++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

เสน่ห์มนตราริมฝั่งโขง จากเชียงคานถึงเมืองพญานาค

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 กันยายน 2552 16:07 น.
สีสันชีวิตยามเย็นในลำน้ำโขงเมืองเชียงคาน
"แม่น้ำโขง"หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญแห่งเอเชีย

แม่น้ำสายนี้เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ตำนาน ความลี้ลับ
ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมและประเพณีอันหลากหลาย
นอกจากนี้ความงามของสายน้ำ ธรรมชาติ เกาะ แก่ง ขุนเขา ป่าไม้ ชุมชน
บ้านเรือน วิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำใน 2 ฝั่งโขง
ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งผูกมัดให้ผู้หลงใหลในวิถีแห่งสายน้ำตรึงตราอยู่กับ
มนต์เสน่ห์เหล่านั้น

สำหรับตัว"ตะลอนเที่ยว"แล้ว
แม่น้ำโขงคือมหานทีแห่งชีวิตอันน่าตื่นตาตื่นใจ มากมายเรื่องราวชวนค้นหา
นั่นจึงทำให้ในทริปนี้ เราหลีกลี้จรลีหนีความวุ่นวายจากเมืองหลวง
เดินหน้าสู่อีสานเหนือไปพักใจแต่ไม่พักแรงในเส้นทางเลาะเลียบริมฝั่งโขง
เพื่อชื่นชมเสน่ห์มนตราของมหานทีแห่งชีวิตสายนี้

ปั่นจักรยานชมเชียงคาน
เชียงคาน ความงามในความเงียบ

ปฐมบทของเส้นทางเลาะเลียบริมโขงเริ่มขึ้นที่เมือง"เชียงคาน"
อ.เชียงคาน จ.เลย ดินแดนแรกในอีสานที่สัมผัสกับลำน้ำโขง ณ
จุดที่เรียกว่า"ปากเหือง"บ้านท่าดีหมี

พูดถึงเชียงคานแล้วชื่อนี้คงไม่ต้องสาธยายกันมาก
เพราะนี่คือเมืองท่องเที่ยวแห่งยุคสมัยที่กำลังดัง กำลังแรง
สอดคล้องกับเทรนด์และจริตของคนเมืองยุคใหม่ที่อยากจะหลีกลี้หนีความวุ่นวาย
ในเมืองใหญ่ ความเร่งรัดในหน้าที่การงาน มาพักกายคลายใจ เอกเขนก นอน นั่ง
ฟังสรรพสำเนียงของความเงียบสงบ(Sound Of Silence)
ที่แฝงเจือไว้ด้วยความงามแห่งวิถีอันเรียบง่าย

ป้ายอะไรหว่า?
สำหรับการมาเยือนเชียงคานครั้งนี้
สิ่งแรกที่เราทำคือการไปยืดเส้นยืดสายให้หายเมื่อยจากการนั่งรถมายาวนานด้วย
การปั่นจักรยานชมเมืองเชียงคานในช่วงบ่ายแก่ๆของวัน
โดยเราเริ่มออกสตาร์ทที่ "วัดท่าคก" (ถ.ชายโขง ซ.20-21)
วัดเก่าแก่ที่โดดเด่นไปด้วยโบสถ์ศิลปะล้านช้างอันกระทัดรัดเรียบง่าย

จากนั้นเราบรรจงปั่นเจ้า 2 ล้อย้อนตัวเลขซอยเรื่อยไปบนถนนชายโขง
ชื่นชมกับบรรยากาศบ้านเรือน 2 ฟากฝั่ง
ที่เป็นดังแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสชื่นชมในความเรียบง่ายแต่
มีเสน่ห์อยู่ในตัว

บรรยากาศยามเย็น ณ ริมโขง
บ้านเรือนที่นี่ด้านหนึ่งหันหน้าออกแม่น้ำโขงด้านหนึ่งหันหน้าเขาหา
ถนน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้เก่าประตูบ้านเฟี้ยมแซมด้วยบ้านใหม่ที่สร้างอย่างไม่
แปลกแยก บางบ้านดูเงียบเหงาไร้วี่แววคนอยู่
บางบ้านดูมีชีวิตชีวาด้วยสมาชิกอันอบอุ่นในครอบครัว
บางบ้านปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นเป็นที่พัก เกสต์เฮาส์ ราคาประหยัด
บางบ้านเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านนวดแผนโบราณ
เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

เราปั่นชมวิถีสีสันเมืองเชียงคานบนถนนชายโขงไปจนถึง"วัดศรีคุนเมือง"
(ซ.6-7) วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแหล่งรวมศิลปะล้านนาและล้านช้าง ที่นี่
"ตะลอนเที่ยว" เข้าไปไหว้พระประธานชื่นชมศิลปะภายในโบสถ์
ก่อนเปลี่ยนเส้นทางการปั่นออกไปยังถนนบนสันเขื่อนเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศริม
ฝั่งโขงอย่างใกล้ชิด
พร้อมเฝ้าชมดวงตะวันลาลับขอบฟ้าอันเป็นอีกหนึ่งมนต์ขลังของเชียงคานที่ผู้มา
เยือนไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

ร้านรวงยามราตรีที่เชียงคาน
หลังแสงสุดท้ายของวันลาลับ แสงแห่งราตรีเข้าแทนที่
ร้านรวงจำนวนหนึ่งบริเวณเฮือนหลวงพระบางย่านดาวน์ทาวน์สำคัญดูคึกคักเล็ก
น้อย จากการเปิดขายของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาซื้อของชื่นชมกันพอประมาณ
ก่อนที่ม่านวิกาลจะค่อยคลี่คลุมเมืองนี้ให้กลับสู่ความเงียบสงบอีกครั้ง

เชียงคานยามเช้ากับวิถีการตักบาตรข้าวเหนียวของนักท่องเที่ยว
ตักบาตรข้าวเหนียว เที่ยวแก่งคุดคู้

วันเวลาที่เชียงคานอาจเดินช้าในความรู้สึกของใครหลายๆคน
แต่ว่ากับ"ตะลอนเที่ยว"แล้ว เช้านี้มันมาถึงเร็วเป็นพิเศษ
เพราะถ้าไม่รีบตื่นแต่เช้าตรู่ก็จะพลาดการตักบาตรข้าวเหนียวที่เรานัดกับ
เจ้าของที่พักไว้ให้ตระเตรียมข้าวของไว้สำหรับใส่บาตร

เวลาประมาณ 6 โมงเช้า พระ-เณร
แต่ละวัดได้ทยอยเดินเป็นแถวมาให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวใส่บาตรกันอย่างแช่มชื่นอิ่มเอิบใจ

ช่วงหน้าแล้งแก่งคุดคู้จะสวยงามด้วยแก่งหินใหญ่และชายหาดน้ำจืด
จากนั้นช่วงสายของวันนั้นเราล่ำลาถนนชายโขงไปแวะชม "แก่งคุดคู้"
อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อของเชียงคาน
มีลักษณะเป็นแก่งหินขนาดใหญ่พาดขวางกลางลำน้ำโขงที่เชี่ยวกราก
ยามหน้าฝนแก่งคุดคู้จะซ่อนตัวอยู่ใต้ลำน้ำโขงที่ไหลบ่าเป็นปริมาณมาก
รอวันเผยตัวอวดโฉมความงามในช่วงหน้าแล้งที่สายน้ำโขงแห้งขอดมองเห็นตัวแก่ง
ขนาดมหึมาได้อย่างชัดเจน
พร้อมๆกับหาดทรายชาดหายน้ำจืดอันสวยงามในบริเวณนั้น ซึ่ง ณ ที่นี่
เราเดินทางเลาะเลียบสายน้ำโขงมุ่งหน้าต่อไปยังจังหวัดหนองคายเมืองพญานาคอัน
เลื่องชื่อ

ห้อง ซอก ซอย มากมายในถ้ำดินเพียง
ท่องเมืองพญานาค

เมื่อเข้าเขตหนองคาย จุดแรกที่เราไปเยือนคือ"ถ้ำดินเพียง"
วัดถ้ำศรีมงคล (บ้านดงต้อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม)
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ที่แม้ระบบการจัดการยังไม่ลงตัวนัก
แต่ว่านี่คือหนึ่งในสถานที่ที่ตอกย้ำความเป็นเมืองพญานาคของหนองคายได้เป็น
อย่างดี โดยเฉพาะเรื่องเล่าขานต่างๆนานๆเกี่ยวกับงูใหญ่
ผนวกกับรูปลักษณะภายในถ้ำอันน่าพิศวง
ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่านี่คือเมืองพญานาค ที่สามารถเดินทางไปใต้ลำโขง
ไปๆมาๆระหว่างหนองคายกับเวียงจันทน์ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่าในถ้ำแห่งนี้เป็นเส้นทางที่พระธุดงด์จาก
ลาวใช้ข้ามฝั่งลอดใต้แม่น้ำโขงเข้ามายังเมืองไทย
เป็นถ้ำที่ต้องเป็นพระผู้ทรงศีลอันแก่กล้าเท่านั้นจึงจะเห็นเส้นทางสัญจรดัง
กล่าว ส่วนเราๆท่านๆนั้นสามารถเข้าไปเที่ยวในถ้ำได้
แต่เป็นในเส้นทางของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่เส้นทางของผู้บำเพ็ญเพียร
ซึ่งถ้ำดินเพียงนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความตื่นเต้น ท้าทาย
โดยต้องมีผู้นำทางเข้าชม และผู้เข้าชมก็ต้องมีร่างกายแข็งแรง
ไม่เป็นโรคไขข้อ เนื่องจากการเข้าถ้ำต้องย่อ หมอบ ลอด มุด คลานสูง
คลานต่ำ และแถเถือกไถเลื้อยไปดังพญานาคในหลายๆช่วง
เริ่มประเดิมตั้งแต่ปากทางเข้าถ้ำที่ต้องมุดซอกหินเข้าไป

คลานลุยน้ำ เที่ยวแบบผจญภัยในถ้ำดินเพียง
จากนั้นภายในถ้ำจะเป็นเพียงช่องเล็กๆแคบๆขนาดตัวคนให้เคลื่อนกาย
สารพัดวิธี(ที่กล่าวมาในข้างต้น)ไปตามเส้นทาง ซึ่งภายในมีห้อง ช่อง ซอก
ซอย ที่มากด้วยส่วนโค้ง ส่วนเว้า
อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินจำนวนมากนับเป็นพันๆ
หลายช่องทางสามารถเดินทะลุเชื่อมถึงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
อีกทั้งในเส้นทางเที่ยวถ้ำยังมีสายน้ำตื้นๆไหลเอื่อยๆให้เราตะลุยกันไปเกือบ
ตลอดเส้นทาง และเมื่อเราหยุดเพ่งพิจารณาสารพัดช่องทาง อันซอกซอนเหล่านี้
มันอดให้นึกถึงเส้นทางการเลื้อยของงูใหญ่ไม่ได้

สำหรับจุดเด่นๆภายในถ้ำนั้นก็มี ส่วนห้องโถง
ห้องหีบศพปู่อินทร์นาคราช ช้างสามเศียร บรรลังก์พญานาค ธิดาพญานาค 3 องค์
ฯลฯ โดยบริเวณทางออกจากมีเจดีย์หินที่เชื่อว่าสร้างถวายแก่พญานาคตั้งโดดเด่นให้
สักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่
"ตะลอนเที่ยว"จะล่ำลาเมืองพญานาคแห่งนี้ไปด้วยความทุลักทุเลจากการผจญภัยอัน
น่าระทึกใจ

รูปเคารพหลวงปู่เทสก์ ในเจดีย์บรรจุอัฐิ
จบจากการผจญถ้ำอันเหน็ดเหนื่อยแต่สนุก
เราเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวสบายๆไหว้พระทำบุญในเมืองหนองคายกันบ้าง
เริ่มจาก"วัดหินหมากเป้ง" ริมแม่น้ำโขง(บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท
อ.ศรีเชียงใหม่) สถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ภายในวัดมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่เทสก์ให้สักการะบูชาริมแม่น้ำโขง
ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้อันร่มรื่น
โดยก่อนจากเราแวะไปสักการะเจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่เทสก์ ที่ภายในมีรูปปั้น
เครื่องอัฐบริขารพร้อมด้วยชีวประวัติของท่านให้เราศึกษากัน

พระสุธรรมเจดีย์
จากวัดหลวงปู่เทสก์ เราไปต่อเส้นทางบุญกันที่ "พระสุธรรมเจดีย์"
วัดอรัญบรรพต (ริมถนนศรีเชียงใหม่-สังคม ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่)
ที่สร้างถวายแด่หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ อีกหนึ่งเกจิชื่อดัง
ภายในจัดแสดงกึ่งพิพิธภัณฑ์มีโลงทองบรรจุสังขารของหลวงปู่เหรียญให้พุทธ
ศาสนิกชนเคารพสักการะ

เสร็จจากการเข้าชมพระสุธรรมเจดีย์ เวลาเดินทางมาถึงช่วงเย็นย่ำ
"ตะลอนเที่ยว" จึงเดินทางยาวเข้าสู่ตัวเมืองหนองคายไปหาอะไรอร่อยๆกินแถวร้านริมโขง
ก่อนเข้าที่พักนอนเอาแรง เก็บพลังไว้ลุยต่อในวันรุ่งขึ้น

อุโมงค์ชมปลาในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำฯ
เที่ยวตัวเมืองหนองคาย

สำหรับเช้าวันใหม่ ณ ใจกลางเมืองหนองคาย
หลังเติมพลังในมื้อเช้าแล้ว จุดท่องเที่ยวแรกที่เราจะไปแวะชมก็คือ
"พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจังหวัดหนองคาย" (ตั้งอยู่ใน ม.ขอนแก่น
วิทยาเขตหนองคาย อ.เมือง) ภายในเป็นแหล่งรวบรวมปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม
โดยเน้นเป็นพิเศษที่พันธุ์ปลาน้ำจืดทางอีสานและลุ่มแม่น้ำโขง
มีอุโมงค์ชมปลาช่วงเดียวที่ยาวที่สุดในเมืองไทย 34 เมตร
ที่ในอุโมงค์ประกอบด้วยปลามากมาย
ภายใต้การตกแต่งแบบเมืองบาดาลอันเป็นที่อยู่ของพญานาค

พระธาตุบังพวน
ต่อจากการดูปลาสารพัดสารพันแล้ว
"ตะลอนเที่ยว"เดินตามเส้นทางบุญอีกครั้งด้วยการไปสักการะ"พระธาตุบังพวน"
ณ วัดพระธาตุบังพวน (บ้านดอนหมู ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง)
วัดที่มีพระธาตุบังพวนอันเก่าแก่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีการจำลองสัตตมหาสถาน หรือสถานที่สำคัญ 7 แห่ง
ในพุทธประวัติหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้และได้เสด็จไปประทับเสวยวิมุติสุขแห่ง
ละ 7 วัน รวมถึงมีสระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค
ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการตั้งเจ้าเมือง
มีการนำน้ำในสระนี้ไปสรงเพื่อความเป็นสิริมงคล

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
จากวัดพระธาตุบังพวน เราไปต่อยัง"วัดโพธิ์ชัย"เพื่อไหว้
"หลวงพ่อพระใส" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
ที่เมื่อมาเมืองนี้แล้วควรไปสักการะท่านเพื่อความเป็นสิริมงคล

ประติมากรรมหลากรูปแบบที่ศาลาแก้วกู่
ก่อนจะไปปิดท้ายทริปกันที่ "ศาลาแก้วกู่"
สถานที่แสดงประติมากรรมปูนปั้นกลางแจ้งขนาดใหญ่อันเกิดจากศรัทธาและแรง
บันดาลใจของหลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ที่มี พระพุทธรูป เทวรูป
และรูปปั้นคติเตือนใจหลากหลายรูปแบบ ทั้งในศาสนาพุทธ พราหมณ์
พร้อมหลักธรรมคำสอนให้ศึกษากัน
นับเป็นเสน่ห์ความงามแฝงหลักธรรมส่งท้ายในเส้นทางเลาะเลียบลำน้ำโขง
ที่หากใครอยากรู้ว่าริมฝั่งโขง งดงาม ชวนหลงใหลแค่ไหน
คงต้องหาวันเวลาเดินทางไปสัมผัสในเสน่ห์มนตราริมฝั่งโขงกันสักครั้งหรือ
หลายๆครั้ง ตามแต่ใจปรารถนา

*****************************************

การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)
สำนักงานภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยว"เสน่ห์มนตราริมฝั่งโขง"(อีสานเหนือ)ขึ้น
ในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์ โดยให้ 4
สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
ซึ่งผู้สนใจสามาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ส.ธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ 0-2270-1505-8
ส.ไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย 0-2393-5855
ส.ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย 0-2961-2204-5 ส.ผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย
0-2998-0744

ส่วนผู้สนใจรายละเอียดเส้นทางท่องเที่ยว เชียงคาน หนองคาย
สามารถสอบถามข้อเพิ่มเติมได้ที่ ททท.เลย 0-4281-2812
ททท.อุดรฯ(อุดรฯ-หนองคาย) 0-4232-5406-7

http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น