โดย Co-Op
โดย อดิศร สุขสมอรรถ
ก่อนที่พลพรรค Dream Theater จะเดินหน้าเข้าห้องอัดทำผลงานชุดที่
10 ของพวกเขาเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว สมาชิก 3 ใน 5
คนของวงมีภาระกิจบางอย่างที่ต้องสะสางให้เรียบร้อยเสียก่อน
อันเป็นสิ่งที่ผ่อนผันมาเนิ่นจนครบ 10 ปี
ย้อนไปเมื่อเดือนก.ย.ปี 1997 ขณะที่แฟนเพลงของ DT
กำลังรอคอยการออกผลงานชุดใหม่อย่าง Falling into Infinity
ในปลายเดือนนั้น สิ่งที่ Mike Portnoy
ทำก่อนที่จะถึงวันดังกล่าวแทนที่จะเป็นการเฝ้าลุ้นยอดขายหรือการขึ้นชาร์ต
ของผลงานชุดใหม่ของตัวเอง
เขากลับมีแผนในใจสำหรับโปรเจ็คท์ใหม่ที่เป็นซูเปอร์กรุ๊ปที่ตั้งใจว่าจะไม่
มีอะไรเหมือนกับ DT วงที่เขาอยู่กินกับมันมา 10 ปี
และเริ่มที่จะหาทางออกให้กับอนาคตของมันไม่ได้แล้วในตอนนั้น
เพื่อแก้เซ็งความกดดันของวงที่ต้องทำงานตอบโจทย์บ้าๆ บอๆ
ทั้งหลายจากค่ายเพลง
โปรเจ็คท์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นด้วยการติดต่อไปที่สมาชิกคนแรกอย่าง Jordan
Rudess คนที่เขาตามจีบมาเข้าวง DT เท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จเสียที
ให้มาเป็นมือคีบอร์ดของวงนี้ ปรากฎว่าคราวนี้สำเร็จด้วยดี
ตำแหน่งต่อไปได้แก่มือเบส ซึ่งเหมือนถูกหวยเมื่อได้ Tony Levin
มือเบสโคตรเซียนแห่งวงโปรเกรสซีฟ ร็อกยักษ์ใหญ่อย่าง King Crimson
และมือเบสคู่บุญของ Peter Gabriel (เขายังเป็นสมาชิกคนที่ 5 ในแก๊งกบฎของ
Yes ที่เคยออกมาตั้งวงพิเศษอย่าง Anderson Bruford Wakeman Howe
ที่มีเขาเป็นมือเบสนั่นเอง) เพราะนอกจะเป็นมือเบสที่เก่งกาจแล้ว
ยังเป็นไม่กี่คนในวงการที่สามารถเล่น Chapman Stick ซึ่งเป็นเบส 10-12
สายที่ต้องเล่นเทคนิกการแท็ปปิ้งทั้งสองมือได้พร้อมๆ กันได้อย่างไร้ที่ติ
ปัญหาอยู่ที่ตำแหน่งสุดท้ายที่ยังไม่ลงตัวก็คือมือกีตาร์
เมื่อเบอร์หนึ่งที่เขาอยากร่วมงานอย่าง Dimebag Darrell ขุนขวานแห่ง
Pantera ไม่สะดวกจะร่วมงานด้วยในเวลานั้น(หรือเวลาไหนๆ อีกแล้ว)
เช่นเดียวกับคนใกล้ตัวอย่าง Jim Matheos ของวงโปรเกรสซีฟ เมทัลรุ่นพี่
Fates Warning ก็ไม่ว่าง ครั้นจะรวบหัวรวบหาง Dixie Dregs
มาอีกคนหลังจากได้ Rudess มาแล้วแต่ Steve Morse ก็ไม่เล่นด้วย
ตำแหน่งเดียวที่เหลือนี้จึงทำให้วงไม่สมบูรณ์เสียที
(จริงๆ ตำแหน่งขุนขวานของ LTE
ที่ส่วนตัวผมอยากให้เป็นและเสียดายทุกครั้งที่นึกถึงก็คือ Paul Gilbert
แห่ง Mr.Big เพราะศักยภาพของเขาคนนี้ช่างเหมาะเจาะลงตัวสมกับคนอื่นๆ
ในวงนี้ที่ต่าง "เป็นหนึ่ง" ในเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเสียเหลือเกิน ซึ่งปี
1997 เป็นปีที่เขาออกจากวง Mr.Big พอดิบพอดี
แม้หลังจากนั้นเขาจะมาร่วมงานกับ Portnoy ใน 4 โปรเจ็คท์คารวะ 4
มือกลองอันเป็นอิทธิพลสูงสุดของ Portnoy (The Beatles, The Who, Led
Zeppelin, Rush) ซึ่งก็เป็นงาน Tribute ที่น่าสนใจ
แต่เทียบไม่ได้กับระดับความน่าตื่นเต้นของซูเปอร์แบนด์วงนี้ที่กำลังจะสร้าง
ขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงความสนใจส่วนตัวของผม
ไม่มีเจตนาลบหลู่เฮีย Petrucci แต่อย่างใด
เพราะต่างก็เพิ่งจะดวลฝีไม้ลายมือกันมาใน G3 เมื่อปี 2007
กันไปเรียบร้อยแล้ว)
ยังดีที่ Portnoy มีภรรยาที่เข้าใจสามีนักดนตรีอย่างเขา
(เธอเองก็เป็นมือกีตาร์มาก่อน) ที่แนะนำว่าควรจะเป็น John Petrucci
เพื่อนซี้ของเขาเอง เพราะทั้งคู่ร่วมงานกันมานานและเข้าขากันเป็นอย่างดี
จึงน่าจะเหมาะสมสำหรับการเริ่มวงเกิดใหม่อย่างนี้ เมื่อPortnoy
เห็นด้วยจึงพา Petrucci
เข้าห้องอัดพร้อมกับนักดนตรีที่เหลือในการบันทึกเสียงในระหว่างวันที่
20-25 ก.ย.ของปีนั้น โดยไม่สนใจว่าวันที่ 23
ก.ย.จะเป็นวันออกผลงานชุดใหม่ของ DT แต่อย่างใด
ด้วยช่วงเวลาในห้องอัดเพียงแค่ไม่ถึงสัปดาห์ Liquid Tension
Experiment ผลงานเพลงบรรเลงโปรเกรสซีฟ เมทัลของทั้ง 4
ไม่เพียงแต่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง
แต่ยังสร้างออกมาได้ยอดเยี่ยมเกินกว่าที่แฟนๆ จะคาดหวังเอาไว้
จนทำให้ทั้ง 4 กลับมาร่วมตัวกันอีกครั้งในปลายปี 1998 เพื่อทำผลงานชุดที่
2 ซึ่งผลที่ออกมาก็คือความยอดเยี่ยมที่ผู้คนนำไปเทียบกับผลงานชุดแรกอยู่เสมอ
เรื่องราวเช่นนี้มักเกิดขึ้นในวงการดนตรีอยู่เสมอ เหมือนครั้งที่
Duane Allman ค้นพบเทคนิกการสไลด์กีตาร์จากขวดยาที่น้องชายเอามาเยี่ยมไข้
หรือ Tony Iommi
ค้นพบซาวด์หน่วงต่ำจากนรกหลังถูกเครื่องจักรบดปลายนิ้วทั้งสองข้างไป
เพราะ บางครั้งหากมนุษย์เรามีความพยายามมากพอ
สิ่งอันเป็นอุปสรรคก็อาจนำมาซึ่งโอกาสที่กระตุ้นให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ
ที่ไม่จำเจ การสร้างโปรเจ็คท์ครั้งนี้ของ Portnoy
จากความกดดันที่ได้รับจากค่ายเพลงผ่านการทำงานกับวงเก่าของเขา
ได้นำมาสู่จุดกำเนิดซูเปอร์กรุ๊ปอันแสนพิลาสพิไลวงนี้ในที่สุด
ความ สำคัญของ LTE ยังส่งมาถึงวง DT เอง
เพราะผลงานที่ออกมาไล่เลี่ยกันของทั้งสองวงนี้ เป็นเหมือนการบอกเป็นนัยๆ
ว่านี่คือสิ่งที่ Falling into Infinity "ควรจะเป็น" และเป็นสิ่งที่
Scenes from a Memory "กำลังจะเป็น" เหนืออื่นใด
โปรเจ็คท์ครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนให้กับวง DT
เมื่อในที่สุดทางวงก็ได้จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอย่าง Rudess
มาเสริมตำแหน่งมือคีบอร์ดของวงเป็นผลสำเร็จ
ซึ่งเป็นผลจากการร่วมงานด้วยกันครั้งนี้
อันถือเป็นเหมือนดั่งการชุบชีวิตให้กับวง ไม่ต่างกับครั้งที่ Iron Maiden
ได้ Bruce Dickinson มาเป็นนักร้องนำ หรือ Ozzy Osbourne ค้นพบ Zakk
Wylde เป็นครั้งแรก
http://www.youtube.com/watch?v=bfvz6SBhxmU&feature=player_embedded
Another Dimension LA
Liquid Tension Experiment Live 2008 In NYC & LA
การที่จะเสพผลงานของวงที่เก่งกาจระดับนี้ให้สะใจพี่น้องแน่นอนว่า
ต้องเป็นการชมคอนเสิร์ต แต่หลังจากออกผลงานมาเพียง 2 ชุดในปี 1998 และ
1999 อนาคตของวงก็ดูเหมือนจะปิดฉากลงทันที เพราะ 3 ใน 4 ของ LTE กลายเป็น
3 ใน 5 ของ DT ไปเสียแล้ว เจ้าของโปรเจ็คท์อย่าง Portnoy
จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต่ออายุให้กับวงดนตรียอดเยี่ยมแต่อายุแสนสั้นนี้
ต่อไป แต่ก็ยังรับปากแฟนๆ
ที่รอคอยอยู่ว่าการกลับมาทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันอีกครั้งยังคงเป็นไปได้อยู่
หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนานโดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น
ทางวงก็ได้ปล่อยผลงานทีเล่นทีจริงออกมาให้แฟนๆ ได้แก้ขัดอย่าง Liquid
Trio Experiment ทั้ง 2 ชุด ทั้ง Spontaneous Combustion ผลงาน
"อิมโพรไวส์ในห้องอัด" เมื่อครั้งที่วงเหลือสมาชิกในวงเพียง 3
คนอย่างไม่ตั้งใจเมื่อ Petrucci ต้องไปเยี่ยมเมียที่ใกล้คลอด
แต่วงจองห้องอัดเอาไว้แล้ว จึงต้องแจมกันไปแบบ กลอง-เบส-คีบอร์ด
และเหตุการณ์คล้ายๆ กันก็เกิดขึ้นอีกครั้งในผลงานชุด When the Keyboard
Breaks: Live in Chicago ที่ กลายเป็นการ "อิมโพรไวส์บนเวทีคอนเสิร์ต"
เมื่ออยู่ๆ คีบอร์ดของ Rudess เสียอย่างไม่ทราบสาเหตุ จึงต้องแจมกันไปแบบ
กลอง-เบส-กีตาร์ จนจบการแสดง
จนสุดท้ายสิ่งที่แฟนๆ รอคอยก็มาถึง ในคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 10
ปีของ LTE เมื่อการแสดงที่นิวยอร์กและลอส แองเจลิสผ่านไปอย่างไร้ปัญหา
จนออกมาในรูปแบบบันทึกการแสดงสดให้เหล่าสาวกได้เสพแบบเต็มอิ่มถึง 2
ชุดพร้อมๆ กัน
เดิมที Portnoy ตั้งใจจะตัดต่อเอาช่วงที่ดีที่สุดของ 2
คอนเสิร์ตมาร่วมไว้เป็นดีวีดีชุดเดียว เพราะว่าเซ็ตลิสต์เหมือนกัน
แต่สุดท้ายก็ทำออกมาเต็มรูปแบบทั้งสองตัว
เพราะเหตุผลทางด้านบรรยากาศในการแสดงที่แตกต่างกัน
รวมทั้งการอิมโพรไวส์ที่ไม่ซ้ำกัน
ซึ่งสำหรับวงระดับนี้แล้วแทบจะเป็นเรื่องธรรมดาที่สองคอนเสิร์ตจะมี
เอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน
ส่วนเพลงที่นำมาแสดงนั้นถือว่านำเนื้อๆ เน้นๆ
จากผลงานทั้งสองชุดมาให้แฟนๆ ได้ชมกันแบบหายอยาก
หลังจากที่หลายคนคงจะได้ชมกันแบบกะปริบกะปรอยในช่วง Instrumedley
จากดีวีดี Live at Budokan ของ DT กันมาบ้างแล้ว
ประเดิม Acid Rain ด้วยความเมามัน
ที่แสดงให้เห็นว่าการหันมาเล่นกลองชุดกระเดื่องเดียวของ Portnoy
ไม่ได้ทำให้ความดุดันลดลงเลย ต่อด้วยเพลงแฝดคนละฝาอย่าง Kindred Spirits
และ Freedom of Speech
ที่เพลงแรกเปิดตัวด้วยท่อนริฟฟ์ดุดันแต่ซ่อนเมโลดีอันสวยงามเอาไว้
เพลงหลังเข้าเพลงอย่างหยดย้อย
แต่เนื้องานอุดมด้วยเนื้อหาที่ซับซ้อนหนักแน่น
ต่อด้วยเพลงที่ไม่จบลงง่ายๆ อย่าง Another Dimension
ที่ความหลากหลายเกิดจากการจับคู่กันโชว์ของริธึมเซซชั่นและลีดเซซชั่น
ในโครงสร้างเพลงที่เสียงเบสคล้ายซาวด์แทร็กหนังไซไฟ ทริลเลอร์
พอหลังจากซัดกันพอหอมปากหอมคอมาได้ครึ่งเพลงแล้ว
ท่อนกลางเพลงผ่อนลงมาในช่วงโซโลเบสของ Levin
ประกอบกับจังหวะกลองแบบจังเกิ้ล กรู๊ฟของ Portnoy
ก่อนจะสลับอารมณ์ออกจากป่าเขามาชมบรรยากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนในท่อนโซโล
เสียงคีบอร์ดคล้ายเสียงแอคคอเดียน
ที่รับช่วงด้วยสำเนียงอคูติกกีตาร์ผลงานประสานของ Rudess และ Petrucci
ไอเดียซึ่งต่อมาจะพบได้ในท่อนท้ายเพลง Solitary Shell ของ DT นั่นเอง
ครึ่งหลังของคอนเสิร์ตความมันเหมือนจะเพิ่มเป็นเท่าทวี
เริ่มด้วยลิคอันแสนเจิดจรัสของ Universal Mind ที่เวอร์ชั่นใน LA
จะมีท่อนโชว์ความพริ้วไหวของนิ้วในโซโลเปียโนของ Rudess เพิ่มมาด้วย
ต่อด้วยอสุรกายความยาวกว่า 16-18 นาทีอย่าง When the Water Breaks
ที่ทดสอบสมาธิของผู้ฟังอย่างยิ่งยวด
(ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ขยาดกับมันมาก่อน)
แต่เมื่อดูจากการแสดงในดีวีดีนี้แล้วมันก็ไม่ใช่อะไรที่ยากเกินเข้าถึง
เพราะจริงๆ แล้วเป็นเพลงที่โชว์ความสวยงามของเมโลดี้พอๆ กับความซับซ้อน
และมีไอเดียเด็ดๆ อยู่ในเพลงมากมาย ทั้งท่อนที่เสียงกีตาร์ของ Petrucci
เลียนแบบจังหวะลูปจากคีบอร์ดของ Rudess
จนกลายเป็นท่อนริฟฟ์ที่ดุดันไม่เหมือนใคร ซึ่งในเวอร์ชั่นที่ LA
ท่อนโซโลคีบอร์ดของเพลงนี้ Rudess ยังเอา Zen Riffer
หรือคีบอร์ดสะพายสุดเท่มาโซโลอีกด้วย
http://www.youtube.com/watch?v=jmZ08TvH92A&feature=player_embedded
When the Water Breaks LA
เพลงถัดมาถือเป็นบทพิสูจน์ความเก่งกาจของวง 4
ยอดมนุษย์วงนี้ได้อย่างดีที่สุด กับการนำ Rhapsody in Blue
ผลงานอันเกรียงไกรของยอดคีตกวีชาวนิวยอร์ก George Gershwin มาบรรเลง (3
ใน 4 สมาชิกของวงนี้เป็นนิวยอร์กเกอร์) ซึ่งทำออกมาได้เยี่ยมจริงๆ
สำหรับการนำเครื่องดนตรี 4
ชิ้นมาบรรเลงเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อวงออร์เคสตร้ายุคใหม่ได้สมบูรณ์แบบ
แต่ละท่อนถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้เหมือนกับต้นตำรับอย่างมาก
(แต่หายไปท่อนหนึ่งอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ไม่รู้เป็นเพราะไม่ต้องการให้เพลงยาวไปกว่านี้หรือเปล่า)
ท่อนที่ผ่อนลงเพื่อแสดงความโอ่อ่า Petrucci
นำเทคนิกทำเสียงกีตาร์เลียนเสียงเครื่องสายมาใช้
(แบบเดียวกับที่เขาใช้ในท้ายเพลง The Count of Tuscany ในผลงานของ DT
ชุดล่าสุด) ขณะที่ท่อนเปียโนก่อนเข้าช่วงไคลแมกซ์ที่ต้นฉบับทำเอาไว้สนุกสนานอยู่แล้ว
มาถึงเวอร์ชั่นของ Rudess
ที่เบิ้ลความซับซ้อนเข้าไปอีกเล่นเอาเพื่อนร่วมวงมึนเอาไว้ง่ายๆ
แต่ก็สามารถนำพาไปยังท่อนคลี่คลายจนเป็นบทสรุปของบทเพลงที่สง่างามไม่แพ้ต้น
ตำรับ เป็นอีกเวอร์ชั่นมาตรฐานในการดัดแปลง Rhapsody in Blue
ได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไร้ข้อกังขา ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับที่ ELP
วงโปรเกรสซีฟ ร็อกรุ่นใหญ่เคยสร้างชื่อเอาไว้ในการดัดแปลง Pictures at an
Exhibition ผลงานของคีตกวีรัสเซีย Modest Mussorgsky
กลับมาปิดท้ายคอนเสิร์ตด้วยเพลงเปิดตำนานของพวกเขาอย่าง Paradigm
Shift ซึ่ง Levin
ที่หันกลับมาใช้เบสบรรดาก็ยังมีลูกเล่นมาโชว์ด้วยเทคนิกการใช้ Funk
fingers อุปกรณ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาเพื่อสวมบนนิ้วชี้และนิ้วกลางที่ใช้ตบเบสเพื่อให้
เสียงเป็นฟังค์มากขึ้น กับอีกครั้งที่ดับเบิล คิก
ดรัมกับกระเดื่องอันเดียวของ Portnoy
ทำหน้าที่สร้างความดุดันแทนกระเดื่องคู่ได้อย่างดี
และจบคอนเสิร์ตไปอย่างสะใจหายอยาก ทั้งแฟนเพลงที่ NYC, LA
และผู้ชมที่ได้ดูดีวีดีชุดนี้อยู่กับบ้านเช่นกัน
ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างแผ่นที่นิวยอร์กและแอลเอก็คือ
ที่นิวยอร์กนั้นเป็นการเปิดคอนเสิร์ตในแจ๊สคลับเล็กๆ ที่คนดูไม่น่าถึงพัน
ที่ที่คนดูจะอยู่ติดกับเวทีอย่างมาก
จนบางครั้งมือไม้ของแฟนเพลง(รวมทั้งโทรศัพท์มือถือที่ไม่รู้ว่าจะถ่ายอะไร
กันหนักหนา)บดบังการแสดงบางช่วงเอาไว้ง่ายๆ
เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการมาเปิดคลีนิคสอนดนตรีมากกว่าจะมาเปิดการแสดง
คอนเสิร์ตเต็มรูปแบบ
แต่ข้อดีก็คือจะได้มุมกล้องที่ใกล้ชิดนักดนตรีอย่างมาก
รวมทั้งส่วนร่วมของแฟนเพลงในสถานที่จำกัดเช่นนั้นทำให้เป็นคอนเสิร์ตที่ดู
สนุกกว่า
ในขณะที่แอลเอ เวทีที่เปิดการแสดงเหมือนอยู่ในห้องประชุม
ส่วนแฟนเพลงที่คาดว่าน่าจะเกินหลักพัน
แต่กล้องไม่ค่อยหันไปจับภาพเท่าไหร่จนบางครั้งรู้สึกเหมือนว่าพวกเขามาเล่น
กันอยู่ 4 คนโดยไม่มีคนดูเลย
แต่สิ่งที่เหนือว่าที่นิวยอร์กอย่างเห็นได้ชัดก็คือการกำกับภาพและการตัดต่อ
ที่ทำออกมาเข้าขั้นมืออาชีพมกกว่า
ทั้งการจัดแสงแบบเรียบง่ายไม่หวือหวาและไม่มืดทึบเหมือนในคลับที่นิวยอร์ก
รวมทั้งใช้เทคนิกการ Split Screen ภาพในช่วงที่มีการโซโลพร้อมๆ กันด้วย
ถ้าให้เปรียบเทียบกับดีวีดีคอนเสิร์ตที่เคยทำออกมาของ DT
คอนเสิร์ตที่นิวยอร์กก็เหมือนกับดีวีดี Metropolis 2000: Scenes from New
York และคอนเสิร์ตของแอลเอคือการจัดองค์ประกอบเวทีแบบ Live at Budokan
แต่ให้อารมณ์แบบ Score ซึ่งถ้าแฟนเพลงคนไหนไม่คิดที่จะมีไว้ทั้ง 2 ตัว
คอนเสิร์ตที่แอลเอก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า...ถ้าคุณมีโอกาสเลือก
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะดีวีดีชุดนี้มีจำหน่ายแต่ในรูปแบบ Limited
Edition Boxset ที่หาซื้อได้ทางเว็บไซต์ ytsejamrecords.com เท่านั้น
ซึ่งตั้งราคาเอาไว้ไม่น้อยที่ 130 เหรียญ (2 ดีวีดี 6 ซีดี กับ 1
บลูเรย์คอนเสิร์ตที่แอลเอ) ถือเป็นราคาที่ตั้งเอาไว้เพื่อวัดใจแฟนๆ
โดยเฉพาะ
อย่าง ไรเสีย
ผลงานชุดนี้ที่ออกมาถือว่าคุ้มค่าแก่การรอคอยทุกประการ
และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับแฟนเพลงของ Dream Theater
บางส่วน(หรือหลายคน)ที่ยังโหยหาผลงานในยุคแรกๆ ของพวกเขา
เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงบางครั้งอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของทุกๆ คน
แต่การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งย่อมมีเป็นนิรันดร์
อย่างน้อยศรัทธาที่ถดถอยไปกับวงก่อน
อาจจะเรียกคืนกลับมาได้จากผลงานชิ้นนี้
ด้วยเหตุที่มันนำพาให้เรากลับไปเสพผลงานที่จินตนาการแห่งเสียงเพลงไร้ขอบเขต
อีกครั้งหนึ่ง
http://www.youtube.com/watch?v=AlVgl8v35mU&feature=player_embedded
Universal Mind NYC
from http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000098765
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น