น.พ.มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ประกาศเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้หวัดคัดจมูกที่มีส่วนผสมของ ตัวยาเฟนนิลโพรพาโนลามีน หรือยาพีพีเอ เพราะมีผลการวิจัยที่เชื่อถือได้ว่ายามีอัตราเสี่ยงทำให้เกิดอาการเลือดออก ในสมองได้ อย่างไรก็ดีในช่วงฤดูหนาวนี้ประชาชนมักจะป่วยได้ง่ายขึ้นเนื่องจากความชื้น ในอากาศมีน้อย โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะเป็นหวัดปีละ 6-8 ครั้ง ครั้งหนึ่งนานประมาณ 7-9 วัน ทำให้มีการใช้ยาแก้หวัดกันมากมาย แม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่หายได้เองก็ตาม เพราะเกิดจากเชื้อไวรัส แต่อาการของเด็กที่ป่วยคือ อาการไอ เป็นไข้ เจ็บคอเล็กน้อย หรือบางทีเด็กไม่กินนมจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองวิตกกังวล และต้องการยามารักษาให้เด็กหายจากอาการป่วย โดยอาจไปซื้อยาเองหรือพบแพทย์ ซึ่งบางครั้งถึงกับทำให้แพทย์จำเป็นต้องจ่ายยาบางอย่างให้โดยไม่จำเป็น
"การ ดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคหวัด โดยปกติทั่วไปแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้หวัด หรือยาแก้ไอ แต่จะแนะนำให้กินอาหารตามปกติ ดื่มน้ำบ่อยๆ ให้พักผ่อน หากเด็กมีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการไอให้กินน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำจัดเป็นยาแก้ไอที่ดีที่สุด หรืออาจทำน้ำผึ้งผสมมะนาวป้ายลิ้นหรือละลายให้จิบ หากมีอาการคัดจมูกมีน้ำมูกมาก ให้เช็ดหรือดูดออกด้วยลูกยางแดงเบอร์ 2 หากมีน้ำมูกแห้งกรังให้หยดด้วยน้ำเกลือที่ผสมใช้ได้เอง คือใช้เกลือป่น 1/4 ช้อนชาต่อน้ำต้มสุก 1 แก้วข้างละ 1-2 หยด จะทำให้เยื่อจมูกเปียก เด็กจะหายใจโล่งขึ้น" น.พ.มงคลกล่าว
น.พ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่า ยาแก้ไอ แก้หวัด ชนิดน้ำสำหรับใช้ในเด็กที่วางจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นยาสูตรผสมมีอยู่หลายร้อยตำรับ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดอาการคัดจมูก ยาแก้แพ้ ยาระงับไอ ยาแก้ไอ เป็นต้น โดยเฉพาะยาลดน้ำมูก และยาลดอาการคัดจมูกนั้น แม้ว่ายานี้จะใช้ได้ผลในผู้ใหญ่ แต่ถ้าใช้ในเด็กเล็กขอให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะยาอาจทำให้เด็กใจสั่น มีอาการกระวนกระวายนอนไม่หลับได้ ส่วนยาแก้แพ้ ยาระงับไอนั้นไม่ได้รักษาหวัด แต่จะบรรเทาอาการไอ โดยฤทธิ์ข้างเคียงของยานี้จะทำให้ง่วงนอน และทำให้น้ำมูกแห้ง ซึ่งอาจทำให้เสมหะอุดตันหลอดลมของเด็กได้
"นอกจากนี้ยาแก้ไอสูตรผสม ซึ่งนอกจากจะไม่มีข้อพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดฤทธิ์เสริมขึ้นแล้ว เด็กยังมีโอกาสได้รับยาที่เกินความจำเป็น โดยหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาแก้หวัดก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และขอให้ใช้ยาน้อยชนิดเท่าที่จำเป็น ควรศึกษาวิธีใช้จากฉลากข้างขวดให้เข้าใจ ระมัดระวังอย่าใช้ยาเกินขนาด เพราะจะทำให้ลูกของท่านเสี่ยงต่อพิษภัยของยาโดยไม่จำเป็น ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ป่วย โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ" น.พ.สมทรงกล่าว
ผู้สื่อ ข่าวรายงานว่า กองระบาดวิทยา สธ. รายงานสถานการณ์ของโรคระบบทางเดินหายใจว่าเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยของประชาชน ทุกวัยมากเป็นอันดับ 1 พบได้ตลอดปี มีประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคระบบนี้เข้ารับการตรวจรักษาในสถานบริการสาธารณสุข ทุกระดับทั่วประเทศ ประเภทผู้ป่วยนอกประมาณ 13 ล้านคนต่อปี
โดยคุณ : มงคล ณ สงขลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น