++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

สร้างสุขภาพองค์รวม เชื่อมโยงชีวิตคนกุดรัง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลกุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม

เรียบเรียงโดย กฤนกวรรณ สุวรรณกาญจน์

            "กรรมการทุกคน จะได้ไปอบรมพัฒนาความรู้ ได้ไปบ่อยกลับมา มีความรู้และดูแลตนเองได้ วัดความดัน เจาะเลือด ชั่งน้ำหนัก ทำได้ทั้งหมดเลย แต่เรื่องของกองทุนบางครั้งไม่ค่อยเข้าใจ แรกๆก็ยังงงๆ อยู่บ้าง ก้ได้นายกนี่แหละ ท่านจะแนะนำและให้ความรู้ทุกครั้งที่เข้าประชุมท่านจะอธิบายตลอด " เจ้าหน้าที่ อสม.แห่งบ้านกุดรังคนหนึ่งกล่าวอย่างนั้น

            อีสาน วันนี้ไม่แห้งแล้งเหมือนเพลงเขาว่า...
            ต.กุดรัง เป็นชื่อของหนองน้ำที่มีต้นรังขึ้นอย่างหนาแน่น ถึงแม้ว่า ต.กุดรังจะเป็นตำบลขนาดเล็กที่พึ่งเปลี่ยนจากกิ่งอำเภอมาเป็นอำเภอได้ไม่นานนัก ระบบสาธารณูปโภคโดยทั่วไปไม่อาจเทียบเท่าตำบลที่อยู่ในเขตอื่นๆ แต่ตำบลแห่งนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "ทุนทางสังคม" สูงพอสมควร

            มีทั้งทุนมนุษย์ ซึ่งชาวบ้านยึดถือเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้"
            มีทุนทางปัญญา ทั้งศูนย์การเรียนรู้และปราชญ์ชาวบ้าน อันเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวความเชื่อและศรัทธา
            มีทุนพื้นที่ อบต.กุดรังมีสถานีอนามัยที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลากรสาธารณะที่มีคุณค่า

            ทุนเหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบสุขภาพองค์รวมชุมชนตำบลกุดรัง ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน "ความสุขของชุมชน หรือความผาสุกของประชาชน"
            โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ อบต.กุดรัง เกิดจากแนวคิดของ นายกประวัติ กองเมืองปัก ที่ปรารถนาจะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงกับสภาพชีวิตของคนกุดรังซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำไร่ทำนา ทอผ้าไหม เน้นการทำงานเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างการมีส่วนร่วมในการคิดกิจกรรมโครงการ ใช้ระบบตัวแทนมาร่วมประชุม เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดตั้งกองทุน สุดท้าย คือ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารชุมชน

            ทั้งนี้ กิจกรรมหลัก คือ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกรอบแนวคิดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เสริมสร้างความเข้มแข็ง เน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มจัดระบบสุขภาพตนเอง
            อบต.กุดรัง เปิดกลยุทธการมีส่วนร่วม ด้วยการเริ่มต้นวางข้อเสนอแผนงานโครงการต่างๆ จากคณะกรรมการทุกกลุ่ม ซึ่งกรรมการแต่ละกลุ่มนำแผนงานมาจากความคิดเห็นของคนในกลุ่มของตนเองและเมื่อนำมาเสนอในที่ประชุมของงคณะกรรมการกองทุนฯ กรรมการจะร่วมกันพิจารณาและอนุมัติว่าโครงการใดบ้างที่มีความจำเป็นและสำคัญเพื่อดำเนินการก่อน

            " การทำงาน (ของ อสม.) ในปัจจุบันทำได้ดีขึ้นมาก เป็นไปตามเป้าและข้อมูลที่ได้มา มีความเที่ยงตรงมากขึ้น อย่างแต่ก่อน การตรวจและคัดกรองเบาหวานทำไม่ได้ร้อบเปอร์เซ็นต์ แต่พอประชาชนทำกันเอง จะเห็นว่า ทำได้ครอบคลุมมาก เมื่อก่อนเขาใส่ใจในสิ่งที่เราจัดให้น้อยมาก บอกแล้วนัดแล้วก็ไม่มา แต่พอ อสมเป็นผู้ออกตรวจ ออกติดตาม พบว่า ทำได้ครอบคลุมขึ้นมาก บางครั้งแม้กำลังทำงานเขาก็จะสละเวลามาทำมาตรวจมาให้ข้อมูล  ผลงานดีขึ้นเป็นไปตามเป้า คิดว่า เมื่อทำตามแนวทางที่ท่านนายกเสนอแนะได้ผลจริง ผลงานเราก็เข้าเป้า" เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนกล่าวอย่างภูมิใจ

            "ดีแล้วที่ อสม.มาวัดความดัน มาชั่งน้ำหนัก มาเจาะเลือดให้ เขาไปทำให้ถึงบ้านและที่สำคัญเขาไปอบรมมาแล้วทั้งนั้น เวลาเขามาหา เราเห็นถึงความตั้งใจที่อยากเห็นเราหายป่วยจริงๆ แต่ก่อนหมอทำให้แต่หมอมาไม่ไหวหรอก อสม.ทำดีแล้ว ทำดีกว่าหมอด้วยนะ เพราะเขาไม่ต้องรีบ" ผู้ป่วยคนหนึ่งเล่าด้วยน้ำเสียงที่ยินดี

            หลักการหรือแนวคิดที่ อบต.กุดรัง ใช้ในการดำเนินงานกองทุนฯ คือ การวิเคราะห์การกระทำ ที่ผ่านมาว่าเกิดปัญหาอะไร มีปัญหาอย่างไรบนฐานของหลักคิด "ปัญหาทุกปัญหามีความสำคัญ และควรจะใส่ใจทุกปัญหา" แล้วนำมาปรับปรุงเป็นเชิงปฏิบัติในปัจจุบันและคิดในแผนปฏิบัติในอนาคต พบว่า การดำเนินการที่รัฐทำให้ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานใหม่ โดยพัฒนาประชาชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองให้ได้

            ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ภายใต้สโลแกน "หุ้นสาวนสุขภาพ" ของ อบต.กุดรังนั้น ได้รับมาจากแนวความคิดของท่านนายกฯ และคณะกรรมการที่ศึกษาทำความเข้าใจแล้วถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านการประชุม ดึงการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างประชาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างระบบสุขภาวะชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิต เป็นระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง อันเป็นฐานของการพัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงในอนาคต

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
เนาวรัตน์ สุขณะล้ำ
สาคร อินโท่โล่
สุจิมา ดิลการยทรัพย์          
           


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น