บทความโดย : ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
แพทย์ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทแพทย์
"ยายหิว ขอยายกินข้าวหน่อย"
"คุณยาย คุณยายกินไปแล้ว จำไม่ได้หรือคะ อะ..อะ
เดี๋ยวหนูป้อนให้นะ หิวใช่ไหมคะ"
สำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมมักมีปัญหาด้านความจำ
ตามมาด้วยอารมณ์และพฤติกรรมที่ค่อนข้างมาก
และมักส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของคนไข้ ผู้ดูแล และครอบครัวมากทีเดียว
โดยทั่วไปไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาเดียวกันในคนไข้ทุกรายได้
ดังนั้นผู้ดูแลและครอบครัวควรพยายามหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ของคุณ
และเนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก 21 กันยายน ที่จะถึงนี้
มีคำแนะนำทั่วไปในการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้านอารมณ์และพฤติกรรมมาฝาก
ดังนี้ครับ
1.ผู้ดูแลและครอบครัวของคนไข้
ควรทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมให้ดี ไม่ว่าจากการอ่านหนังสือ บทความ
ฟังข้อมูลทางวิทยุ ดูโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ต
หรืออาจปรึกษาหมอผู้ดูแลคนไข้
ซึ่งหากมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากเท่าใด
จะทำให้สามารถหาวิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2.ทำความเข้าใจกับคนไข้
วิธีนี้ใช้ได้ในกรณีที่คนไข้ยังมีปัญหาสมองเสื่อมไม่มาก
ที่ยังพอเข้าใจความรู้สึกและการอธิบายของผู้ดูแล ถ้าคนไข้ยังหลงลืมไม่มาก
อาจยังยอมรับได้กับการอธิบายถึงข้อจำกัดของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป
3.แก้ไขอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดก่อน
คนไข้มักมีหลายปัญหาร่วมกัน การแก้ไขปัญหาหลายอย่างพร้อมๆ กันอาจทำได้ยาก
แต่หากแก้ปัญหาที่สำคัญสุด แม้เพียงปัญหาเดียว
ก็อาจทำให้การดูแลคนไข้ง่ายขึ้นมาก
4.ผู้ดูแลคนไข้ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ
เนื่องจากการที่ต้องดูแลคนไข้ภาวะสมองเสื่อมติดต่อกันตลอด
ทำให้เกิดความอ่อนล้า เครียด ความอดทนลดลงและหงุดหงิดง่าย
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดูแลในระยะยาว
5.ใช้สัญชาตญาณและจินตนาการให้มาก
อย่าไปยึดติดกับความถูกต้องทั้งหมด เช่น
ถ้าคนไข้ยืนยันความต้องการในการสวมหมวกเวลานอน
ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอันตรายก็ไม่ควรห้าม เป็นต้น
6.พยายามทำจิตใจให้สดใส มีอารมณ์สดชื่น สนุกสนาน
คนไข้ภาวะสมองเสื่อมยังต้องการความสนุกสนานอยู่ ถ้าผู้ดูแลอารมณ์ดี
จะมีผลที่ดีต่อการดูแลคนไข้
7.พยายามจัดรูปแบบการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
สามารถคาดการณ์ได้ เช่น การรับประทานอาหาร ยา การออกกำลังกาย อาบน้ำ
หรือแม้กระทั่งการเข้านอน ให้มีเวลาที่ค่อนข้างคงที่ ทำด้วยวิธีเดิมๆ
ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน คนไข้อาจค่อยๆ เรียนรู้ได้ทีละเล็กทีละน้อย
รวมทั้งพยายามปรับสิ่งรอบตัวให้เรียบง่าย เช่น
ไม่เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ในบ้านบ่อยๆ
8.พยายามพูดสื่อสารกับคนไข้เป็นประจำ อธิบายสั้นๆ ว่า
กำลังทำอะไรเป็นขั้นๆ ทีละขั้นตอน เช่น การอาบน้ำ คนทั่วไปมักไม่มีปัญหา
แต่สำหรับคนไข้ภาวะสมองเสื่อม ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน
ดังนั้นผู้ดูแลควรอธิบายให้คนไข้ทำทีละขั้น
บางครั้งการดูแลคนไข้ในกิจกรรมเดิม ๆ
อาจเข้าใจว่าคนไข้น่าจะเข้าใจและจำได้ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ทางที่ดีควรให้คนไข้มีส่วนในการตัดสินใจด้วยจะดีกว่า
9.หลีกเลี่ยงการพูดถึงคนไข้ต่อหน้า
โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์คนไข้ และพยายามเตือนผู้อื่นไม่ให้ทำเช่นนั้น
10.ควรได้รับการใส่สร้อยหรือสร้อยข้อมือที่มีป้ายบอกว่า
คนไข้มีปัญหาด้านความจำและหมายเลขติดต่อกลับ
วิธีนี้จะช่วยลดความวุ่นวายในการตามหาตัวได้
หากคนไข้เดินออกนอกบ้านโดยไม่มีใครรู้
11.พยายามให้คนไข้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ บ้าง
เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมในครอบครัวและชีวิตมี
ความหมาย แต่หลีกเลี่ยงการกระตุ้นหรือพยายามฝืนคนไข้จนเกินไป
เนื่องจากอาจทำให้เขาหงุดหงิดและทำให้ผู้ดูแลอารมณ์เสียได้เช่นกัน
หวังว่าผู้ดูแลและคนในครอบครัวจะนำมาปรับใช้ เข้าทำนองว่า
"ยิ่งรู้ ยิ่งอภัย" กับคนไข้นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น