++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

กินหมากกินพลู (๒) - ชีวิตเด็กบ้านสวนบางลำเจียก

แก้ว แกมทอง


            ครกตำหมากนี่ มีทั้งครกหิน ครกทองเหลือง ครกที่กลึงด้วยไม้ มีขนาดเล็กน่ารัก แต่ไม่เหมาะที่จะเอาไปไหนๆด้วย  เพราะถึงอย่างไรก็หนักกว่าตะบันหมากอยู่ดี พวกคนแก่ถึงต้องมีตะบันหมากไว้อีกอันหนึ่ง สำหรับเวลาออกนอกบ้านไปไหนๆจะได้เอาใส่ตะกร้าไปได้สะดวก ตะบันนี่ก็ทำด้วยทองเหลือง ยาวสักหนึ่งคืบ เป็นรูปกลมๆ เหมือนกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดหัวท้ายกลวงแล้ว มีชิ้นไม้สั้นสักนิ้วครึ่งใส่ไว้ข้างในพอหลวมๆ ชิ้นไม้นี่บางคนเรียกว่า "เดือย" บางคนก็เรียก "ดาก" ก็ตามแต่จะถนัดกัน ส่วนที่ตำมีรูปร่างเหมือนไขควง ตรงที่จับเป็นรูปกลมรีๆ พอจับถนัดมือ เวลาตำก็เอาหมากพลูที่จีบแล้วใส่ลงไปในรูตะบัน เอาที่ตำตำลงไป คนแก่บางคนไม่ชอบให้หมากแหลกละเอียด ก็ตำพอให้หมากขาดๆ เป็นชิ้นอยู่ แล้วก็เอาที่ตำมาใส่ตรงก้นตะบันโขกโบ๊กๆกับพื้น ชิ้นไม้ข้างในก็จะเลื่อนขึ้น ดันให้หมากขึ้นมาตรงปากตะบัน เป็นรูปร่างเหมือนไอติมเลย คนแก่ก็จะเอาเหงือกงับก้อนหมากนั้นมาอม เป็นอันเสร็จพิธีกรรม

            ที่น่าสังเกตของเชี่ยนหมากทุกเชี่ยน และไม่ใช่สังเกตเปล่าๆ แต่เป็นสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนชอบเล่นก็คือ ในเชี่ยนหมากพวกนี้จะมีตลับเล็กๆ เท่าหัวแม่มือน่ารักมาก สำหรับใส่ขี้ผึ้งสีปาก ตลับขี้ผึ้งสีปากนี้เขามีไม่เหมือนกัน  บางคนใช้ตลับงา บางคนใช้ตลับเงิน บางคนก็ทำด้วยเปลือกหอย คือ เอาเปลือกหอยสองซีกมาประกบกันแล้วเลี่ยมด้วยทองหรือนาก แล้วในตลับเหล่านี้ คือ บางตลับน่ะ ไม่ใช่ทุกตลับ จะมีตะกรุดเงินเล็กๆ ฝังอยู่ในขึ้ผึ้งสีปากด้วย บางตลับก็ใช้ไม้แกะเป็นรูปนางกวัก เล็กกระจิ๋วเท่าปลายก้อย ฝังไว้ในขี้ผึ้ง ไม่รู้เขามีไว้ทำไม จะว่าเขาทำเสน่ห์เล่ห์กล ผู้เขียนก็ว่า ไม่เห็นน่าต้องทำ เพราะพวกคนแก่กินหมากเหล่านี้ก็เล่าเหลากันแล้วทั้งนั้น ไม่รู้จะทำเสน่ห์ไปทำไมอีก อาจจะเป็นให้ขายของดีมากกว่า เพราะแทบทุกคนก็ล้วนเป็นแม่ค้า ต้องเอาของสวนไปขายท่าเตียนกันทั้งนั้น

            พูดถึงกินหมากเรื่องมันไม่จบง่ายๆหรอก เพราะก่อนนี้แทบทุกคนทั่วประเทศ ล้วนแต่กินหมากไม่ขาดปาก เรื่องหมาพลูจึงเป็นเรื่องใหญ่ ขนาดน้องๆรองจากข้าวทีเดียว สังเกตจากคำว่า "ข้าวยาก หมากแพง" ยังไง แทนที่จะว่าข้าวยาก  ปลาแพง .... ให้เข้ากับหมวดข้าวปลา อาหาร กลับยกคำว่า หมากมาไว้ก่อน แสดงว่า คนแต่ก่อนชอบกินหมากมากกว่ากินปลา ดังนั้น เมื่อพูดถึงหมากไปแล้ว จึงต้องพูดถึงเรื่องพลูด้วย

            พลูที่กินกับหมากนี่เขามี ๒ ชนิดนะ ชนิดหนึ่งเขาเรียก พลูจีน ใบบางๆ ออกสีเขียวอมเหลือง เป้นพลูที่ปลูกขายกันทั่วไป ที่น่าประหลาดก็คือ ส่วนมากจะเป็นคนจีนที่ทำสวนพลู เก็บพลูขายจนมีตลาดขายส่งที่เรียกว่า ตลาดพลู นั่นไง นอกจากจะทำสวนพลูขายส่งจนร่ำรวยแล้ว แป๊ะแก่บางคนยังไปรับซื้อพลูมาใส่เรือพายขายไปตามแม่น้ำลำคลองอีกด้วย ใส่หมวกกุยเล้ย จุกยาฉุนเต็มปาก ร้องตะโกนขายลั่นแม่น้ำลำคลองว่า พลูโว้ย.. เป็นทีว่า จะซื้อไม่ซื้อตามใจ แต่พี่ไทยน่ะแหงอยู่แล้ว นั่งอมหมากกันทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวคำ เดี๋ยวคำ ปากว่างไม่ได้ซีน่า นั่งหาวนั่งเรอบ่นแต่เปรี้ยวปากจริงโว้ย พอได้หมากเข้าไปสักคำเดียวตาสว่าง เพราะงั้นจะร้องพลูโว้ย พลูวะยังไงก็ต้องซื้อกันวันยังค่ำ

            พลูอีกชนิดหนึ่ง ชื่อ พลูทองหลาง ใบหนาสีเขียวเข้ม รสเผ็ดจัดกว่าพลูจีนมาก ซึ่งพลูนี้ชาวสวนแถวบ้านผู้เขียนชอบกิน เขาไม่ชอบกินพลูจีนกัน จึงต่างคนต่างปลูกพลูทองหลางไว้กินเอง โดยปลูกไว้ตามโคนต้นทองหลางน่ะแหละ บางคนก็ทำค้างด้วยไม้ทองหลางแล้วปลูกไว้มากหน่อย ไว้แบ่งขายให้พวกเดียวกันได้กิน แต่พลูทองหลางนี้เวลามีงานมีการ เขาไม่เอามาจีบออกงานหรอก เพราะมันจีบได้ไม่สวย  ใบมันกรอบแตกง่าย ต้องเอาพลูจีนมาจีบ เวลามีงานพิธีใหญ่ พลูจีบนี่เขาต้องจีบให้มวนยาวเฟื้อยเลยนะ ประมาณด้ามปากกาเขียนหนังสือแน่ะ มีการต่อหางพลูให้สวยด้วย

            ไม่ว่าพลูจีน พลูทองหลาง เมื่อมีมากๆเหลือกิน  เขาก็จะทำพลูแห้งไว้กินเวลาขาดเหลือ คือ เหมือนหมากแหละ พอมีมากก็ทำแห้งไว้ แต่พลูนี่เขาไม่ใช้ตากแดดเหมือนหมาก เขาจะใช้นาบ เรียกว่า "พลูนาบ" คือ เอาตะแกรงลวดขึ้นมาวางเหนือกองถ่านแดงอ่อนๆ วางให้สูงหน่อย เขาทำร้านไว้วางแล้วเอาพลูวางลงไปบนตะแกรง เอาลูกประคบที่ทำด้วยผ้ามัดไว้กลมสักเท่ากำมือ กดลงไปในใบพลู แล้วคอยกลับใบพลูเร็วๆ กลับบ้าง  เอาลูกประคบกดเลื่อนใบพลูไปมาอย่าให้อยู่นิ่งบ้าง ในลักษณะนี้ ใบพลูจะค่อยๆตายนึ่ง แล้วแห้งน้ำแบบไม่กรอบ คือ แห้งแบบมีชีวิตชีวา ยังรักษารสเผ็ดและสีสันของพลูไว้เกือบเท่าเดิม

            พลูนาบนี้ ใครมีเวลาทำไว้มากๆ ยังเอาไปขายได้ราคาอีกด้วย เพราะบางคนก็ชอบกินะพลูนาบยิ่งกว่าพลูสดเสียอีกเหมือนหมากน่นแหละ คนแก่บางคนก็ชอบกินหมากแห้งยิ่งกว่าหมากสด

            เมื่อหมดเรื่องหมากพลู ทีนี้ก็ถึงเรื่องปูน ปูนกินกับหมากนี่ ไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก เขาก็ซื้อมาจากตลาดที่มีห่อใบตองไว้ขาย พอซื้อมาแล้วแก้ห่อออก จะเห็นปูนตั้งไว้กลางใบตอง เป็นรูปห่อเลย แบบขนมใส่ไว้ยังงั้น เป็นปูนสีแดงซีดๆ เราก็มาเอาสีเสียดขูดใส่ลงไปหน่อย สีเสียดนี่เป็นก้อนดำๆ เท่าหัวแม่มือ มีประจำอยู่ทุกเชี่ยนหมาก พอขูดสีเสียดให้เป็นผงละเอียด ใส่ลงไปในปูน เอาไม้ควักปูนคนไปคนมา เคล้าสีเสียดกับปูนให้เข้ากัน สีปูนที่แดงอยู่ซีดๆ ก็กลับกลายเป็นมีชีวิตชีวา แดงจัดสีสวยขึ้นมาทันใด เขาก็เอาไม้ควักปูน ควักใส่เต้าไปแค่นั้นเอง

        (อ่านต่อตอนที่ ๓ ตอนจบ)

ที่มา  ต่วยตูน เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๗

2 ความคิดเห็น:

  1. คุณแก้ว แถมทอง
    ผมได้อ่านพบเรื่องหมากพลูทีคุณเล่าบนเน็ต รู้สึกประทับใจมาก ไม่นึกว่าคนสมัยนี้ยังสนใจรู้จักหมากพลู ซึ่งตรงกับผมเคยทำสวนหมากและพลูที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อหกสิบปีก่อน ขณะนี้ผมอายุ ๖๘ ปีแล้ว กำลังประพันธ์บทกลอน "สวนบางปะกงในอดีต" แต่งเสร็จอยากได้ภาพประกอบ แต่หาไม่ได้ ไม่ทราบว่าคุณแก้วพอจะหารูปภาพเกี่ยวกับ สวนหมาก สวนพลู การเฉาะหมาก การนาบพลู ถ้าพอจะช่วยให้คำแนะนำด้วยจะขอบคุณยิ่ง
    ด้วยความนับถือ ผมชื่อ นายประสงค์ เตติวงศ์ หรือ
    Prasong-D@hotmail.com

    ตอบลบ