++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องของปืนไฟกับไทยสมัยโบราณ (๑)

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์


            ผมได้เคยเข้าร่วมในสมาคมสุราบานของพี่ต่วยมาหลายครั้ง เมื่อสมัยที่ยังรับราชการอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆชายแดนไทยกับเขมร ได้คบค้าสมาคมกับพวกตำรวจและทหารทางชายแดนก็มากมายหลายเหล่า ได้พบได้เห็นปืนแบบสมัยใหม่ๆก็หลายชนิดหลายอย่าง  แต่ก็ไม่เคยที่จะได้สนอกสนใจที่จะไปสืบหาความเป็นมาของมันมากมายนัก เพราะมัวแต่วุ่นวายสบายใจอยู่กับหินและสุราเสียมากกว่า เรียกว่า ยังไม่มีแรงบันดาลใจในทางนี้เลย ทั้งๆที่อยู่ใกล้ชิดกับมัน

            ต่อมาเมื่ออำนาจฟ้าผ่าจากเจ้านายต้นสังกัด ให้ย้ายเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ต้องมาศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของชาวโปรตุเกส ฝรั่งยุโรปชาติแรกที่เข้ามามีบทบาทกับกรุงศรีอยุธยา จากการศึกษาเรื่องราวของชาวโปรตุเกสนี้ได้ทำให้ต้องหันมาศึกษาเรื่องของปืนขึ้นมาบ้าง ไม่ใช่เพื่อที่จะเอามาใช้ เพราะเรื่องพรรณอย่างนี้ผมไม่ถนัดอยู่แล้ว

            ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ฝรั่งชาติโปรตุเกสได้เข้ามาตีเอาเมืองมะละกาซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของพวกแขกมุสลิมใต้ และได้ส่งทูตเข้ามาติดต่อทำสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม    เพราะเห็นว่าชาติสยามเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในเอเซีย และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง สินค้าที่จะนำเข้ามาค้าขายในกรุงสยาม ที่เป็นของแปลกและใหม่ก็คือ "ปืนไฟ" เพราะในสมัยนั้นนับว่า เป็นอาวุธสงครามที่ทันสมัยที่สุดในเอเซีย ไทยเราก็รับสัมพันธไมตรีกับประเทศนี้ด้วยดี เพราะที่รู้แน่ๆก็คือ ได้เห็นพิษสงของมหาอำนาจชาตินี้แล้ว ในครั้งที่สามารถตีเอาเมืองมะละกาได้ ทั้งๆที่ไทยได้เคยพยายามที่จะไปตีมาแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

            เรื่องของการค้า เมื่อเสนอสินค้าให้กับลูกค้าแล้ว  ก็ควรจะต้องมีการแนะนำการใช้ให้ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็เป็นการประจวบเหมาะ เพราะในช่วงต่อมา สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช ราว พ.ศ.๒๐๘๑ พม่าข้าศึกได้มารุกรานเมืองเชียงกรานซึ่งอยู่ทางชายแดนไทยกับพม่า สมเด็จพระชัยราชาธิราช จึงกรีฑาทัพจากพระนครไปรบเพื่อป้องกันหรือแย่งชิงเมืองนั้น ในกองทัพครั้งนั้นได้มีกองทหารอาสาของชาวโปรตุเกส จำนวน ๑๒๐ คน เข้าร่วมไปในกองทัพด้วย พวกชาวโปรตุเกสได้นำเอาปืนไฟเข้าไปในสงครามด้วย จนได้รับชัยชนะและเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์สยาม ถึงขนาดพระราชทานที่ดินให้พวกชาวโปรตุเกสตั้งรกราก ทำการค้าขายและเผยแพร่ศาสนาของตัวเองได้อย่างเสรี ไม่เพียงเท่านั้นยังได้รับชาวโปรตุเกสเข้าเป็นทหารไว้รับใช้ในราชการ ในตำแหน่งของทหารองครักษ์ของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย

            คำว่า "ปืน" เป็นคำไทยๆ ใช้เรียกอาวุธชนิดหนึ่งที่มีอำนาจ มีแรงกำลังที่จะส่งผลให้ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นธนูหรือหน้าไม้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เรียกว่าปืนทั้งสิ้น อย่างเช่นรูปพระนารายณ์ทรงปืน ก็ทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงถือศรหรือธนูเป็นอาวุธ หาได้ถือปืนไม่ ส่วนคำว่า "ไฟ" ก็เป็นคำไทยเช่นกัน หมายถึงความร้อนแรงและโชติช่วง เมื่อนำเอาคำสองคำมารวมกันแล้ว ก็แปลว่า อาวุธที่ส่งไปไกลโดยใช้ไฟเป็นตัวส่ง

            การนำปืนเข้ามาในราชการครั้งต้นๆ ก็คงจะเป็นปืนเล็ก ซึ่งเป็นปืนประเภทปืนคาบศิลา ที่ใช้หินเหล็กไฟติดอยู่ทางด้านท้ายของลำกล้องปืน เมื่อใส่ดินปืนเข้าไปในลำกล้องโดยใช้เขนง หรือเขาสัตว์เป็นภาชนะในการกรอกดินปืน แล้วก็ใช้ไม้หรือเหล็กยาวๆ กระทุ้งดินปืนให้แน่นก่อนที่จะบรรจุลูกกระสุนเข้าไปในขั้นสุดท้าย เมื่อเวลาจะยิงก็เหนี่ยวไกปืนที่เชื่อมต่อไปยังสิ่งที่เรียกกันว่า นกปืน นกปืนจะตีลงไปกระทบกับศิลาหรือหินที่ติดเอาไว้ใกล้ๆ กับรูชนวนที่ทางท้ายของลำกล้อง เมื่อนกปืนกระทบกับศิลา ก็เกิดประกายไฟแลบเข้าไปติดกับชนวนและดินปืน ทำให้เกิดแรงปะทุไปผลักกระสุนให้วิ่งออกจากลำกล้องปืนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ส่วนวิถีกระสุนจะรุนแรงหรือไกลเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับการอัดดินปืนว่าจะแน่นมากน้อยเพียงไร ถ้าอัดได้แน่นมาก วิถีกระสุนก็ออกไปไกล ถ้าอัดดินปืนไม่แน่น วิถีกระสุนก็สั้นลง เอาระยะที่แน่นอนไม่ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ความอดทนมากน้อยของผู้ยิง แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม อาวุธชนิดนี้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำร้ายข้าศึกได้อย่างชะงัด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้การค้าขายปืนไฟในราชอาณาจักรสยาม เป็นไปอย่างก้าวหน้าและได้ราคาดี        



       


ที่มา  ต่วยตูน เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น