กๆ เล่านิทาน เพื่อสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน 3 ประเภท 5
รุ่น ได้แก่ ประเภทเดี่ยว ซึ่งแบ่งออกเป็นสองรุ่น คือ 4-6 และ 6-9 ปี
ประเภทที่สองคือประเภททีมโรงเรียนซึ่งแบ่งเป็นสองรุ่นตามอายุแบบประเภท
เดี่ยวเช่นกัน

และประเภทสุดท้ายคือประเภทครอบครัว

ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดงานสัญจรไปสรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานในต่าง
จังหวัด โดยเริ่มที่ภาคอีสาน จัดการแข่งขันที่ จังหวัดนครราชสีมา
และภาคเหนือ จัดที่จังหวัดเชียงใหม่

วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้
ต้องการกระตุ้นให้เด็กไทยอ่านหนังสือดีๆ
และต้องการให้พ่อแม่ส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านผ่านสื่อนิทานเล่ม
โปรด

ดิฉันเองก็เป็นหนึ่งในผู้จัดงานและร่วมเป็นกรรมการด้วย ยอมรับว่า
ทีแรกก็เป็นกังวลเหมือนกัน
เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบจับเด็กมาประกวดแข่งขันให้เกิดการแพ้ชนะ

แต่สุดท้ายหลังจากหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่
และเมื่อคิดใคร่ครวญถึงเจตนาตั้งใจดี ก็เลยจัดงานนี้ขึ้นมา
โดยใช้กฎกติกาเป็นกรอบการประกวด ที่เน้นไปเรื่องความเป็นธรรมชาติของเด็ก
ไม่เน้นอุปกรณ์เยอะ ประเภทซื้อหามาก็ถูกหักคะแนนอีกต่างหาก
รวมถึงเสื้อผ้าซึ่งกำหนดให้เด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียน
เพราะไม่อยากให้เสียเงินเสียทอง หรืออลังการงานสร้างเกินวัย

เพื่อเป็นการตัดปัญหา และต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
งานนี้จึงเกิดขึ้นมา พร้อมด้วยกฎกติกาที่สุดแสนจะธรรมดา
ไม่เน้นวิลิศมาหรา อีกทั้งเรายังได้คณะกรรมการ
ผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในแวดวงคนทำงานสำหรับเด็กจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น
อาจารย์ พรอนงค์ นิยมค้า, รศ.กุลวรา ชูพงษ์ไพโรจน์, อาจารย์ชีวัน วิสาสะ,
อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์, อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข, อาจารย์อัจฉรา
ประดิษฐ์, อาจารย์รพินทร ณ ถลาง, คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป, คุณทัศนัย
วงษ์พิเศษกุล, คุณทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์, คุณหมอนิชรา เรืองดารากานนท์,
คุณหมอสุธิรา ริ้วเหลือง, คุณริสรวล อร่ามเจริญ ฯลฯ

เป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ ได้สนุกไปกับนิทาน
เพราะด้วยความเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า หนังสือนิทานดีๆ
มีส่วนต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการในด้านอื่นๆ
ที่ดีไปด้วย รวมถึงการเป็นเด็กรักการอ่าน เพราะฉะนั้น
เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครองและคุณครู
จึงเน้นเรื่องการส่งเสริมและกระตุ้นลูกน้อย
แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการแข่งขัน และรางวัลเป็นที่ตั้ง

เหล่าคณะกรรมการทุกท่านต่างก็มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า
ไม่ต้องการปลูกฝังให้มีบรรยากาศการกดดัน
และแกมบังคับให้เด็กมาแข่งขันในครั้งนี้

ผ่าน มาได้หนึ่งเดือน ก่อนจะไปชิงชนะเลิศกลางเดือนตุลาคม
ภาพบรรยากาศของเด็กระดับอนุบาล และเด็กประถมศึกษา
ที่มาเล่านิทานให้เพื่อน ๆ และผู้ใหญ่ฟัง
เป็นภาพบรรยากาศที่น่ารักยิ่งนัก สร้างความสุข สนุกสนาน น่าเอ็นดู
และรอยยิ้มให้กับผู้ใหญ่ที่ได้ฟังนิทานสารพัดจากเด็กน้อย

เด็กส่วนใหญ่ที่เติบโตขึ้นมา
โดยมีพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังมาโดยตลอด จนถึงวันหนึ่งวันที่เขาพร้อม
เขาหรือเธอตัวน้อยสามารถถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือนิทานเล่มโปรด
ลุกขึ้นมาเล่านิทานได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีความสุข
และแสดงออกได้อย่างน่ารักเหมาะสมตามวัย โดยมีพ่อแม่
ผู้ปกครองพร้อมกับกองเชียร์
คอยสนับสนุนส่งกำลังใจทั้งก่อนและหลังการประกวด

เป็นภาพความประทับใจยิ่งนัก

เพราะนั่นหมายความว่า
พ่อแม่กลุ่มนี้มีทัศนคติในการให้ลูกมาเล่านิทาน เพื่อให้ลูกกล้าแสดงออก
โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องรางวัลเป็นเป้าหมายใหญ่ในชีวิต
แต่ใส่ใจที่จะให้ลูกได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย

แตกต่างจากพ่อแม่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มาด้วยเป้าหมายของผลชนะเท่านั้น

สิ่งที่เราพบเห็นจากการแข่งขันที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 4 ปี ก็คือ
เด็กๆ สนุกสนานกับการได้ถ่ายทอดนิทานที่ตนเองได้เลือกมาเล่าให้ผู้ใหญ่และเพื่อนๆ
ฟัง ยิ่งเป็นรุ่นเด็กเล็ก ความเป็นธรรมชาติจะชัดเจนมาก
และตัวเด็กเองก็ไม่สนใจถึงเรื่องผลการแข่งขัน เพราะเวลาประกาศผล เด็กๆ
ก็ไม่สนใจ ยังคงไปวิ่งเล่นและทำกิจกรรมปกติ

ในขณะที่ผู้ใหญ่ต่างหากที่สนใจเรื่องผลแพ้ชนะอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะพ่อแม่ที่คุ้นเคยกับการเป็นนักล่ารางวัล
ก็จะทนไม่ได้ถ้าหากลูกของตนเองที่เทรนมาอย่างดี จะต้องตกรอบไป
โดยหารู้ไม่ว่าได้ทำร้ายลูกของตัวเองไปด้วย เพราะลูกทุกคนต่างก็รักแม่
อยากเอาอกเอาใจคนเป็นแม่ เมื่อตนไม่สามารถทำได้อย่างที่พ่อแม่คาดหวัง
เขาจะเสียใจขนาดไหน ความมั่นใจในตนเองจะหายไปหรือไม่
แล้วความสุขจากการได้ทำสิ่งที่ตนเองรักอย่างเหมาะสมตามวัยล่ะ

เด็กที่ถูกหล่อหลอมแบบนี้จะเติบโตไปอย่างไร ?

อย่างนี้เข้าข่ายพ่อแม่รังแกฉันด้วยหรือเปล่า...!!!

จนถึงขณะนี้การแข่งขันรอบคัดเลือกก็ยังดำเนินต่อไป
การพยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ คุณครูก็ยังต้องดำเนินต่อไป

เพราะเป้าหมายของการจัดงานก็ยังคงเหมือนเดิม

เราเชื่อว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เติบโตมาจากหนังสือนิทาน มีพ่อแม่
ผู้ปกครองเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เล็กพอถึงวันที่เขาสามารถอ่านนิทานเองได้
เขาจะสามารถเล่านิทานได้อย่างมีชีวิตชีวา สนุกสนาน
และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นนักอ่านในอนาคต
ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธถึงคุณประโยชน์ของการอ่านที่มีมากมายเหลือเกิน

แต่ปัญหาที่เราพบเจอ คือ ความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่
ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด

ความพยายามในการทำความเข้าใจ
และเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องความสำเร็จของเด็กจากโครงการนี้
ไม่ใช่เรื่องของรางวัลเพียงอย่างเดียว
แต่ความสำเร็จของเด็กอยู่ที่การเรียนรู้ในกระบวนการระหว่างทาง
อยู่ที่ความตั้งใจและความพยายามในสิ่งที่ตัวเองรัก
รวมถึงการได้เรียนรู้ว่า ทุกการแข่งขันต้องมีผู้ชนะ และผู้แพ้
โดยมีพ่อแม่เป็นอ้อมแขนที่อบอุ่นที่พร้อมจะโอบกอดลูกด้วยความรักและมีเมตตา

แม้จะไม่ได้รางวัล
แต่ความภาคภูมิใจในตัวลูกเป็นรางวัลที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่

สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ นอกจากความสุขจากการที่เด็กๆ
เล่านิทานให้ฟัง
ก็ยังได้รู้จักเพื่อนพ่อแม่อีกจำนวนมากที่มีความน่ารักไม่น้อยทีเดียว
และจากการที่ได้สัญจรไปต่างหวัด
ทำให้ได้เห็นความแตกต่างของการใส่ใจในเรื่องการเลี้ยงลูก
โดยการเอาหนังสือนิทานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหยิบยื่นให้ลูก
ซึ่งแม้ในภาพใหญ่ยังจัดว่าเด็กกลุ่มนี้ยังถือว่าเป็นกลุ่มน้อยอยู่ก็ตาม
แต่ก็ต้องถือว่า เป็นกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ

และทำให้เข้าใจได้ว่า โอกาสของการนำหนังสือไปสู่เด็ก
ยังคงกระจุกอยู่ในสังคมเมือง พ่อแม่ที่ใส่ใจในการเลี้ยงลูก
และสนับสนุนให้ลูกรักการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือนิทาน
ยังคงเป็นส่วนน้อยของสังคม

แต่พ่อแม่ที่ใส่ใจ และเห็นความสำคัญในเรื่องนี้
ก็มีน่ารักจำนวนมาก เพราะเข้าอกเข้าใจ และอยากให้ลูกมีพื้นที่ดีๆ ให้ลูกๆ
ได้แสดงออกอย่างเหมาะสมตามวัย

และ...นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีเรื่องการแข่งขันให้กับลูกได้


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000104104

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น