++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

๑๐๐ ปีขุนวิจิตรมาตรา

หะริน หงสกุล

            เมื่อเดือนกรกฎาคม มูลนิธิขุนวิจิตรมาตรา ได้จัดให้มีงานครบรอบ ๑๐๐ ปี ของนักปราชญ์, นักประพันธ์, นักการละครและภาพยนตร์ ฯลฯ ผู้ยิ่งใหญ่ ที่กล่าวนามมาแล้วข้างต้น โดยจัดให้มีนิทรรศการ, การบรรยาย และการสัมมนาขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) และก่อนหน้านี้ก็ได้มีการแสดงเพลงอมตะ ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ขึ้นที่หอวชิราวุธานุสรณ์

            งานนิทรรศการ และการสัมมนานี้ เปิดโดยท่านองคมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร และผู้ที่เข้าสัมมนาล้วนแต่คนดังทั้งสิ้น เช่น ท่านวุฒิสมาชิก พิชัย วาศนาส่ง, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และ คุณอารีย์ นักดนตรี เป็นต้น
            ก่อนการสัมมนา คณะกรรมการมูลนิธิขอให้ผมพูดสัก ๒๐-๓๐ นาที เกี่ยวกับความประทับใจ ที่มีต่อท่านอาจารย์ขุนวิจิตรมาตรา ผมเห็นว่าเป็นการพูดคุยอย่างกันเองเพียงไม่กี่นาที จึงไม่ได้เตรียมตัวหาข้อมูลอะไร และไม่ได้จดหัวข้อไว้ด้วยว่าจะพูดอะไรบ้าง นึกอะไรออกที่เกี่ยวกับท่านก็พูดเรื่อยเปื่อยไป หลังจากนั้น เมื่อ พบ. บ.ก.ใหญ่บอกให้ส่ง "ต้นฉบับ" มาให้ "ต่วยตูน" ผมจะไปหาต้นฉบับมาจากไหน เพราะมันไม่มี และไม่ได้เตรียม แต่จะตัด "ไม้กรี" ที่มีต่อกันมานานคงจะไม่ได้ แม้ว่าเราจะแยกทางกันเดินแล้ว คือ บ.ก.ต่วยเลิกกินเหล้า แต่ผมยังถูกลูกหลานบังคับให้กินอยู่ จึงรับปากชุ่ยๆไปว่าจะเขียนให้ใหม่ตามที่นึกได้ว่า เมื่อตอนนั้นปากไม่มีหูรูดของผมพูดอะไรไปบ้าง คงจะไม่ตรงกันเปี๊ยบหรอก เพราะไม่ได้อัดเทปไว้ และไม่ทราบว่ามีใครอุตริอัดไว้หรือเปล่า ก็โมเมเอาว่าได้พูดยังงั้นจริงๆ (ถ้าใช้คำของรัฐมนตรีบางคนที่ชอบให้สัมภาษณ์ก็ว่า ไม่ "ตอแหล" หรอก) แม้จะขาดไปบ้าง หรือฝอยเพิ่มเติมบ้าง ตามวิสัยนักเขียน "ต่วยตูน" คงไม่ว่ากัน ไม่ต้องไปจุดธูปเทียนสาบานใช่ไหมเนี่ย

            ผมเริ่มประทับใจในชื่อ "ส.กาญจนาคพันธ์" เป็นครั้งแรก เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยม ๕ หรือ มัธยม ๖ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เพราะมีครูท่านหนึ่งชื่อ รองอำมาตย์โท ขุนธนกิจ ตอนนั้นท่านไม่ได้สอนหรอก ท่านทำหน้าที่สมุห์บัญชี หรือฝ่ายการเงินของโรงเรียน  แต่ท่านเป็นนักประพันธ์แนวหน้าของเมืองไทยทีเดียว ใช้นามปากกาว่า "อายัณโฆษ" เขียนนวนิยายเรื่องยาว ชื่อ "ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้" ลงในนิตยสารรายเดือน "ไทยเขษม"  นิตยสารฉบับนี้เป็นหนังสือ "มีระดับ" คู่กับ "เสนาศึกษา" เมื่อ ๗๐ ปีมาแล้ว


            ท่านขุนธนกิจกรุณาให้นักเรียนผลัดกันยืมอ่าน แต่ผมไม่ได้อ่านเรื่อง "ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้" ของท่านเรื่องเดียว ดันไปอ่านและชอบนวนิยายเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่อง "วารุณี" เขียนโดย "ส.กาญจนาคพันธ์" เมื่ออ่านแล้วก็ติด จนรอเข้าคิวยืมไม่ได้ ต้องเก็บค่าขนม ซึ่งได้วันละ ๑๐ สตางค์ ไว้คอยซื้อ "ไทยเขษม" รายเดือน เพื่ออ่านเรื่อง "วารุณี" (คงคล้ายๆเด็กสมัยนี้มั้ง ที่เก็บค่าขนมไว้ ซื้อ "ต่วยตูน" รายปักษ์)
            ผมติดเรื่อง "วารุณี" งอมแงมเพราะเป็นนวนิยายป่าดงพงไพร แนวแปลก แฝงประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวิทยาศาสตร์ไว้ด้วย ยังไม่เคยอ่านเรื่องไทยๆทำนองนี้ที่ไหน นอกจากที่เขาแปลมาจากเรื่องของ "เอช.ไรเดอร์ แฮกการ์ด" ผมเข้าใจว่าเรื่องทำนองเดียวกัน คนที่ติดงอมแงมในสมัยหลัง คือ "เพชรพระอุมา" ของ "พนมเทียน" คงจะได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง "วารุณี" บ้างเป็นแน่

            นั่นเป็นความประทับใจครั้งแรกที่ผมมีต่อขุนวิจิตรมาตราอย่างชื่นชมเต็มที่ แต่ไม่มีโอกาสได้รู้จักกับท่านหรอก
            พอผมอยู่ชั้นมัธยม ๗ ทราบว่า "ราชบัณฑิตยสภา" (ต้นกำเนิดของ "ราชบัณฑิตยสถาน" เดี๋ยวนี้) มีประกวดการแต่งหนังสือ และท่านขุนวิจิตรมาตรา แต่งเรื่อง "หลักไทย" ได้ที่ ๑  ได้รับรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระหัตถ์ เป็นเงินถึง  ๑,๐๐๐ บาท (สมัยนั้นน่ะ ซื้อรถยนต์เก๋งเล็กๆได้คันหนึ่งเชียวละ เพราะเงินบาทมันยังจมอยู่ ไม่ลอยตัว) และได้รีบประกาศนียบัตรยกย่องทางวรรณคดี จากราชบัณฑิตยสภาด้วย
            ตอนนั้นครูวิชาภาษาไทยของผม บังคับมาทีเดียว ว่าให้อ่านหนังสือ "หลักไทย" ให้จงได้

            ผมเถียงครูไปว่าผมเป็นนักเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แผนกภาษา ธุระอะไรผมจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
            ตอนนี้ต้องขอเวลานอกอธิบายว่า เมื่อตอนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร) ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ( คือ กระทรวงศึกษาธิการเดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีเรื่องโฉ่งฉ่าง หรือเฉิ่มๆ) ท่านทรงแบ่งการศึกษาชั้นมัธยมตอนปลาย  (มัธยม ๗ และมัธยม ๘) ออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกกลางแผนกภาษา และแผนกวิทยาศาสตร์  เพื่อให้สะดวกแก่นักเรียนที่สำเร็จไปว่าจะไปต่ออุดมศึกษาแขนงไหน เช่นจะไปเรียนแพทย์ หรือวิศวะ ก็เข้าแผนกวิทยาศาสตร์ จะเรียนอักษรศาสตร์หรือกฎหมายก็เข้าแผนกภาษา เป็นต้น  บางโรงเรียนที่ใหญ่มาก เช่น สวนกุหลาบ ก็เปิดสอนทั้ง ๓ แผนก แต่ที่เทพศิรินทร์มีเพียงแผนกภาษากับแผนกวิทยาศาสตร์ (แผนกกลางไม่มี) โรงเรียนเล็กๆบางแห่งเปิดสอนแผนกเดียวก็มี

            เมื่อผมเลือกเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ ผมจึงได้เถียงครูไปว่า ผมไม่น่าจะต้องอ่านหนังสือ "หลักไทย" แม้ว่าจะเป็นวรรณคดีที่ได้รับพระราชทานรางวัล ชั้นที่ ๑ และได้รับการยกย่องจากราชบัณฑิตยสภาก็ตาม
            "ถึงเธอเป็นนักเรียนแผนกวิทยาศาสตร์" ครูภาษาไทยของผมเริ่มเกรี้ยวกราดอย่างเอาจริงเอาจัง "แต่เธอก็ควรจะเรียนรู้ว่าโคตรพ่อโคตรแม่ของเธอมาจากไหน"
            เอากะท่านซี ท่านใช้คำแรงอย่างนั้นจริงๆ ทั้งๆที่ "โคตรพ่อโคตรแม่" ของท่านก็ไม่ใช่ "ไทยโร้ยปูเซ็ง" หรอก ขออนุญาตเอ่นชื่อด้วยความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของท่านจริงๆ (ที่บังคับให้อ่านหนังสือ "หลักไทย") ครูภาษาไทยท่านนั้น คือ ขุนเชี่ยวพิทยาการ  เดิมท่านชื่อ "ครูเซ่งง่วน"

            ผมก็เลยจำใจต้องอ่านหนังสือเรื่องนั้นด้วยความเบื่อและเซ็ง เพราะเป็นหนังสือทางวิชาการที่หนักมาก สำหรับเด็กวัยรุ่น ที่น่าจะอ่านหนังสือเบาๆ (อย่างต่วยตูน ไง)
            นี่เป็นความประทับใจข้อที่ ๒ ที่มีต่อท่านขุนวิจิตรมาตรา แต่เป็นความประทับใจที่ขมขื่นมาก เพราะไม่สนุกเหมือนเรื่อง "วารุณี" ของท่านเลย

            กาลเวลาล่วงมาอีกหลายสิบปี มาถึง พ.ศ.๒๔๘๔ กรมโฆษณาการ (ซึ่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์  แต่ฉายา "กรมกร๊วก" ถูกคนปากอยู่ไม่สุขมันตั้งให้แต่ครั้งนั้นแล้ว)  ได้อ่านบทความภาษาต่างประเทศแล้ว บันทึกเสนอท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ว่าประเทศอิตาลีของท่านผู้นำ "มุสโสลินี" ได้ตั้งกอง (หรือกรม) ภาพยนตร์ขึ้น เพื่อผลิตภาพยนตร์ข่าว และภาพยนตร์ส่งเสริมการทำมาหากิน ส่งเสริมการเรียน, การศึกษา (สมัยนี้เรียกกันว่า "โสตทัศนศึกษา" ใช่ป่าว) เป็นผลดีในการเปิดหูเปิดตาประชาชนมาก
            ท่านนายกรัฐมนตรีอ่านแล้วคิดว่า ถ้าเราทำบ้างน่าจะดี จึงปรารภขึ้นในคณะรัฐมนตรี แต่ ครม.ก็ฟังไปยังงั้นเอง ไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ (คงคล้ายกับ ครม.ชุดหลังๆประพฤติปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้) และไม่มีใครรับอาสาจุดไฟแช็กให้ท่านด้วย ความจริงขณะนั้น กรมรถไฟของกระทรวงคมนาคมมีหน่วยภาพยนตร์อยู่แล้ว  (ภาพยนตร์เงียบ ๓๕ มม.) ดำเนินการโดยคุณหลวงกลการเจนจิตต์ (เภา วสุวัต) ทำแต่ภาพยนตร์โฆษณากิจการของกรมรถไฟอย่างเดียว ไม่ได้คิดทำภาพยนตร์แนวอื่นด้วย (เป็นต้นว่า ภาพยนตร์เรท "เอ็กซ์" ซึ่งเด็กดูไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่ดูแล้วคึกคัก)

            ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะท้อใจเพราะไม่มีใครสนับสนุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (หลวงอธึกเทวเดช) ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นเดียวกับท่าน จอมพล ป. และเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศด้วย (รัฐธรรมนูญตอนนั้นไม่ได้ห้ามไว้นี่ครับ และไม่มี ส.ส.ร.จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาให้นักวิชาการและนักการเมืองทะเลาะกัน เปิด "กึ๋น" ให้ประชาชนเห็นว่า ใครมีวิสัยทัศน์ขนาดไหน) จึงรับว่า ถ้าไม่มีใครทำ ท่านจะรับทำเอง แต่แทนที่ท่านจะรับเอาไปไว้ในกระทรวง "อุตส่าห์หากรรม" ซึ่งท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยอยู่ ท่านกลับรับเข้ามาให้กองทัพอากาศ ซึ่งท่านเป็นผู้บัญชาการเสียนี่

            กองทัพอากาศขณะนั้นมีหมวดถ่ายรูปของกองโรงเรียนการบิน หากินทางถ่ายรูปนิ่ง ขาว/ดำ อยางเดียว ถ่ายแล้วอัดออกมา ขาว/ดำจริงๆเหมือนห่อยา "ทัมใจ" เปี๊ยบ ดูเหมือนจะมีคนเล่นกล้องหนังเป็นอยู่เพียง ๓ คน เล่นกล้อง ๑๖ มม.คนหนึ่ง กล้อง ๘ มม.อีก ๒ คน
            แต่เมื่อรับปากท่านนายกฯ มาแล้วก็จะต้องทำให้ได้ บังเอิญเวลานั้น "อัศวินภาพยนตร์" ของพระองค์ชายใหญ่-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (พระบิดาท่านกบของหม่อมลูกปลาไง)  กำลังจะเลิกกิจการ เพราะตั้งแต่เกิดสงครามมาฟิล์มภาพยนตร์และอุปกรณ์ต่างๆ หายาก ทางญี่ปุ่นอยากจะฮุบเอาโรงถ่ายและอุปกรณ์ไว้ แต่ท่านนายกฯไม่อยากให้ญี่ปุ่นได้ไป กองทัพอากาศจึงซื้อมาทั้งสถานที่ (รวมโรงถ่าย ที่ถ่ายไม่เฉพาะภาพยนตร์ จะถ่ายอย่างอื่นด้วยก็ได้) รวมเครื่องใช้ไม้สอยของอัศวินภาพยนตร์ทั้งหมด
            นี่คือ กำเนิดของกองภาพยนตร์ทหารอากาศที่จะเกี่ยวกับบุนวิจิตรมาตราต่อไป
.

           

ที่มา  ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น