++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2547

ถุงใส่น้ำไล่แมลงวัน

แมลงวัน พาหะนำโรคตัวฉกาจ แขกผู้ไม่มีใครอยากเชื้อเชิญ
ซึ่งมักมาเยือนในทุกที่ที่มีอาหาร เลือด และกลิ่นคาวปลา
ตามร้านอาหารและตลาดสดจึงเป็นแหล่งที่แมลงวันมารวมตัวกัน
รุมตอมและกินเศษเลือดอย่างชุกชุม แม้แต่ในบ้านเรือน ก็มีแมลงวันให้เห็นอยู่เป็นประจำ
หลากหลายวิธีที่เรางัดออกมาใช้ จัดการกับแมลงวัน ไม่ว่าจะเป็นการโบกมือไล่ การฉีดยาฆ่าแมลง
การใช้ที่ตีแมลงวันตี การใช้ถุงพลาสติกดักจับ และการใช้กาวลักษณะคล้ายก้านธูปดัก
ก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

แต่ในระยะหลังๆ นี้ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า
ตามแผงขายของสดเนื้อสัตว์ในตลาดและตามร้านอาหาร จะมีถุงพลาสติกใสบรรจุน้ำจนเต็ม
มัดให้ตึง ผูกเชือกแขวนไว้สูงเหนืออาหารหรือวางไว้บนโต๊ะอาหาร
สอบถามพ่อค้าแม่ค้าก็ได้ความว่าเขาห้อยถุงพลาสติกเหล่านี้ไว้
เพื่อไล่แมลงวันพร้อมทั้งยืนยันว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดี
ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมถุงพลาสติกธรรมดาๆ จึงช่วยขับไล่แมลงวันได้

ร.ศ.ดร.เนาวรัตน์ ศุขะพันธุ์ อาจารย์และนักวิจัย ของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ผู้ริเริ่มถุงน้ำไล่แมลงวันที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะนี้

โดยเริ่มจากงานทดลองที่ทำให้อาจารย์เห็นว่า
แมลงวันเป็นพาหะและสื่อนำโรคร้ายมาสู่มนุษย์และสัตว์ พร้อมทั้งก่อความรำคาญ
ทำให้สูญเสียสุขภาพอนามัยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะทางด้านปศุสัตว์
ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป ต้องสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์
สาเหตุจากการที่สัตว์เศรษฐกิจถูกแมลงวันดูดกินเลือด และทำให้เกิดโรคล้มตายมากมาย
โรคร้ายแรงต่างๆ ที่แมลงวันนำมาสู่คนและสัตว์นั้น ได้แก่ โรคอหิวาตกโรค โปลิโอ คุดทะราด
แอนแทรกซ์ การติดเชื้อโปรโตซัวชนิดต่างๆ โรคพยาธิแส้ม้า โรคเซอร์ร่า โรคลาวเอียซีส ฯลฯ
รวมทั้งการติดเชื้อโดยทางบาดแผล เป็นต้น อาจารย์จึงได้ทำการศึกษาแมลงวันในเชิงการดำรงชีวิต
และความเป็นอยู่ในแหล่งที่มีแมลงวันเพาะขยายพันธุ์ ทั้งด้านกายวิภาคและสรีรวิทยาของแมลงวัน
มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เพื่อค้นหาวิธีควบคุมและปราบแมลงวันที่ให้ผลดีที่สุด
แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อย และไม่มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของธรรมชาติ

หลักการใช้ถุงน้ำพลาสติกใสใส่น้ำมัดให้ตึง ผูกห้อยแขวนไว้ไล่แมลงวันนี้
ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์
และการใช้ประสาทรับภาพในการมองเห็นของตาแมลงวันมาผสมผสานกัน ตาของแมลงวันมีอยู่ 2
ชนิด คือ ตารวม 2 ตา และตาเดี่ยวอีก 3 ตา
ตาเดี่ยวจะอยู่เหนือตารวมตรงหัวส่วนบนระหว่างตารวม 2 ตา
เรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวลง ตาเดี่ยวสามตานี้
จะช่วยให้แมลงวันสามารถมองเห็นในระยะที่ไกล ส่วนตารวม 2 ตาที่นูนออก 2 ข้าง
ใหญ่กว่าหัวและลำตัวของแมลงวัน เป็นตารวมพิเศษ ซึ่งแต่ละข้างของตารวมประกอบด้วยตาเล็กๆ
รูปหกเหลี่ยมหลายหมื่นแสนตาเรียงต่อเนื่องกันเต็มลูกตาทั้ง 2 ข้าง และตาเล็กๆ
รูปหกเหลี่ยมของตารวมนี้ สามารถที่จะรับแสงสว่างได้ทุกมุมมอง
ผ่านเสนส์และผลึกรูปกรวยรองรับแสง ซึ่งสามารถที่จะยืด
และหดได้เพื่อปรับจอรับภาพที่มองเห็นทั้งในที่มืดและสว่าง
ตารวมทำให้แมลงวันสามารถมองเห็นภาพได้กว้างกว่า 180 องศา

จากจุดนี้เอง หากเรานำถุงพลาสติกใสใส่น้ำเปล่า ไปไว้ในบริเวณแสงแดด
หรือแสงไฟที่มีลำแสงกระทบ
ถุงพลาสติกที่บรรจุน้ำก็จะเสมือนหนึ่งลำแสงหักมุมสะท้อนออกเข้าตาแมลงวัน
เลนส์รับภาพของตาแมลงวันเมื่อได้รับแสงก็จะสะท้อนแสง
กลับมาที่ถุงน้ำพลาสติกนั้นเกิดเป็นแสงมุมตก
มุมสะท้อนกับเลนส์รับภาพของตาแมลงวันสะท้อนกลับไปกลับมา
ทำให้การปรับจุดรวมแสงที่จะส่งให้เกิดภาพบนจอรับภาพ (retina) ไม่ชัดเจน
จะทำให้เกิดตาพร่ามัวแมลงวันจึงบินเข้าหาอาหารไม่ถูก ในระยะห่างประมาณ 100
เซนติเมตรขึ้นไป แม้ว่ามันจะได้กลิ่นอาหารก็ตาม

ถุงน้ำไล่แมลงวันนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้าใช้ถุงร้อนซึ่งเป็นพลาสติกใส
น้ำที่บรรจุในถุงควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดหรือน้ำฝน น้ำยิ่งใสจะยิ่งสะท้อนแสงได้ดี
และต้องมัดถุงน้ำให้ตึงแน่น และแขวนถุงนั้นให้รับมุมแสงรอบทิศทางกับดวงไฟหรือดวงอาทิตย์
ถ้ามีการแก่วงถุงพลาสติกหมุนเป็นลำแสงเบนไปมา
แถบแสงที่เบนไปมาจะกระทบเลนส์ถูกลูกตาของแมลงวันมากยิ่งขึ้น ทำให้ตาพร่ามัว
เข้าตอมอาหารไม่ถูกจึงบินหนีไปให้พ้นรัศมีลำแสงสะท้อน
ถุงน้ำไล่แมลงวันนี้ยังใช้ได้ผลดีในการไล่แมลงชนิดอื่นๆ ที่มีตารวม เช่น ผึ้ง
และแมลงวันทองที่กัดกินผลไม้ซึ่งทำให้ผลไม้เน่าเสียหาย ฯลฯ อีกด้วย

ปัจจุบันถุงน้ำไล่แมลงวันเป็นวิธีที่นิยมใช้ทั่วไป ตามตลาดสดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ทั้งยังแพร่ไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เพราะเป็นวิธีที่ใช้ง่าย สะดวกปลอดภัย
และขณะนี้อาจารย์เนาวรัตน์ กำลังทดสอบหาอุปกรณ์ภาชนะที่จะนำมาใช้บรรจุน้ำแทนถุงพลาสติก
เพื่อให้มั่นคงถาวรและสวยงาม สามารถไล่แมลงวันภายในบ้าน
และเป็นเครื่องประดับบ้านในเวลาเดียวกันได้
[ที่มา..หนังสือ UPDATE ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 สิงหาคม 2537]

โดยคุณ : ตรรกะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น