++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

ค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยว / วินิจ รังผึ้ง

เมื่อ สัปดาห์ก่อนผมและทีมงานของนิตยสาร
อ.ส.ท.เพิ่งจัดกิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวแล้วเสร็จไป
ซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจในการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาบอกเล่ากัน
โดยการจัดกิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก
ในรอบ 50 ปีที่นิตยสาร อ.ส.ท.เปิดดำเนินการมา

ด้วยแนวความคิดที่ว่าปัจจุบันเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยวนั้นได้
เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนไปแล้ว
และการนำเสนอข้อมูลท่องเที่ยวก็มีการทำกันอย่างกว้างขวางมากมายหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะในช่องทางของอินเตอร์เน็ตทั้งทางเว็บไซต์ และเว็บบล็อกต่างๆ
ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ที่ง่ายดายและกำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่งใน
ปัจจุบัน ซึ่งการเขียนและถ่ายทอดเรื่องราวด้านการท่องเที่ยวดังกล่าวนั้น
หลายๆคนทำได้ดีและน่าสนใจ
แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
มีภาพแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมานำเสนอ
แต่การถ่ายทอดยังขาดวิธีการนำเสนอและการสื่อสารที่ดีไปยังผู้อ่านผู้ชม
จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง

พวกเราทีมงานนิตยสาร
อ.ส.ท.ที่นำเสนอสารคดีท่องเที่ยวมายาวนานคู่กับนักเดินทางมาถึงครึ่งศตวรรษ
ก็เลยคิดจัดกิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวนี้ ขึ้นมา
เพื่อนำความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนสารคดี
มาถ่ายทอดให้กับผู้คนที่สนใจทั่วไป
อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวทั่วไปอีกด้วย

ค่ายนักเขียนสารคดีที่จัดขึ้นครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า
30 คน โดยมีการบรรยายในเรื่องของรูปแบบ วิธีการ การหาข้อมูล การสัมภาษณ์
การจับประเด็นในการเขียนสารคดี
รวมทั้งประสบการณ์การทำงานด้านสารคดีของวิทยากรผู้มีชื่อเสียงและผลงานด้าน
สารคดีระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่างคุณธีรภาพ โลหิตกุล
ซึ่งนักอ่านสารคดีท่องเที่ยวทั่วเมืองไทยรู้จักผลงานกันเป็นอย่างดี
คุณอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีรางวัลศิลปินดีเด่นศิลปาธรประจำปี 2552
ศาขาวรรณศิลป์ ผู้มีผลงานสารคดีกว่า 30 เล่ม รวมทั้งผม คุณอภินันท์
บัวหภักดี และ ทีมงานนักเขียนของอนุสาร อ.ส.ท.
ก็ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งประสบการณ์อันยาวนานของแต่ละคน กับเวลาสั้นๆ ในห้องประชุมเพียง 1
วันนั้นช่างเป็นเวลาที่สั้นนัก
แต่เราก็ยังมีการเดินทางออกไปหาประสบการณ์ภาคสนามกันที่แหล่งท่องเที่ยวจริง
ในเส้นทางล่องแก่งลำน้ำเข็ก และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูหินร่องกล้า
จังหวัดพิษณุโลกกันต่ออีก 3 วัน 2 คืน

รีสอร์ทธรรมชาติเล็กๆ
แต่สวยงามสะดวกสบายริมสายธารน้ำเข็กชื่อเรนฟอเรสท์ รีสอร์ท
ถูกเลือกเป็นฐานที่มั่นในการทำกิจกรรมค่ายนักเขียนครั้งนี้
ซึ่งหัวใจสำคัญของการเขียนสารคดีท่องเที่ยวนั้นก็คือประสบการณ์การเดินทาง
ที่ผู้เขียนจะต้องได้สัมผัสจริง
เพื่อเก็บข้อมูลและซึมซับบรรยากาศของแหล่งท่องเที่ยวจริง
เพื่อจะได้นำมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่านได้อย่างกระจ่างชัด
กิจกรรมล่องแก่งผจญสายน้ำเชี่ยวในลำน้ำเข็กยามน้ำหลาก
ที่สมาชิกหลายคนเกิดอาการหวาดหวั่นครั่นคร้ามขึ้นในจิตใจ
เพราะบางคนไม่เคยล่องแก่งมาก่อนเลยในชีวิต
แต่เมื่อรักจะเป็นนักเขียนสารคดี
รักจะเป็นนักถ่ายทอดเรื่องราวของการท่องเที่ยวแล้วก็จำต้องเอาชนะจิตใจของตน
เองให้ได้เป็นอันดับแรก

ซึ่งการล่องแก่งในลำน้ำเข็กนั้นนับเป็นกิจกรรมตื่นเต้นท้าทายที่ได้
มีการจัดการด้านมาตรฐานไว้เป็นอย่างดี โดยทาง
ททท.ได้ทำการฝึกอบรมบรรดาผู้ประกอบการ ฝีพาย
ซึ่งเป็นชาวบ้านในท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี
กำหนดให้มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานไว้อย่างเคร่งครัด
เช่นเสื้อชูชีพที่มีสายรัดครบทั้งส่วนลำตัวและส่วนขา
หมวกกันนิรภัยกันกระแทก ซึ่งผู้ที่ลงล่องแก่งจะต้องสวมใส่ทุกคน
และก่อนลงล่องแก่งทุกครั้งก็จะมีการสอนวิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยในการ
ล่องแก่งทุกครั้ง เริ่มตั้งแต่ท่านั่งที่ถูกวิธี การจับพาย
การก้มตัวหลบหลีกให้รอดพ้นกิ่งไม้และสิ่งกีดขวาง
รวมถึงการลอยตัวอย่างถูกวิธีในกรณีที่พลัดตกจากเรือเพื่อรอการช่วยเหลือ
การล่องลำน้ำเข็กจึงเป็นกิจกรรมล่องแก่งที่สนุกสนาน
ปลอดภัยได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ซึ่งเมื่อได้ล่องผ่านแก่งน้ำเชี่ยวที่สนุกสนานตื่นเต้นราว 2 ชั่วโมง
ก็ถึงจุดหมายปลายทาง
สมาชิกหลายคนถึงกับติดอกติดใจกิจกรรมล่องแก่งไปเลยทีเดียว

จากกิจกรรมล่องแก่งเราเปลี่ยนบรรยากาศในวันถัดมาไปขึ้นภูหินร่องกล้า
เพื่อให้เกิดประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย
ซึ่งเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติวงรอบลานหินปุ่ม
ผาชูธงในวันกลางฤดูฝนให้บรรยากาศของความชุ่มฉ่ำเขียวขจีได้ดียิ่ง
และยิ่งชุ่มฉ่ำเข้าไปอีกเมื่อสายฝนพรมพรำลงมาเป็นระยะๆ
เกือบตลอดเส้นทางให้ความรู้สึกถึงความสวยงามฉ่ำเย็นของ ดอกไม้
สายหมอกและสวนหินในผืนป่าหน้าฝน
กับความเปียกปอนที่เป็นเสมือนสัมผัสเสี้ยวเล็กๆของการใช้ชีวิตชุ่มฉ่ำกรำฝน
ของคนกรำประสบการณ์ชีวิตบนภูหินร่องกล้าในอดีตได้เป็นอย่างดี

ยามค่ำคืนเป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะพูดคุย
สรุปเรื่องราวที่เก็บเกี่ยวมาทั้งวัน กับประเด็นข้อสงสัย
และข้อสังเกตที่วิทยากรและสมาชิกนำมาพูดคุยมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ปิดท้ายรายการก่อนเดินทางกลับด้วยการเดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะสุโขทัยที่มีพระพุทธลักษณะสวยงามที่สุดในเมืองไทย
กับแวะชื่นชมสมบัติของบรรพบุรุษไทยในภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ถ่ายทอดออกมาเป็น
เครื่องใช้ไม้สอยที่สะสมด้วยความรักและความตระหนักในคุณค่าแห่งภูมิปัญญา
พื้นบ้านของไทยและนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
ซึ่งสมาชิกหลายคนดูแล้วถึงกับลงความเห็นร่วมกันว่าต้องหาโอกาสกลับมาใช้เวลา
ในการศึกษาเที่ยวชมกันทั้งวันอีกครั้ง

แม้นโปรแกรมการเดินทางจะสิ้นสุดลง
แต่สมาชิกผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดียังคงไม่จบภารกิจ
เพราะจะต้องนำข้อมูล และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางครั้งนี้
ไปทำการบ้านโดยการเขียนเป็นสารคดีสั้น ๆ กลับมาส่ง
เพื่อวิทยากรจะได้ช่วยชี้แนะและแลกเปลี่ยนมุมมองกันอีกครั้งจึงจะเป็นการจบ
กิจกรรมค่ายนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวครั้งนี้
ซึ่งในความคิดของผมอยากให้การจบกิจกรรมค่ายนักเขียนเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น
ของการเดินทางในเส้นทางของคนรักการเขียนสารคดีท่องเที่ยวของพวกเขา
เพื่อที่จะเกิดความรัก ความสนุกสนานกับฝึกฝนและเก็บเกี่ยวความรู้
ประสบการณ์ เพื่อพัฒนางานให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นไป
ไม่อยากให้การจบกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจบแบบจบแล้วจบเลยเหมือนละครตอนอวสาน
ที่ปิดฉากลง.
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000111005

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น