++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

ถึงเวลา IPD วัคซีนชาติจริงหรือ?

สุกัญญา แสงงาม รายงาน

โรค ติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเล็กเด็ก
คร่าชีวิตเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต่อปี
เฉลี่ยทุกๆ15 วินาที จะมีเด็กเสียชีวิต 1 คน พบมากในภูมิภาคเอเชีย
กับแอฟริกา นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่งของโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลักดันให้วัคซีนไอพีดี
ซึ่งป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ
แต่ก็เกิดคำถามตามมาด้วยว่า มีจำเป็นมากน้อยเพียงใด

ศ.พญ.ลูลู บราโว่
ประธานองค์กรพันธมิตรร่วมป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ ASAP
กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของโรคติด
เชื้อนิวโมคอคคัส พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทางภาคธุรกิจ รัฐบาล
องค์กรการกุศล บรรจุวัคซีนไอพีดีเข้าอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ
ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง
เป็นต้น บรรจุเป็นวัคซีนแห่งชาติแล้ว

แต่ยังมีประเทศอีกจำนวนมากยังไม่ได้บรรจุวัคซีนไอพีดีให้เป็นวัคซีน
พื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องดูแลตัวเอง
เนื่องจากราคาวัคซีนค่อนข้างสูงเฉลี่ยเข็มละ 2 ถึง 3 พันบาท
เด็กหนึ่งคนต้องฉีด 4 เข็ม ฉีดครั้งแรก ช่วงอายุ 2 เดือน ครั้งที่ 2 อายุ
4 เดือน ครั้งที่ 3 อายุ 6 เดือน และครั้งสุดท้าย อายุ 12-15 เดือน

และนั่นได้กลายเป็นที่มาของการจัดประชุม
"วัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ขึ้นที่ โรงแรมรอยัล อังกอร์ รีสอร์ท
ประเทศกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อระดมสมองแพทย์จากประเทศแถบเอเชีย
ช่วยกันหาแนวทางให้เด็กเข้าถึงวัคซีนไอพีดี

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ไม่เฉพาะแต่โรคปอดบวมเท่านั้น
เชื้อนิวโมคอคคัสยังทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในกลุ่มโรคไอพีพี เช่น
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไซนัสอักเสบ
และโรคหูหนวก ซึ่งเด็กสุขภาพดีทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยง
และความเสี่ยงจะสูงมากขึ้นหากเด็กมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ เด็กที่ติดเชื้อ
HIV รวมถึงเด็กที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคธาลัสซีเมีย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
การอยู่ในสถานที่ที่แออัดแล้วไม่ค่อยได้ระบายอากาศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคนี้จะมีอุบัติการณ์ไม่มากในประเทศไทย
แต่หากติดเชื้อแล้วโอกาสเสี่ยงที่จะพิการหรือเสียชีวิตสูง
และการป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสนั้นทำได้ยาก
เนื่องจากเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในเยื่อบุคอหอยของคนเรา
โดยมีอัตราความชุกของเชื้อมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
โดยคิดเป็นอัตราการเป็นพาหะสูงร้อยละ 25 หรือ เด็ก 4
คนจะมีเด็กที่มีเชื้อ 1 คน

และที่น่าตกใจคือ
เชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายในอากาศด้วยละอองฝอยของน้ำมูก
จากการไอหรือจาม เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด
หรือมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น เนอร์สเซอรี่ โรงภาพยนตร์
ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

"วง การแพทย์พยายามผลักดันให้เป็นวัคซีนแห่งชาติ
โดยระหว่างนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้หลักฐานในการยื่นขอรัฐบาลให้บรรจุ
เป็นวัคซีนแห่งชาติ
แต่ผมไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะบรรจุให้เป็นวัคซีนแห่งชาติหรือไม่
เพราะราคาวัคซีนสูง
การจะให้เด็กทุกคนเข้าถึงวัคซีนรัฐบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย
ไม่เหมือนวัคซีนพื้นฐาน เช่น วัณโรค โปลิโอ ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน
ฯลฯ ที่ราคาถูก อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของเด็ก
แพทย์จะต้องวินิจฉัยว่าเด็กคนไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรับวัคซีนชนิดนี้
จะต้องอธิบายถึงความจำเป็นให้พ่อแม่รับทราบ
เพราะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง"ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก
และเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย กล่าวเสริมว่า
การฉีดวัคซีนไอพีดีให้กับเด็ก
นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อในเด็กแล้วยังลดการแพร่กระจายเชื้อจากเด็กไปสู่
ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งด้วย
เพราะบ้านที่มีผู้สูงอายุมักจะมีเด็กอยู่ร่วมด้วย

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000106533

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น