...+

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นักวิจัย SURGE รุ่นเยาว์ เล่าประสบการณ์ต่างแดน

นับ เป็นประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่แสนพิเศษ หลังจากได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาค้นคว้า และร่วมทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา"

คำบอกเล่าส่วนหนึ่งจากน้องๆทั้ง 6 คน ที่เป็นตัวแทนนักศึกษาในโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน SURGE ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เปิดโอกาสให้นิสิตระดับปริญญาตรีสาขาธรณีวิทยาและวิศวปิโตรเลียมได้ทำงานวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนต่างสถาบัน

“ทัช” (ซ้าย) พร้อมเพื่อนๆ และทีมวิจัย
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากทั้งสองสาขา ได้แก่ “พร”มนพร เมษดาคม”, “แพรว” แพรวผกา ชุมทอง” และ “เอ้” เพ็ญประภา วุฒิจักร” จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา พร้อมกับ “นิว ณฐกานต์ สัจวิทย์วิศาส”, “พิณ”-พิณไท สุชาชัยศรี” และ “ทัช” มนต์เทพ ปริมณฑลสกุล” ตัวแทนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มต้นที่ “แพรว” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นตัวแทนนักศึกษาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ว่า ทางสาขาวิชาได้คัดเลือกนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่มีเกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.5 แล้วให้เขียนประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา รวมถึงประสบการณ์การทำงาน และอธิบายเหตุผลว่า ทำไมจึงคิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนนักศึกษาแลกเปลี่ยนในโครงการดัง กล่าว

“จากนั้นทางสแตนฟอร์ดจะ พิจารณาตามคุณสมบัติ และตัดสินใจคัดเลือก ตัวแทนคณะละ 3 คน โดยกำหนดหัวข้อที่จะศึกษาให้คนละเรื่อง และมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ คอยให้คำปรึกษา โดยมีเวลาเพียงแค่ 2 เดือนในกระบวนการทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นการฝึกให้เรารู้จักจัดระบบความคิดของตัวเอง ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง และต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนดไว้"

“แพรว” “เอ้” และ “พร” ตัวแทนจากภาควิชาธรณีวิทยา
“เอ้” ยกตัวอย่างให้ฟังถึงงานวิจัยของเธอว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตอบสนองของพื้นดินที่ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวในรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากในบริเวณนั้นเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จึงทำการศึกษาในแต่ละจุดว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว พื้นดินบริเวณนั้นจะเกิดการตอบสนองอย่างไร ซึ่งหลังจากงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์เธอยังมีความคิดต่อยอดที่จะนำผลจากการศึกษาวิจัยนี้มาทดลองใช้ในประเทศไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน “พร” กล่าวว่า การได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในครั้งนี้เป็นความโชคดี เพราะเป็นปีแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการ University Partnership Program (UPP) คือ โครงการด้านการพัฒนาการศึกษาของบริษัทเชฟรอน ที่สร้างพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก ซึ่งมีมหาวิทยาลัย 18 แห่ง จาก 10 ประเทศ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการนี้

“นิว” และ “พิณ” ตัวแทนจากสาขาวิศวปิโตรเลียม
และ “นิว” ได้ขยายความของคำว่า ประสบการณ์นอกห้องเรียนแสนพิเศษในต่างแดนครั้งนี้ว่า สิ่งที่ได้กลับมาแน่นอนคือความรู้ แต่พิเศษกว่าตรงที่เป็นความรู้เชิงลึก และเป็นความรู้ใหม่ นอกจากนั้นยังได้รับประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ที่จะต้องห่างจากครอบครัว ห่างเพื่อน และถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของการใช้ชีวิตที่นั่น

"หลังจากใช้ชีวิตกับการทำงาน วิจัยในต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมและต่างภาษา เป็นเวลา 2 เดือน สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเรา คือ มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทั้งทางความคิด การแสดงออก และความรับผิดชอบ เพราะการทำงานวิจัยต้องเข้าหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษา ขอคำแนะนำ รู้จักตั้งคำถาม และวิธีหาคำตอบ ซึ่งถือเป็นการฝึกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานต่อไปในอนาคต" พิณและทัชกล่าวเสริม

น้องๆจากจุฬาพร้อมเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้นตัวแทนทั้ง 6 คน ยังฝากถึงน้องๆที่มีความสนใจในการศึกษาด้านธรณีวิทยา รวมถึงวิศวปิโตรเลียมด้วยว่า หลายคนยังเข้าใจผิดว่า คนเรียนด้านนี้เพียงเพราะต้องการค่าตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว การศึกษาทางด้าน ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้นมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะสามารถเกี่ยวโยงไปถึงเศรษฐกิจ สังคมและด้านอื่นๆได้อีกมากมาย จึงอยากให้ลองศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น