++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

บันทึกห้องเรียนนอกมหาลัย ตอน "ชีวิตพอเพียง"/เรื่องเล่า นศ.

เรื่องเล่านักศึกษาฉบับนี้ มาจากผู้ใกล้ชิดกับนักศึกษา
ที่นำเอาความสุขเล็กน้อยๆ เหล่านั้น
มาร้อยเรียงจนกลายเป็นเรื่องราวที่มีชื่อว่า "บันทึกห้องเรียนนอกมหาลัย
ตอน "ชีวิตพอเพียง" ผลงานของ "เจตน์ จารุพันธ์"
อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่
ใช้เวลาในช่วงวันหยุด ชักชวนนักศึกษา ลงพื้นที่ทำกิจกรรมในตำราเรียน
ที่นอกจากจะสอนให้ลูกศิษย์ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว
ยังมีเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง .......

ผมใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แบกเป้
เก็บกระเป๋าหนีจากกรุงเทพอันแสนวุ่นวายสู่บ้านชนบท
เพื่อฝึกปรือฝีมือในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์
พร้อมหาโอกาสเติมเต็มชีวิตคืนสู่ธรรมชาติ
ละทิ้งเมืองหลวงที่ว่ากันว่าศิวิไลซ์ไว้เบื้องหลัง จุดหมายของพวกเราคือ
บ้านอ่างเตย อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือแปดริ้วใกล้ ๆ
กรุงเทพนี่เอง


ที่นั่นพวกเรามีนัดกับผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์ คำประสิทธิ์ หัว
หน้าชุมชนนักพัฒนาแห่งบ้านอ่างเตย
ซึ่งมีกิตติศัพท์การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

...ด้วยระยะทาง 82
กิโลเมตรจากกรุงเทพพวกเราเดินทางด้วยรถฉิ่งฉับทัวร์ (ไร้เครื่องปรับอากาศ
ประหยัดเงินและพลังงาน) ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
พวกเราก็มาถึงตัวเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยไม่ลืมเข้านมัสการหลวงพ่อโสธรแห่งวัดโสธรวรารามวรวิหารของชาวแปดริ้วเพื่อความเป็นศิริมงคลก่อนที่จะเดินทางไปอีก
80 กม. เข้าสู่บ้านอ่างเตย

เมื่อเอ่ยถึงคำว่าแปดริ้วหลาย ๆ
คนก็สงสัยว่าทำไมจังหวัดฉะเชิงเทราถึงมีชื่อเรียกขานแบบนั้น
ก็ได้รับคำอธิบายจากผู้รู้ในคณะว่า(ผู้ที่ศึกษาข้อมูลก่อนมา)
แต่เดิมที่นี่เป็น "แหล่งปลาช่อนขนาดใหญ่
เมื่อนำมาตากแห้งจะได้เนื้อปลาถึงแปดริ้วด้วยกัน"

ไม่ถึงชั่วโมงพวกเราก็มาถึงบ้านอ่างเตย โดยมี คุณสำรวย
ทรัพย์ประสาน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา
ผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์ คำประสิทธิ์ และลูกบ้าน (แม่บ้าน)
เตรียมต้อนรับพวกเราด้วยรอยยิ้มพร้อมกับข้าวมื้อกลางวันไว้พร้อมสรรพ
แม้ว่ากลุ่มของผู้เขียนจะไปบ้านอ่างเตยเป็นครั้งแรก
แต่เราก็ได้รับการต้อนรับอันแสนอบอุ่น
ด้วยเหตุผลที่ผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์บอกพวกเราว่า
"บ้านอ่างเตยกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมมีความผูกพันกันมานานนับสิบปี
แล้ว

ด้วยที่ว่า ดร.กนกรัตน์ ยศไกร
อาจารย์ประจำหลักสูตรฯสาขาวิชานิเทศศาสตร์
ได้เป็นผู้จุดประกายแนวความคิดหลายอย่างในการพัฒนาพื้นที่บ้านอ่างเตย
ด้วยการพานักศึกษาวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนามาออกค่ายอาสา
บวกกับการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนและนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่
สร้างให้บ้านอ่างเตยกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในเวลาต่อมา

พวกเราได้ฟังถึงตรงนี้ก็ยิ้มกันแก้มแทบปริด้วยความภูมิใจในสถาบัน
พร้อมเกิดความตระหนักได้ว่า
การทำประโยชน์ให้กับสังคมนั้นช่างมีค่ามากมายนัก
คุณค่าที่ให้แก่ชุมชนด้วยเรื่องราวธรรมดาของการพึ่งพา
ช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่หวังผลประโยชน์ของอาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่
ได้กลายมาเป็นตำนานของบ้านอ่างเตย
แถมยังส่งผลอนิสงมาถึงชนรุ่นหลังอย่างพวกเราอีกด้วย


"ลดรายจ่าย เสริมรายได้"

หลัง ทานข้าวกลางวันแล้ว
ช่วงบ่ายพวกเราได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์เจ้าของพื้นที่เป็น
วิทยากรอภิปรายร่วมเกี่ยวกับประวัติของบ้านอ่างเตย
และหัวใจของการพัฒนาชุมชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พร้อมกับการลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดจนการสร้างกลุ่มอาชีพต่าง
ๆ ตอนแรกนักศึกษาหลายคนดูจะไม่ให้ความสนใจกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสักเท่า
ไหร่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของเกษตรกรเท่านั้น

แต่ท้ายที่สุดพวกเราก็ได้เรียนรู้ว่าหัวใจสำคัญหรือแก่นของเศรษฐกิจ
พอเพียงดังคำที่ผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์ย้ำอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร
จึงจะลดรายจ่าย เสริมรายได้ ซึ่งเป็นปรัชญาของการใช้ชีวิต
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถเริ่มต้นที่การประมาณตน การรู้จักประหยัด
รู้จักใช้ทรัพยากรที่อยู่รอบตัวให้คุ้มค่า
ซึ่งทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

นักศึกษาที่ได้ยินแล้วก็เริ่มมีเสียงซุบซิบ แซวกันว่า

จริง! ที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็ไม่เห็นจะเดือดร้อน
ไม่มีเซเว่น อิเลเว่น ก็อยู่ได้
ไม่ต้องดื่มน้ำอัดลมหรือกินอาหารฟาสฟู๊ดก็สบายดี............

ผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์ยังขยายความให้พวกเราฟังต่อว่า ไอ้ที่ว่า
"ลดรายจ่าย เสริมรายได้"
ก็ต้องระวังเพราะส่วนใหญ่จะนิยมหาทาง"เสริมรายได้" ก่อน
ด้วยการทำเป็นเชิงธุรกิจแล้วก็ขาดทุนเพราะต้องลงทุนเยอะ
แถมสุดท้ายยังไม่มีช่องทางการตลาดสู่กลุ่มลูกค้าอีกด้วย
ซึ่งที่บ้านอ่างเตยนี้เมื่อก่อนเราก็มีหลงทางเหมือนกัน

แต่ตอนนี้เราเข้าใจคำว่า "ลดรายจ่าย เสริมรายได้" แล้ว ว่า


ต้องหาทางลดรายจ่ายของคน ในชุมชนเพื่อเลี้ยงให้ตัวเองอยู่รอดก่อน
และอาจจะมีการทำอาชีพเสริมหรือทำไร่นาสวนผสมให้มีวัตถุดิบด้านอุปโภค-บริโภค
ให้พอเพียงในครัวเรือนและชุมชน
ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ก่อนโดยไม่ต้องคิดโครงการให้ใหญ่โตถึงกับเป็น
อุตสาหกรรม เมื่อมีเครื่องอุปโภค-บริโภคที่พอเพียงแล้วมันเหลือใช้เราถึงจะนำไปขายเพื่อเสริมรายได้
ไม่ใช่ทำเพื่อขายหรือเพื่อธุรกิจเป็นหลัก
ไม่ต้องดูอะไรมากอย่างชาวนาบ้านเราปลูกข้าวทำนาเพื่อไว้ขายอย่างเดียว
ท้ายที่สุดแล้วตัวเองเป็นผู้ปลูกข้าวแต่ไม่มีข้าวจะกิน
ต้องไปซื้อข้าวเพื่อประทังชีวิตตัวเอง
อย่างนี้ไม่ใช่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ถ้า จะให้เห็นเป็นรูปธรรมในบ้านอ่างเตยนี้ก็มีทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว
การเพาะเห็ด การทำปุ๋ย รวมถึงโครงการที่กำลังพัฒนา เช่น เลี้ยงปลาดุก กบ
และการทำก๊าชหุงต้มในครัวเรือนจากมูลสัตว์และขยะ ทั้งหมดนี้เราไม่
ได้ทำใหญ่โต เริ่มแรกเราทำเพื่อนำมาอุปโภค-บริโภคภายในชุมชน
ไม่ต้องไปซื้อจากตลาดเป็นการลดรายจ่าย
บางโครงการเราก็ทำเพื่อทดลองและให้คนในชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้
เห็นถึงประโยชน์ในการนำมาใช้ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนเหลือใช้จริง
ๆ นั่นแหละเราถึงจะนำออกไปขาย

อาหารที่เลี้ยงนักศึกษาก็ล้วนมาจากวัตถุดิบภายในชุมชนทั้งสิ้น
คนในเมืองก็ปลูกพืชผักสวนครัวในกระถางหรือกระบะเพาะได้ไม่จำเป็นต้องมีไร่นา
แค่นี้ก็ประหยัดไปได้เยอะ เราเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่
นอกจากเนื้อแล้วมูลมันเราก็นำมาทำก๊าซหุงต้ม
กากขยะและมูลสัตว์จากก๊าซหุงต้มก็นำไปทำปุ๋ย นำปุ๋ยไปรดพืชผัก
นำพืชผักมารับประทานหมุนเวียนกันเป็นวัฏจักร ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักจ่าย
รู้จักบริหารทรัพยากรที่เรามีก็ทำให้เรารู้จักเพียงพอที่จะอยู่อย่างพอเพียง
ได้

"ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก"

เช้า วันต่อมาพวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนไร่นาสวนผสมของคุณสำรวย
ทรัพย์ประสาน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เจ้าของแนวคิดที่ว่า "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก"
ตอนแรกพวกเราตั้งใจจะใช้เวลาในไร่ของคุณสำรวยแค่นิดหน่อยเพราะมีเวลาน้อย
ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพในตอนบ่าย แต่เอาเข้าจริง ๆ
เราก็ได้เพลิดเพลินไปกับการชมและการชิมผลิตผลของไร่นาสวนผสมแห่งนี้อยู่นับ
ชั่วโมง บอกได้เลยว่าไร่ของคุณสำรวยนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ดอก
ไม้ผลนานาพันธุ์
กล้ารับประกันเลยว่าตลอดทั้งปีไม่ต้องดิ้นรนไปหาซื้อผลิตผลจากที่ไหนเลย

"ปลูก ทุกอย่างที่คนเราต้องกิน และก็กินทุกอย่างที่เราปลูก
นอกจากจะประหยัดลดรายจ่ายแล้ว
ผลิตผลที่เหลือจากการแบ่งให้คนในชุมชนก็มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่
ที่สำคัญยังไม่ต้องตายผ่อนส่งแบบคนเมืองที่บริโภคสารพิษ
ยาฆ่าแมลงอยู่เป็นนิจอีกด้วย"

ก่อน กลับผู้ใหญ่บ้านไพรวัลย์ไม่ลืมชวนพวกเราปลูกพืชสมุนไพรบริเวณศูนย์การเรียน
รู้บ้านอ่างเตยไว้เป็นที่ระลึกถึงการมาเยี่ยมเยียนของคณะในครั้งนี้
(เป็นของที่ระลึกที่ให้ประโยชน์แก่ชุมชนดีจริง ๆ)
แม้ว่าพวกเราจะมีเวลาแค่ 2 วันในการมาเยือนบ้านอ่างเตยในครั้งนี้
แต่ความรู้สึกประทับในความน่ารักของชาวบ้านและภูมิปัญญาด้านปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียงของบ้านอ่างเตยได้ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของพวกเราและจะเป็นเช่นนี้ไป
อีกยาวนาน เหมือนดังบันทึกและถ้อยคำประทับใจที่เหล่านักศึกษาได้ฝากไว้กับบ้านอ่างเตย
ก่อนจะกลับสู่โลกความเป็นจริงของพวกเราในกรุงเทพ

"เป็นครั้งแรก ที่ได้ออกมาทำกิจกรรมแบบนี้กับคณะอาจารย์และเพื่อน
ๆ 2 วันนี้นับว่าคุ้มค่า
คุ้มค่าที่ได้มาสัมผัสความจริงใจและน้ำใจของชาวอ่างเตย
และทึ่งกับการอยู่แบบพอเพียงของเขา"

"อยาก มีประสบการณ์ เจอสิ่งแปลกใหม่
อยากใช้กล้องเป็นเหมือนรุ่นพี่ ได้ประสบการณ์หลากหลาย
ประทับใจกับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ได้กินตัวไหมเป็นครั้งกรก
ได้เรียนรู้การทอผ้าไหม ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์และสวยงาม
หวังว่าสักวันจะนั่งเฝ้าดักแด้กลายเป็นผีเสื้อ"

"ได้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
หลักการใช้ชีวิตที่นำไปต่อยอดในชีวิตประจำวันของเรา
ขอบคุณผู้ใหญ่บ้านและชาวอ่างเตยทุกคน"

"ตอนแรกคิดว่าเหมือนกับที่อื่น แค่ปลูกผักสวนครัวหรือเลี้ยงสัตว์
แต่เมื่อได้สัมผัสก็เข้าใจว่าอยู่อย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจริง ๆ
ขอบคุณที่ทำให้เราได้เห็นสิ่งดีดีจากสิ่งเก่า ๆ ในรูปแบบใหม่"

...นี้เสียงกระซิบที่ดังก้อง จากความคิดของลูกศิษย์
ผู้ร่วมเดินทางไปกับผม พร้อมทั้งเก็บความทรงจำและข้อคิดดีๆ มาฝากทุกคน..

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 กันยายน 2552 15:01 น.
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000106878

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น