...+

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จากใบลานสู่ ‘หนังสือ 3 มิติ’ ที่ TK park

“อยากฉลาดต้องอ่านหนังสือเยอะๆ” คำ พูดติดปากคนไทยที่ได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเป็นสมัยก่อนการอ่านอาจจำกัดอยู่เพียงในใบลาน ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาสู่การอ่านจากกระดาษ จนมาสู่ยุคดิจิตอล มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทำให้ปัจจุบันมีทางเลือกในการอ่านมากขึ้น เราสามารถเลือกอ่านได้ทั้งจากหน้าเว็บไซต์ มือถือ หรือจะเป็นแท็บเล็ตอุปกรณ์สุดไฮเทคที่คนไทยกำลังนิยมกันอยู่ในขณะนี้

ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวถึงบทบาทของ Social Network กับการอ่านของเด็กไทย “เพราะ ปัจจุบันการอ่านไม่ได้จำกัดแค่ตัวอักษรในแผ่นกระดาษอีกต่อไป และหากถามว่าการที่เด็กไทยสนใจใช้ Facebook หรือ Social Network กันมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อการอ่านหรือไม่นั้น เรื่องนี้สามารถมองได้สองทาง คือ อดีตเราใช้ใบลาน และกระดาษ แต่ในยุคดิจิตอลนี้ การใช้ Social Media หรือ New Media ทั้งหลาย จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร จึงเห็นว่าการที่เด็กเล่นบีบี หรือ เฟชบุ๊ค ก็เพราะเขากำลังสื่อสารกันอยู่ ผู้ใหญ่ต้องก็ยอมรับและควรสนับสนุนในทางที่ถูกและเท่าทันมากกว่าปิดกั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาให้ทันสมัยเพียงใด แต่สิ่งสำคัญในการอ่านก็คือ “เนื้อหาสาระ” เทคโนโลยี เข้ามามีส่วนช่วยทำให้การอ่านกลายเป็นสิ่งใกล้ตัว มีความมหัศจรรย์น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เราสามารถเลือกซื้อหนังสือฉบับดิจิตอล หรือที่เรียกว่าอีบุ๊คได้ในทุกที่ทุกเวลา สามารถอ่านหนังสือไปพร้อมๆกับการฟังเพลงหรือเช็คอีเมล์ได้ หรือการอ่านไปพร้อมๆ กับการแชร์ประสบการณ์ เช่น เล่นบีบี หรือ เฟชบุ๊ค”

สำหรับ นิทรรศการ Magic@TK park มหัศจรรย์การอ่าน..จากใบลานสู่ดิจิตอล ซึ่ง TK park ได้นำกิจกรรมดังกล่าวไปร่วมในงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น2554 ภายใต้คอนเซ็ปต์เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกอย่างมีปัญญาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากเด็กนักเรียนและอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดย TK park ได้นำเทคโนโลยีการอ่านสมัยใหม่อย่าง โน้ตบุ๊ค 3 มิติ และเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เรียกสั้นๆว่า AR Code หรือ หนังสือ 3 มิติ ที่ทำให้การอ่านมีสีสันและสนุกสนานมากขึ้น กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้จริง ขณะที่อาจารย์ก็ให้ความสนใจและต้องการนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีดังกล่าว ยังไม่มีผลิตและจำหน่ายในประเทศ ต้องสั่งนำเข้าและมีราคาค่อนข้างสูง

ด้าน นายพรชัย จันทรศุภแสง บรรณาธิการ บริหาร คอมพิวเตอร์ทูเดย์ กล่าวว่า ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่เราต้องการนำเสนอ คือ “การอ่าน” ดังนั้น ภายในพื้นที่การจัดกิจกรรมของ TK park จึงได้แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนอ่านสบาย ที่มีชั้นหนังสือจาก TK park มาให้น้องๆ ได้เลือกอ่าน , โซนอ่านสนุก โดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการอ่าน อาทิ kindle (อีบุ๊คเครื่องแรกที่อเมซอนพัฒนาขึ้นมาสำหรับการอ่านอีบุ๊คโดยเฉพาะ ) , ipad และอื่นๆ แต่ที่เด่นของโซนนี้ คือ ความพิเศษของ “โน้ตบุ๊ค 3 มิติ” ที่นำมาจัดแสดง ทำให้การอ่านอีบุ๊คเริ่มมีสีสันและสนุกมากขึ้น แตกต่างจากการอ่านอีบุ๊คแบบธรรมดาที่ใช้อยู่

ในส่วนของโซนเกม TK park ก็ได้รับความสนใจจากเด็กๆ แวะเวียนกันเข้ามาเล่นเกมที่ TK park ผลิตขึ้นตลอดทั้งวัน เช่น เกมอยุธยา เกมStar Seeker หรือ เกมไดโนไดโน่ ซึ่งเป็นเกมที่สร้างสรรค์ และสนุกอย่างมีสาระไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญทำให้เห็นว่า เกมของไทยก็มีอยู่มากและเล่นสนุกได้เช่นกัน สุดท้าย โซนอ่านมหัศจรรย์ สำหรับโซนนี้ ถือเป็นไฮไลท์ นอกจากโน้ตบุ๊ค 3 มิติแล้ว ล่าสุดได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับหนังสือที่นอกเหนือจากความเป็น ดิจิตอลที่เราคุ้นเคยแล้ว ก็ยังมีการผลิตหนังสือที่แสดงภาพแบบ 3 มิติ โดยใช้เทคโนโลยีนี้เรียกว่า AR Code(Augmented Reality) เป็นเทคนิคการแสดงภาพเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติที่จะช่วยให้สามารถเห็นภาพราวกับเคลื่อนไหวนูนขึ้นมา ตัวอย่างหนังสือ 3 มิติที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุด อาทิ หนังสือ 3 - D Dinosaur มีภาพกราฟฟิกไดโนเสาร์พุ่งออกมาแบบ 3 มิติ ด้วยความน่าตื่นเต้น พร้อมหมุนดูรอบตัวได้เหมือนจริง , หนังสือ 3-D Human Body ที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายในรูปแบบ 3 มิติ และที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ หนังสือ 3-D Harry Potter ที่ตัวละครอย่างลอร์ดโวลเดอร์มอร์ และแฮรี่ พรอร์ตเตอร์ กระโจนออกจากหนังสือมาร่ายเวทมนตร์ใส่กันด้วยไม้เท้ากายสิทธิ์อาวุธคู่กาย ได้อย่างน่าทึ่ง สร้างความสนุกสนานและตื่นเต้นให้กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก

สำหรับความน่าสนใจของหนังสือ 3 -D คือ เมื่อนำมาใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่มีกล้องเว็บแคม ก็จะแสดงภาพในลักษณะ 3 มิติ เด็กๆ สามารถสัมผัสได้ทั้งเนื้อหาสาระและความสนุกตื่นเต้นที่ได้เห็นทั้งภาพและ เสียงผ่านเทคโนโลยี AR (Augmented Reality)

ทั้งนี้นายพรชัย ยอมรับว่า หนังสือ 3-D และเทคโนโลยี AR ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน ไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง มีการนำมาใช้บ้างในงานทางด้านโฆษณาเท่านั้น แต่ในแง่ของการศึกษายังไม่มีการนำมาใช้แต่อย่างใด เพราะการผลิตกราฟฟิก 3 มิติ ต้องลงทุนสูงมากจึงยังไม่มีเอกชนของไทยรายใดกล้าลงทุน แต่มั่นใจว่า ในอนาคตจะได้เห็นสื่อการเรียนการสอนที่เป็น 3 มิติออกมาให้เห็นมากขึ้น เพราะหนังสือ 3 มิติจะสามารถกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นให้เด็กเห็นว่าการเรียนเป็นเรื่องที่สนุก ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ขณะนี้ทาง TK park และบริษัทฯ กำลังเตรียมจัดทำห้องสมุด 3 มิติขึ้นบนพื้นที่ ชั้น 8 TK park เพื่อเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเด็กยุคดิจิตอล หันมารักการอ่านมากขึ้น

“ ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล เรื่องการแจกแท็บเล็ตแก่เด็กนักเรียน เพราะการแจกอุปกรณ์เข้าไปเสมือนเป็นการช่วยกระตุ้น ให้เกิดการสร้างคอนเท้นท์หรือเนื้อหาดีๆ ให้เกิดขึ้น ที่จะทำให้เด็กไทยได้รับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเรียนรู้ ซึ่งเรื่องนิ้คงต้องฝากถึงภาครัฐเกี่ยวกับการผลิตเนื้อหาที่จะใส่เข้าไปใน แท็บเล็ตที่แจก ในส่วนของภาคเอกชนเองก็ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจกับการพัฒนาเนื้อหาเพื่อก่อ ให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับสังคม อย่างนึกถึงการค้ากำไรเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้ความรู้ให้คำแนะนำแก่เด็กๆ ถึงการใช้แท็บเล็ตด้วยว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์” นายพรชัยกล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น