++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ช-ช้าง อึ๊บอั๊บฤดูร้อน

            ชลอ ช่วยบำรุง

            ช้างในหนังสือวรรณคดี ไม่มีตัวไหนใหญ่และพิลึกกึกกือเท่าช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ลองมาพิจารณางานของท่านมหากวีเอก สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) จากเรื่องลักษณวงศ์ตอน วิรุณมาศต้องศรตาย ซึ่งมีคำกลอนดังนี้

                        แล้วมนตรีมีฤทธิ์นิมิตพลัน
                เป็นเอราวัณอันเลขา
                ทั้งสามเศียรสามหางสำอางตา
                อลังการ์เครื่องประดับมณีดี
                        เหมือนช้างทรงองค์ท้าวสหัสเนตร
                งามวิเศษใหญ่ยิ่งกีรีศรี
                ในลำงาคชสารประมาณมี
                สระโบกขรณีในงางอน
                        ในสระศรีมีบัวขึ้นเจ็ดดอก
                ดอกหนึ่งออกเจ็ดกลีบทรงเกสร
                กลีบหนึ่งมีนางฟ้าพงางอน
                ร่ายรำฟ้อนอยู่ในกลีบทั้งเจ็ดองค์
   
            ลองพิจารณาบทพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทละครตอนอินทรชิตแปลง
   
                        อินทรชิตบิดเบือนกายิน
                เหมือนองค์อมรินทร์
                ทรงคชเอราวัณ
                        ช้างนิรมิตฤทธิแรงแข็งขัน
                เผือกผ่องผิวพรรณ
                สีสังข์สะอาดโอฬาร์
                        สามสิบสามเศียรโสภา
                เศียรหนึ่งเจ็ดงา
                ดังเพชรรัตน์รูจี
                        งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี
                สระหนึ่งย่อมมี
                เจ็ดกออุบลบันดาล
                        กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์
                ดอกหนึ่งเบ่งบาน
                มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
                        กลีบหนึ่งมีเทพธิดา
                เจ็ดองค์โสภา
                แน่งน้อยลำเพานงพาล
                        นางหนึ่งย่อมมีบริวาร
                อีกเจ็ดเยาวมาลย์
                ล้วนรูปนิรมิตมายา
                        จับระบำรำร่ายส่ายหา
                ชำเลืองหางตา
                ทำทีดังเทพอัปสร
                        มีวิมานแก้วงามบวร
                ทุกเกศกุญชร
                ดังเวไชยันต์อมรินทร์

                    ช้างเอราวัณที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนิพนธ์ จะแตกต่างไปจากท่านสุนทรภู่บ้างในรายละเอียด แต่เนื้อหาไม่แตกต่างกันเลย ทั้งราชกวี และกวี ต่างเอาแบบอย่างมาจากไหน จากเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ใช่หรือไม่ ลองพิจารณากันดู

                        ให้การุณราชกุมภัณฑ์
                เป็นเอราวัณตัวกล้า
                สามสิบสามเศียรอลงการ์
                เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน
                        งาหนึ่งเจ็ดสระโกสุม
                เศียรหนึ่งมีประทุมเกสร
                เจ็ดกอชูก้านอรชร
                กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา
                        ดวงหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช
                กลิ่นรสซาบซ่านนาสา
                กลีบหนึ่งมีเทพธิดา
                เจ็ดนางกัลยายุพาพาล
                        แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร
                รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน
                นางหนึ่งล้วนมีบริวาร
                เจ็ดองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ
                        เผือกผ่องพึงพิศอำไพ
                เหมือนช้างเจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์
                มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์
                พรายพรรณล้วนแก้วมณี

            จากสามเศียร  เป็นสามสิบเศียร และสามสิบสามเศียร ตามลำดับ นี่เป็นเรื่องของช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างของพระอินทร์เหมือนกัน ที่กล่าวมาแต่ต้นว่า รัชกาลที่ ๒ และท่านสุนทรภู่ คัดลอกมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑ คาดว่าคงจะไม่ถูกต้อง  เพราะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเรื่องช้างเอราวัณมาก่อนเรื่องลักษณวงศ์ และรามเกียรติ์
           
            ช้างเอราวัณ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นช้างปลอมแปลงทั้งสิ้น (รามเกียรติ์ อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ จำเป็นต้องให้พหลพลโยธาแปลงเป็นอราวัณด้วย) หวนมาดูช้างเอราวัณตัวจริงกันบ้างดังนี้
            "อันว่า ในเมืองฟ้าโพ้นบ่มีสัตว์เดรัจฉาน ตัวน้อยก็ดีตัวใหญ่ก็ดีหาบ่มิได้ เทียรย่อมเทพยดาสิ้นไส้ แลว่ายังมีเทพยดาองค์หนึ่งชื่อ ไอยราพัณเทวบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีทีเสด็จไปเหล้นแห่งใดๆก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเหล้นจิงไอยราพัณเทพบุตร ก็นฤมิตตัวเป็นช้างเผือกตัวหนึ่งใหญ่นัก โดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัว หัวน้อยๆอยู่ ๒ หัว อยู่ ๒ ข้างนอกหัวทั้งหลายนั้น แลว่า หัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวนั้นถัดเข้าไปทั้งสองข้างแล หัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปกว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา แร่งเข้าไปก็แร่งใหญ่ถัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวใหญ่อันที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลาย ชื่อสุทัศน์ เป็นพระที่นั่งพระอินทร์ โดยกว้างได้ ๒๔๐,๐๐๐ วา (ฉบับพระมหาจันทร์ว่า ๒,๒๐๐,๐๐๐) เหนือหัวนั้นแล มีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา และมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีธง (ทั้งหลายแลธง) แก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ธงฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนา ดั่งเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์  แลมีแท่นนอนอยู่ในนั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสนาหมอนใหญ่ หมอนน้อยหมอนอิงค์ องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา และประดับด้วยแก้วถนิมอาภรณ์ทั้งหลาย แล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้นหัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ ธ ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวแลมีงา ๗ อัน แลงาอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานั้นมีสระได้ ๗ สระ สระแลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอ กอบัวแลกอนั้นมีดอกแล ๗ ดอก ดอกแลอันนั้นมีกลีบ ๗ อัน กลีบแลอันแลอันนั้นมีนางฟ้ายืนรำระบำบัพพะแล ๗ คน นางแลคนแลคนนั้นมีสาวใช้ได้ ๗ คน โสดช้าง ๓๓ หัวนั้น ๒๓๑ งา และสระนั้นได้ ๑,๖๑๗ สระ แลกอบัวนั้นได้ ๑๑,๓๑๙ กอ แลดอกบัวนั้นได้ ๗๙,๒๓๓ ดอก แลกลีบดอกบัวนั้นไส้ได้ ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ แลนางฟ้ารำระบำนั้นได้ ๓,๘๘๒,๔๑๗ นาง แลสาวใช้นางระบำนั้นได้ ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ คน แลมีอยู่ในงาช้างไอยราพัณ แลมีสถานที่แห่งหนึ่งโดยกว้างได้ ๕๐ โยชน์ เป็นที่อยู่แห่งนางระบำและบริวารของนางทั้งหลายนั้นด้วย"

            ทั้งหมดนั้นเป็นลักษณะของช้างไอยราพัณ หรือ เอราวัณ ซึ่งเราๆต่างทราบดีว่าเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ใหญ้โตมโหฬารขนาดไหน ความทั้งหมดนั้นอยู่ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง หรือ ไตรภูมิกถา ที่พญาลิไททรงนิพนธ์ขึ้นในสมัยสุโขทัย
            เพราะหนังสือเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในสมัยสุโขทัยนั้นเอง จึงเป็นแบบฉบับและมีอิทธิพลต่อราชกวีและกวีรุ่นหลัง เอาแบบอย่าง เช่นในเรื่องรามเกียรติ์ และลักษณวงศ์ ดังกล่าวมาแล้ว
          
            จะขอเว้นการกล่าวถึงธง (รูป) ช้าง ที่ไปแพร่สะพัดสะบัดโบกทั่วโลก และช้างออกศึกในสมัยพระนเรศวรมหาราช  ทั้งนี้เนื่องด้วย ต่วยตูน เคยลงเรื่องดังกล่าวมาแล้ว

            ช-ช้าง ตัวนี้โบราณท่านยังอ่าน ช-ตราชูอีกชื่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีชื่อ ช-ชะนี และ ช-ชื่อ ซึ่งจะได้กล่าวถึงตามลำดับต่อไป ลองพิจารณาความหมาย ตราชู เรียงตามลำดับ พ.ศ. ดังต่อไปนี้

            ตาชู - เปนชื่อสำหรับชั่งของให้เท่ากันนั้น, อนึ่ง ชื่อคนอย่างนี้ก็มีบ้าง (พ.ศ.๒๔๑๖)
            ตราชู- น. เครื่องชั่งมีที่ชั่งสองข้าง (พ.ศ.๒๔๙๓)
                    น. เครื่องชั่งมีถาดชั่งห้อยอยู่ ๒ ข้าง, คันชั่งมีตุ้มน้ำหนักบอกของที่ชั่ง (พ.ศ.๒๕๐๐)

            ผ่านกระทรวงยุติธรรมหรือตามศาลจังหวัดต่างๆ เห็นเครื่องหมายเหมือนตราชู หรือ ตราชั่ง ตราอย่างนี้เรียกเป็นทางการว่า พระดุลพ่าห์  คำ ตราชู จะมาจากภาษามาเลเซีย หรือ เปอร์เซีย ปราชญ์ทางด้านภาษาศาสตร์ ยังถกเถียงกันอยู่ คนบ้านนอกอย่างคนเขียนไม่ชอบเรียกตราชู หากจะเรียกตราชั่ง พอกล่าวถึงคำนี้ทำให้นึกถึงตราเต็ง เมื่อตอนเป็นเด็กๆ ผู้บังเกิดเกล้าพาเข้าไปในเมือง เห็นตราพระดุลพ่าห์ที่ศาลจังหวัด ถามท่านว่า นั่นเครื่องหมายอะไร ผู้บังเกิดเกล้าตอบว่า "ตราชั่งตราเต็ง" จึงเรียกอย่างนี้เรื่อยมา ต่อเมื่อโตแล้วจึงทราบว่า "ตราพระดุลพ่าห์" หาใช่ตราชั่งตราเต็งไม่ ถึงกระนั้นก็ดี เวลาพูดกับเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก ยังคงเรียก "ตราชั่งตราเต็ง" อยู่นั่นเอง

                ขอให้พิจารณาความหมายของคำ ตราชู ตามที่กล่าวมาแล้ว ดูรวมๆ คล้ายกับมีความหมายเรื่องความยุติธรรมซ่อนอยู่ ตราดุลพ่าห์ได้รับความรู้จาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งสองพระองค์ทรงประทานความรู้เหล่านี้ไว้ ใน "สาส์นสมเด็จ" (ความจริงน่าจะเป็น "สาสน์สมเด็จ" ผิดกันตรงการันต์) ดังลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๒ คือ
                "เดี๋ยวนี้กระทรวงยุติธรรมถือตราอะไรอยู่ สืบดูก้ได้ความว่า ถือตราพระดุลพ่าห์ จึงทำให้นึกขึ้นได้ว่า ชื่อนี้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ทรงตั้งขึ้น คงจะแกะตราใหม่พระราชทานไปแทนจันทรมณฑล คงเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๖ ยุคที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องในกระทรวงยุติธรรมนั้น"

                ต่อมา เมื่อ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๒ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตอบลายพระหัตถ์และกล่าวถึงตราดุลพ่าห์ ดังนี้
                "ตราดุลพ่าห์นั้นประหลาดอยู่ ที่หม่อมฉันไม่เคยได้ยินทีเดียว เห็นจะเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อหม่อมฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่มีเรื่องเป็นเค้าพอจะเดาเข้ากับตราดวงนั้นได้ คือ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงตั้งพระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาอภัยราชาไม่ชำนาญธรรมศาสตร์ จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เป็นตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกา มียศเสมอเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แยกหน้าที่ในกระทรวงให้เสนาบดีบัญชาการฝ่ายธุรการ และให้อธิบดีศาลฎีกา บัญชาการฝ่ายตุลาการ หม่อนฉันเห็นว่า คงเป็นเมื่อมีผู้บัญชาการ ๒ คนในกระทรวงเดียวกันเช่นนั้น จึงโปรดให้สร้างตราดุลพ่าห์ขึ้น สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ครั้นเมื่อเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาสูงพิเศษในศาลฎีกา จึงโปรดให้เอาตราดุลพ่าห์ ไปใช้ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และจึงส่งตราจันทรมณฑล คืนเข้าไว้ในกรมอาลักษณ์ หม่อมฉันสันนิษฐานว่า กรณีน่าจะเป็นอย่างที่ทูลมานี้"

            ช-ชื่อ หลักฐานทางด้านไทยยังไม่พบ แต่ไปพบอยู่ที่อเมริกา ในพจนานุกรมไทย-อังกฤษ ซึ่ง อำมายต์เอก พระอาจวิทยาคม แต่งขึ้น เรียก ช-ช้าง, ว่า ช-ชื่อ อย่าลืมนะ ชื่อ มิได้มีความหมายเพียงคำที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกคนสัตว์ สถานที่ สิ่งของ โดยทั่วๆไป หรือโดยเฉพาะเท่านั้น  ยังแปลว่า แม้ หรือ ถ้าอีกด้วย  ดังในลิลิตโองการแช่งน้ำ มีข้อความดังนี้

            ...เยียจะเจียวจะเจียว เขี้ยวสรคาน อานมลิ้น เยียละลายละลาย ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ชื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย  วายกระทู้ฟาดฟัด ความแควนมัดศอก หอกดิ้นเต้าเท้าถก.....
                       

ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น