พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักขึ้นชื่อในเรื่องของความแห้งแล้งอย่างเห็นได้ชัดในช่วงฤดูแล้ง แต่พอถึงฤดูน้ำหลากก็จะมีฝนที่ตกลงมาอย่างมากมายจนบางปีก็เกิดปัญหาน้ำท่วมให้ต้องแก้ไขไม่หยุดหย่อน
พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้คิดค้นวิธีการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งโดยอาศัยความจำกัดของธรรมชาติ กล่าวคือ ในฤดูน้ำท่วมจะมีเศษวัชพืช เช่น จอกลอยตามน้ำมา การนำจอกที่ถูกน้ำพัดพามา กองรวมกันตามโคนต้นไม้ ทำให้ในช่วงฤดูแล้งซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขาดแคลนน้ำ และต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพหรือประหยัด เมื่อนำน้ำไปรดลงบริเวณโคนต้นไม้ที่ถูกคลุมด้วยจอก รดเพียงแค่พอเปียกก็สามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้นานหลายวันเป็นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด
นอกจากนี้ความคิดยังขยายออกไปถึงการวางแผนว่าทำอย่างไรจึงจะมีอาหารรับประทานอย่างอุดมสมบูรณ์ทุกวันได้ตลอดปีโดยไม่มีอด โดยการวางแผนการออกแบบแปลงเกษตรเสียใหม่ ให้หยิบใช้ง่ายและตอบสนองความต้องการอาหารในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงฤดูกาลที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย
วิธีการก็คือ คิดและวางแผนว่า ตัวเองชอบทานอะไร ก็จะปลูกสิ่งนั้น และทำความรู้จัก กับพืชทุกต้นที่ปลูกทุกต้นอย่างชนิดที่เรียกว่า “รู้จริง” กล่าวคือ เมื่อเป็นพืชสวนครัวก็ต้องรู้ว่า พืชชนิดนั้นใช้ประโยชน์อย่างไร ต้องการน้ำมากน้อยแค่ไหน ต้องปลูกอย่างไร ไว้ที่ไหนโดยไม่ต้องอาศัยน้ำมาก
ส่วนไม้ดอกชนิดใดปลูกอย่างไรชอบแสงแดดหรือไม่ชอบ เจ้าของชอบไม้ดอกสีอะไร ดอกจะออกในช่วงไหน ดอกมีกลิ่นหอมหรือไม่ และลมในแต่ละฤดูกาลพัดจากทิศไหนไปทิศไหน และต้องพัดผ่านดอกไม้ชนิดใด และต้องปลูกไม้ขนาดใหญ่เพื่อให้อาศัยเป็นร่มเงาในยามที่แดดร้อนจัดอีกด้วย
เมื่อเป็นไม้ผล ก็ต้องเลือกปลูกที่เจ้าของรู้จักชอบรับประทานและจัดวางแผนการปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่
จากการจัดการในเรื่องน้ำและการจัดการแปลงเกษตรตามแบบผสมผสาน รวมทั้งการเลี้ยงปลา ทำให้มีอาหารรับประทานอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลไม่อดอยากและมีพื้นที่เขียวชอุ่มตลอดปี โดยที่ไม่ต้องอาศัยน้ำมาก หากแต่ต้องจัดวางระบบให้เหมาะสม เริ่มต้นที่ความคิดแล้วลงมือปฏิบัติและเมื่อเวลาผ่านไป หากเห็นว่าบางสิ่งบางอย่างยังถูกจัดวางไม่เหมาะสมก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปทีละเล็กละน้อย อาศัยเวลาและความรู้และประสบการณ์ที่ได้ รู้จัก กับ ต้นไม้แต่ละชนิด และข้อจำกัดของธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไป
นายคำเดื่อง ภาษี
ครูภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลงานระดับดีเด่นแห่งชาติหลายรางวัล
40 หมู่ 8 บ้านโนนเขวา ต.หัวฝาย
กิ่ง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์
จากหนังสือ “ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง”
จัดทำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กันยายน 2549
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น