โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล 1
ข้อขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชากรณีปราสาทพระวิหารเป็นปัญหาเก่าแก่ซึ่งเกิด
ขึ้นเมื่อกว่ากึ่งศตวรรษ
บัดนี้ได้มีการหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาถกเถียงกันอีกและมีการเขียนบทความต่างๆ
มากมายรวมทั้งข้อเขียนของข้าพเจ้าเรื่องคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
(ศาลโลก) ซึ่งตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชารวมทั้งคำคัดค้าน
ของไทยและข้อสงวนซึ่งไทยตั้งไว้ ทั้งนี้
โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กระนั้น
ข้อเขียนของข้าพเจ้ายังถูกตีความคลาดเคลื่อนเนื่องจากผู้อ่านมิได้อ่านอย่าง
ละเอียด ละเลย หรือหลงลืมบางข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ข้าพเจ้าจึงขอสรุปอีกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้
คดีปราสาทพระวิหาร
ไทย – กัมพูชา พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕
วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
กัมพูชาเป็นโจทก์ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อฟ้องไทยเป็นจำเลย
ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
พื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาพิพากษาดังนี้
(๑) ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ศาลฯ วินิจฉัยว่า
ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
(๒) สืบเนื่องมาจาก (๑) วินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓
ว่าไทยมีพันธกรณีจะต้องถอนทหารและตำรวจหรือยามผู้รักษาการณ์ออกจากปราสาทพระ
วิหารหรือบริเวณใกล้เคียงที่อยู่บนดินแดนกัมพูชา
(๓) ด้วยคะแนนเสียง ๗ ต่อ ๕
วินิจฉัยว่าไทยมีพันธะจะต้องคืนให้กัมพูชาบรรดาวัตถุที่กัมพูชาอ้างถึงในคำ
แถลงสรุปข้อ ๕ ซึ่งอันตรธานไปจากปราสาทหลังจากวันที่ไทยเข้าครอบครองเมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๙๗
ปัญหาเรื่องเขตแดน
ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปีพุทธ
ศักราช ๒๕๐๕ แม้เสียงข้างมากจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา
แต่ยังมีผู้พิพากษาอีกหลายท่านที่เขียนคำพิพากษาแย้งไว้ว่าประสาทพระวิหาร
ยังคงอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทยตามหลักสันปันน้ำที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา
ค.ศ. ๑๙๐๔
พื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบันของไทยกับกัมพูชานั้นได้แก่ตัวปราสาทพระ
วิหารเท่านั้น แม้ในแผนที่อีกหลายฉบับลากเส้นเขตแดนไทยไม่ตรงกัน
กัมพูชาถือว่าอยู่ในเขตของกัมพูชาโดยอ้างคำพิากษาของศาลยุติธรรมระหว่าง
ประเทศ ไทยก็ถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นเขตในอำนาจอธิปไตยของไทยโดยยึดสันปันน้ำเป็น
เส้นแบ่งเขตตามสนธิสัญญาทวิภาคีกับฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.
๑๒๒ มีใจความดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ กำหนดเขตแดนบริเวณที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ให้เป็นไปตามยอดภูเขาปันน้ำ
ระหว่างดินแดนน้ำตกน้ำแสนแลดินแดนน้ำตกแม่โขงฝ่ายหนึ่ง
กับดินแดนน้ำตกน้ำมูลอีกฝ่ายหนึ่งจนบรรจบถึงภูเขาผาด่าง
แล้วต่อเนื่องไปข้างทิศตะวันออกตามแนวยอดภูเขานี้จนบรรจบถึงแม่โขง
ตั้งแต่ที่บรรจบนี้ขึ้นไป แม่โขงเป็นเขตแดนของกรุงสยาม ตามความข้อ ๑
ในหนังสือสัญญาใหญ่ ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒
จึงสรุปได้ว่า
ในบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาบันทัดหรือเขาดงรัก
เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาอยู่ที่สันปันน้ำซึ่งเป็นพรมแดนธรรมขาติตามหลักกฎหมาย
ระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาข้างต้นโดยกัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศส
การปักปันเขตแดน
การปักปันดินแดนระหว่างสองประเทศแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน
ขั้นแรกได้แก่บทนิยาม (definition)
ขั้นที่สองคือการลากเส้นบนแผนที่ตามบทนิยาม (delimitation)
และขั้นสุดท้าย (demarcation) ในกรณีที่เป็นเขตแดนตามธรรมชาติ อาทิ
แม่น้ำ ให้ถือร่องน้ำลึกหรือฝั่งแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขต
หากเป็นภูเขาก็ต้องเป็นไปตามยอดเขาหรือเส้นสันปันน้ำ
ในกรณีที่ไม่มีพรมแดนทางธรรมชาติ
คณะกรรมการผสมของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้ปักหลักเขตแดนร่วมกันด้วยความเห็น
ชอบของทั้งสองฝ่าย
แผนที่
เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันมีการอ้างถึงแผนที่มากมายหลายฉบับในวาระ
ต่างๆ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าแผนที่ฉบับเดียวที่อยู่ในประเด็นปัญหาได้แก่แผนที่ผนวก
๑ ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา
แผนที่ดังกล่าวคือแผนที่ที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศสฝ่าย
เดียวเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๗
โดยไทยไม่มีโอกาสทดสอบความถูกต้องเนื่องจากไทยยังไม่ได้ก่อตั้งกรมแผนที่
ทหารบก ไทยค้นพบภายหลังว่าแผนที่ดังกล่าวผิดพลาดเพราะการลากเส้นเขตแดนมิได้เป็นไป
ตามสันปันน้ำแต่คลาดเคลื่อนไปหลายกิโลเมตร
ทำให้ปราสาทพระวิหารซึ่งอยู่ในเขตไทยไปปรากฏในเขตแดนฝรั่งเศส ฉะนั้น
การที่ผู้หนึ่งผู้ใดอ้างว่าแผนที่ผนวกคำฟ้องของกัมพูชาเป็นแผนที่แสดงเขตแดน
จึงผิดพลาดจากความเป็นจริง
สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นคำฟ้องแรกเท่านั้น
จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในเรื่อง
(๑) สถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชา หรือ
(๒) เส้นเขตแดนในบริเวณที่พิพาท
ดังนั้น ศาลฯ
จึงงดเว้นการวินิจฉัยความถูกต้องของเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏในแผนที่ผนวก ๑
ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชารวมทั้งสถานภาพของแผนที่ผนวก ๑ ทั้งฉบับ
หรืออีกนัยหนึ่ง ศาลฯ
ไม่ทำหน้าที่กรรมการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
อำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
โดยที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีมาตรการบังคับคดี
จึงสุดแต่ความสมัครใจของคู่คดีที่จะพิจารณาดำเนินการ
หากคู่กรณีไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลฯ
ก็ไม่มีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแต่ประการใด
ฉะนั้น ถึงแม้คำพิพากษาของศาลฯจะถึงที่สุด
แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการระงับกรณีพิพาท หากคู่กรณีโต้แย้ง
คัดค้านและไม่ยอมรับคำพิพากษาเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม
กรณีพิพาทนั้นๆก็ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการพิจารณาใหม่หรือจนกว่าจะ
ระงับไปโดยสันติวิธีอื่นๆ อาทิ โดยการเจรจา การประชุมปรึกษาหารือ
หรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ไกล่เกลี่ย กรรมการประนอม หรืออนุญาโตตุลาการ
ฯลฯ ตามข้อ ๓๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
คำพิพากษาของศาลฯ และทางปฏิบัติของรัฐคู่กรณี
ผลผูกพันของคำพิพากษา ข้อ ๕๙ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า
"คำพิพากษาของศาลฯไม่มีผลผูกพันผู้ใดนอกจากคู่กรณีและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้น"
ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลฯ จึงผูกพันเฉพาะไทยและกัมพูชา
ใช้อ้างยันกับผู้อื่นมิได้ และไม่ผูกพันประเทศที่ ๓
หรือองค์การระหว่างประเทศ อาทิ ยูเนสโกหรือคณะกรรมการมรดกโลก
และไม่มีผลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่อย่างใด
เนื่องจากการขึ้นทะเบียนมิใช่ข้อพิพาทในคดีที่ศาลฯ ตัดสิน
อนึ่ง ข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ กำหนดว่า
"คำ พิพากษาของศาลนั้นถึงที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์
ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษา
ศาลฯจะเป็นผู้ตีความเมื่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ"
จุดยืนและท่าทีของประเทศไทย
ประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ศาลฯ
มิได้วินิจฉัยคดีปราสาทพระวิหารตามกระบวนการที่ชอบ
และได้ตัดสินคดีโดยขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
ให้ประกาศจุดยืนของประเทศไทยให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย
ของศาลฯ แต่ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ
จึงได้ปฏิบัติตามพันธะข้อ ๙๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
ทั้งนี้โดยยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจน
ว่าไทยสงวนสิทธิที่มีอยู่หรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการ
ครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี
ดังนั้น รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่
๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ และในวันรุ่งขึ้น จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แจ้งให้ประชาชน
ทราบทั่วกัน
คำปราศรัยของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์
ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เกี่ยว
กับคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ตามข้อความดังนี้
พี่น้องร่วมชาติ และมิตรร่วมชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ตามที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "ศาลโลก"
ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา
และทางรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบมาตามลำดับแล้วนั้น
โดยที่รัฐบาลของพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าถือว่าเรื่องนี้มีความสำคัญเป็น
อย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียอย่างสำคัญของชาติ
เป็นเรื่องของแผ่นดินไทยซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษของเราสู้อุตส่าห์ฝ่าคม
อาวุธรักษาไว้ และตกทอดมาถึงคนรุ่นเรา จึงสมควรที่เราทุกคนจะได้เอาใจใส่
และสนใจร่วมรู้ร่วมเห็นก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ
ลงไปเกี่ยวกับผืนแผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้
ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลและของตัวข้าพเจ้าเองที่ต้อง
ชี้แจงให้พี่น้องร่วมชาติทั้งหลายได้ทราบถึงการที่รัฐบาลนี้ต้องตัดสินใจใน
กรณีปราสาทพระวิหารต่อไป
แต่เนื่องในการกล่าวคำปราศรับนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจพี่น้องทั้ง
หลายอยู่มาก ข้าพเจ้าจึงจำต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ข้าพเจ้าทราบดีว่า
ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจแล้ว
คนไทยผู้รักชาติทุกคนมีความเศร้าสลดและขมขื่นใจเพียงใด
การแสดงออกของประชาชนในการเดินขบวนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาล
โลกในสัปดาห์ที่แล้วมาเป็นสิ่งที่เห็นกันอย่างแน่ชัดอยู่แล้ว
แต่ก็จะทำอย่างไรได้
เราต้องถือเป็นคราวเคราะห์ร้ายของเราที่ต้องมาประสบกับชตากรรมเช่นนี้
เราจะไม่โทษใครเป็นอันขาด
เพราะการที่ไปโทษคนที่พ้นหน้าที่ไปนั้นย่อมเป็นการไม่สมควร
แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เราจะพากันนิ่งเฉยท้อแท้ใจ
ชาติไทยจะยอมท้อแท้ทอดอาลัยไม่ได้
เราเคยสูญเสียดินแดนแก่ประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคมมาแล้วหลายครั้ง
ถ้าบรรพบุรุษของเราของเรายอมท้อแท้
เราจะเอาแผ่นดินที่ไหนมาอยู่กันจนถึงทุกวันนี้
เราจะต้องหาวิธีต่อสู้ต่อไป ส่วนเราจะต่อสู้อย่างไรนั้น
นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในการต่อสู้กรณีเช่นนี้ เราอาจทำได้หลายวิธี
และแต่ละวิธีก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกัน เราจะต้องได้พิจารณาให้สุขุมรอบคอบ
ต้องใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ และด้วยสายตามองการณ์ไกล
แล้วเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุด
ละเมียดละไมและให้คุณประโยชน์มากที่สุดทั้งในเวลานี้และในอนาคต
ชาติเราจึงจะสามารถธำรงเอกราชและอธิปไตยอยู่ได้
และอยู่ในฐานะที่กล่าวได้ว่า "เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ"
ขอให้พี่น้องผู้รักชาติทั้งหลายโปรดอย่าได้ใช้อารมณ์หุนหันพลันแล่นหรือคิด
มุทลุจะหักหาญด้วยกำลังแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับตัวข้าพเจ้าเอง
ในฐานะที่มีชีวิตเป็นทหารมาแต่เล็กแต่น้อย
และได้เคยผ่านสงครามทำการสู้รบมาแล้วหลายครั้ง
ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความเกรงกลัวการสู้รบแต่ประการใด
แต่ตามพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ
ยังไม่เป็นเรื่องที่ควรรบกัน
สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งศาลโลกได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น
ข้าพเจ้าขอทบทวนความเข้าใจกับเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายว่า
รัฐบาลและประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลกทั้งในข้อเท็จ
จริงในทางกฎหมายระหว่างประเทศและในหลักความยุติธรรม
ตามเหตุผลที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว
แต่เราก็ตระหนักดีว่าคำพิพากษาของศาลเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้ ยิ่งกว่านั้น มาตรา ๔๔ บ่งไว้ว่า "ข้อ ๑
สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติรับที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล
ยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นผู้แพ้ ข้อ ๒
ถ้าผู้แพ้ในคดีใดไม่ปฏิบัติ ข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำวินิจฉัยของศาล
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง
ซึ่งถ้าเป็นเป็นความจำเป็น
ก็อาจทำตามคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อยังผลให้เกิดแก่คำ
พิพากษานั้นได้"
เมื่อเป็นดังนี้
แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทยจะได้มีความรู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ
ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ
จำต้องยอมให้กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้นตามพันธกรณีแห่งสหประชา
ชาติ แต่รัฐบาล ขอตั้งข้อประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ไว้
เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนิน
การทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจมีขึ้นในภายหน้าให้ได้สิทธิ์นี้กลับคืนมาใน
โอกาสอันควร
พี่น้องชาวไทยที่รัก
ข้าพเจ้าก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียว
กับพี่น้องทั้งหลาย และถ้าพูดถึงความรักชาติบ้านเมือง
ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าข้าพเจ้ามีความรักชาติไม่น้อยกว่าพี่น้องคนไทย
ทั้งหลาย แต่ที่รัฐบาลจำต้องโอนอ่อนปฏิบัติตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติก็โดยคำนึง
ถึงเกียรติภูมิของประเทศไทยที่เราสร้างสมไว้เป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี
ยิ่งกว่าปราสาทพระวิหาร ทั้งนี้
มิใช่เกิดเพราะความกลัวหรือความขี้ขลาดแต่ประการใดเลย
แต่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายต้องมองการณ์ไกล เวลานี้เราอยู่ในสังคมของโลก
สมัยนี้ไม่มีชาติใดที่จะอยู่โดยโดดเดี่ยวได้
ประเทศไทยของเราได้รับความนิยมนับถือจากสังคมนานาชาติเพียงใด
พี่น้องทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้ว
ถ้าชาติของเราต้องเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิไปเนื่องจากปราสาทพระวิหาร
คราวนี้แล้ว อีกกี่สิบกี่ร้อยปีเราจึงจะสามารถสร้างเกียรติภูมิที่สูญเสียไปคราวนี้กลับ
คืนมาได้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าการสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้เป็นการสูญเสียที่สะเทือน
ใจคนไทยทั้งชาติ ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป
ก็คงได้แต่ซากสลักหักพังและแผ่นดินที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น
แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารยังอยู่กับไทยตลอดไป
ประชาชนชาวไทยจะรำลึกอยู่เสมอว่า
ปราสาทพระวิหารของไทยถูกปล้นเอาไปด้วยอุปเท่ห์เล่ห์กลของคนที่ไม่รักเกียรติ
และไม่รักความชอบธรรม เมื่อประเทศไทยประพฤติปฏิบัติตนดีในสังคมโลก
เป็นประเทศที่มีศีลมีสัตย์ ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว
ปราสาทพระวิหารจะต้องกลับคืนมาอยู่ในดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่ง
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติของประเทศไทยตามพันธกรณีในกฏบัตรสหประชาชาติ
ครั้งนี้คงจะทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเห็นอกเห็นใจเรายิ่งขึ้น
เหตุการณ์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารครั้งนี้จะสลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคน
ไทยสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน
และจะเป็นรอยจารึกอยู่ในประว้ติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไปเสมือนหนึ่งเป็นแผลใน
หัวใจของคนไทยทั้งชาติ แต่ข้าพเจ้าก็ยังหวังอยู่เสมอว่า
ในที่สุดธรรมะย่อมชนะอธรรม การหัวเราะทีหลังย่อมหัวเราะดังและนานกว่า
อนึ่ง ในเรื่องนี้รัฐบาลรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวพระประมุขที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยที่ได้พระราชทานคติและ
พระบรมราโชวาทแก่รัฐบาลด้วยความที่ทรงห่วงใยในสวัสดิภาพของชาติบ้านเมือง
เป็นอย่างยิ่ง
ขอให้พี่น้องร่วมชาติจงได้วางใจเถิดว่า
รัฐบาลที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้จะสามารถนำชาติและพี่น้องชาวไทย
ที่รักก้าวไปสู่อนาคตอันสุกใสได้ ในที่สุด
ข้าพเจ้าขอรับรองต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อคราวที่ชาติเข้าที่คับขันแล้ว
ข้าพเจ้าจะกอดคอร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทย
เอาเลือดทาแผ่นดินโดยไม่เสียดายชีวิตเลยแม้แต่นิดเดียว
แต่ราจะทำอย่างไรได้
ข้าพเจ้าเองก็มีความเจ็บช้ำน้ำใจมิได้น้อยกว่าเพื่อร่วมชาติทั้งหลาย
การที่ข้าพเจ้าต้องมากล่าวถึงเรื่องนี้ในวันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า
ข้าพเจ้ามาพูดกับท่านด้วยน้ำตา แต่น้ำตาของข้าพเจ้าเป็นน้ำตาของลูกผู้ชาย
ของเลือด ของความคั่งแค้นและการผูกใจเจ็บไปชั่วชีวิตทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้กล้าหาญของชาวไทย
ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณด้วยสัจวาจานี้ไว้ พี่น้องที่รัก
น้ำตามิได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้นและได้อะไรคืนมา นอกจากความพยายาม
ความสามัคคี ความสุขุมรอบคอบ ความอดกลั้นที่จะกล้าเผชิญกับความสูญเสีย
พร้อมทั้งรวมกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด
เพื่อให้ชาติที่รักของเราแข็งแกร่งมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น
ในขั้นสุดท้ายชาติไทยต้องประสบกับชัยชนะเสมอ เราต้องกล้าสู้
ต้องยิ้มรับต่อภัยที่มาถึงตัวเรา
ชาติไทยเป็นชาติที่เชื่อมั่นในบวรพุทธศาสนา
ตั้งตนอยู่ในความเป็นธรรมเสมอมา
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเสมอว่าชาติเราจะไม่อับจนเป็นอันขาด
เรื่องนี้เป็นแต่เพียงเรื่องหนึ่งในเรื่องใหญ่ทั้งหลายซึ่งมีความสำคัญกว่า
นี้มากนัก ชาติที่รักของเรากำลังพัฒนาตามวิถีทางที่ดีอยู่แล้วทุกทาง
เหตุนี้มิใช่เหตุแห่งความอับจน
เราจงระวังและทำในเรื่องของชาติที่สำคัญกว่านี้
ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าชาติไทยของเราจะมีอนาคตอันแจ่มใสและรุ่งโรจน์
ประเทศหนึ่งอย่างแม่นมั่นในอนาคตอันใกล้นี้
เราจงมาช่วยกันสร้างชาติที่รักยิ่งของเรา
พี่น้องชาวไทยที่รัก
ในวันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาเป็นของชาติไทยให้จงได้...
สวัสดี...
การแถลงจุดยืนของไทย
ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง ฯพณฯ อู ถั่น
รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค
อ้างถึงคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อ
สนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ๑๙๐๗
นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักความยุติธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ นอกจากนั้น
ไทยยังได้ตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่และจะพึงมีในการครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคตตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง ข้อสงวนดังกล่าวมีผลตลอดไปโดยไม่จำกัดเวลา
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฯพณฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยยังได้มอบหมายให้ นายสมปอง
สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ ๖ (กฎหมาย)
เป็นผู้แถลงย้ำให้ผู้แทนประเทศสมาชิกสหประชาชาติในคณะกรรมการกฎหมายได้ทราบ
ถึงจุดยืนของประเทศไทยตลอดจนเหตุผลทางกฎหมายในการคัดค้านคำพิพากษาโดย
ละเอียด ทั้งนี้
ไม่ปรากฏว่าผู้แทนประเทศอื่นรวมทั้งกัมพูชาได้แสดงความคิดเห็นหรือโต้แย้ง
แต่ประการใด
คำแปลหนังสือจาก ฯพณฯ ถนัด คอมันตร์ ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ*
(*แปลโดย ศ. ดร.สมปอง สุจริตกุล)
เลขที่ (๐๖๐๑) ๒๒๒๓๙/๒๕๐๕
กระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ค.ศ.๑๙๖๒)
เรียน ฯพณฯ อู ถั่น
รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ
นิวยอร์ค
ข้าพเจ้าขออ้างถึงคดีปราสาทพระวิหารซึ่งกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวได้ยื่น
ฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ [พ.ศ.
๒๕๐๒] และศาลฯ ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕]
ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร
ในคำแถลงเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ [พ.ศ. ๒๕๐๕]
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าไทยไม่เห็น
ด้วยกับคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้เหตุผลว่า
รัฐบาลไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดอย่างชัดแจ้งต่อบทบัญญัติ
แห่งสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ในข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ตลอดจนขัดต่อหลักกฏหมายและหลักความยุติธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม
ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ
รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะปฏิบัติตามพันธกรณีแห่งคำพิพากษาตาม
ที่ได้ให้คำมั่นไว้ภายใต้ข้อ ๙๔ ของกฏบัตรสหประชาชาติ
ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่าการตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น
รัฐบาล ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนเพื่อสงวนไว้ซึ่ง
สิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร
โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต
และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งวินิจฉัยให้
ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบพร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงนาม) ถนัด คอมันตร์
(ถนัด คอมันตร์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทย
ปฏิบัติการของไทย
แม้ศาลยุติธรมระหว่างประเทศจะไม่มีอำนาจบังคับคดี
แต่เพื่อแสดงความเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติ
ไทยได้ดำเนินการถอนบุคลากรจากปราสาทพระวิหารและได้ล้อมรั้วรูปสี่เหลี่ยมผืน
ผ้ารอบตัวปราสาทตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย
และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากบริเวณปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้
เพื่อเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาทโดยไทยมิได้สละ
อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่
หรือยอมรับนับถืออธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด
บริเวณที่ตั้งของตัวปราสาทจึงเป็นพื้นที่เดียวซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น
"พื้นที่ทับซ้อน"
ปฏิกิริยาของกัมพูชา
หลังจากไทยได้ถอนบุคลากรจากประสาทพระวิหารตามคำตัดสินของศาลยุติธรรม
ระหว่างประเทศ กัมพูชาก็ยอมรับสภาพโดยดี
และมิได้โต้แย้งในการที่ไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและตั้งข้อ
สงวนไว้อย่างชัดเจน กัมพูชานิ่งเฉยตลอดระยะเวลา ๕
ทศวรรษโดยมิได้เรียกร้องอะไรอื่นอีก
กัมพูชาเริ่มมีปฏิกิริยาเมื่อประมาณ ๕-๖ ปีมานี้
โดยแสดงเจตน์จำนงที่จะขยายอาณาเขตรุกล้ำเข้ามาในพระราชอาณาเขตของประเทศไทย
เริ่มจากรื้อรั้วที่ไทยสร้างไว้รอบปราสาท นอกจากนั้น
คนชาติกัมพูชายังลอบเข้ามาตั้งถิ่นฐานในวนอุทยานเขาพระวิหารในเขตแดนไทยรวม
ทั้งตั้งร้านค้าและแผงลอยซึ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเพื่อขายสินค้าให้นัก
ทัศนาจร
พื้นที่ทับซ้อน
การกล่าวถึง "พื้นที่ทับซ้อน" ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น
กัมพูชาได้พยายามขยายขอบเขตคำพิพากษาของศาลฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕
โดยแอบอ้างว่าศาลให้ความเห็นชอบแผนที่ผนวก ๑ ซึ่งปราศจากมูลความจริง
ทั้งนี้ เนื่องจากในคำพิพากษานั้นเอง ศาลฯ
ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่าแผนที่ผนวก ๑
ท้ายคำฟ้องของกัมพูชามีข้อผิดพลาดตามที่ปรากฏในรายงานคณะผู้เชี่ยวชาญฝ่าย
ไทย ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชาไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่า
"เส้นสันปันน้ำ" บนขอบหน้าผาคือเส้นเขตแดนที่แท้จริงระหว่างไทยกับกัมพูชา
เส้นเขตแดนดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนไทย
อายุความฟ้องร้อง
ปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องไม่เป็นประเด็นในกฎหมายระหว่างประเทศนอก
จากในกรณีที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่อศาลหนึ่งศาลใดที่มีอำนาจพิจารณาข้อ
ขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
หากจะกล่าวถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน อายุความ ๑๐
ปีมีอยู่กรณีเดียว กล่าวคือการร้องขอให้ทบทวนคำพิพากษาตามข้อ ๖๑ วรรค ๕
แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรม
ในกรณีปราสาทพระวิหาร การกล่าวถึงอายุความ ๑๐
ปีนั้นใช้เฉพาะสิทธิของคู่คดีซึ่งได้แก่ไทยหรือกัมพูชาที่จะร้องเรียนให้ศาล
ทบทวนคำพิพากษาเดิมเท่านั้น ฉะนั้น
หากไทยหรือกัมพูชาดำริให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทบทวนคำพิพากษาปี
พ.ศ.๒๕๐๕ ก็จะเป็นการสายเกินไป ถึงอย่างไรก็ตาม
ไม่ปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดำริที่จะกระทำเช่นนั้น
ส่วนกรณีอื่นๆ เช่นการเพิกถอนหรือตีความคำพิพากษา
การฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ หรือระงับกรณีพิพาทโดยอาศัยกลไกอื่น อาทิ
ศาลอนุญาโตตุลาการ ฯลฯ ซึ่งไทยหรือกัมพูชามิได้กระทำการแต่อย่างไร
ปัญหาเรื่องอายุความจึงยังไม่เป็นประเด็น
อายุความข้อสงวน
ข้อสงวนของรัฐบาลไทยต่อคำพิพากษาของศาลในคดีปราสาทพระวิหารซึ่งไทย
ได้แจ้งไปยังเลขาธิการสหประชาชาติในหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
พร้อมทั้งส่งเวียนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบทั่วกันโดยไม่ปรากฏว่า
มีประเทศหนึ่งประเทศใดโต้แย้ง ทักท้วง หรือค้ดค้านแต่ประการใดนั้น
เป็นข้อสงวนที่ปลอดอายุความ
มีผลตลอดกาลตราบใดที่ยังอยู่ใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
การที่ข้อสงวนดังกล่าวมิใช่เป็นการทบทวนคดีเก่าซึ่งต้องกระทำภายในกำหนดเวลา
ที่จำกัดไว้ จึงยังมีผลบังคับจนทุกวันนี้ยกเว้นจะถูกเพิกถอนหรือยกเลิกอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลไทย
ศาสตราจารย์
ดร. สมปอง สุจริตกุล*
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล
* B.A., B.C.L., M.A., D.Phil., and D.C.L. (Oxon)
Diplômé d'Etudes Supérieures de Droit International Public,
Docteur en Droit (Paris)
LL.M. (Harvard)
of the Middle Temple, Barrister-at-law (United Kingdom)
Diplômé de l'Académie de Droit International de La Haye (Nederland)
- คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ศาสตราจารย์กิตติคุณกฏหมายระหว่างประเทศและกฏหมายเปรียบเทียบ
มหาวิทยาลัยกฎหมายโกลเดนเกท ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
- สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศไทย
- สมาชิกสถาบันอนุญาโตตุลาการองค์การกฏหมายเอเซีย-แอฟริกา ณ
กรุงไคโร และกัวลาลัมเปอร์
- อนุญาโตตุลาการอิสระ
- อดีตเลขาธิการอาเซียน (ประเทศไทย)
- อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก ญี่ปุ่น
ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี กรีก อิสราเอล และองค์การตลาดร่วมยุโรป
- อดีตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำ UNESCO และ FAO
- อดีตสมาชิกศูนย์ระงับข้อพิพาทการลงทุนศาลอนุญาโตตุลาการธนาคารโลก
ICSID World Bank
- อดีตกรรมาธิการสหปราชาชาติเพื่อพิจารณาค่าชดเชยความเสียหายในประเทศคูเวต
(UNCC)
- และทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000099605
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น