...+

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เสริมอำนาจท้องถิ่น/ประชาสังคมเพื่อปฏิรูปสังคมที่เป็นธรรม โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

รัฐไม่เพียงเป็นโครงสร้างอำนาจทรงพลังสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวงในสังคมเท่านั้น หากยังเป็นบ่อเกิดความเหลื่อมล้ำสุดขั้วทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจนนำวิกฤตการณ์ขัดแย้งแตกแยกมาสู่สังคมไทยในตลอดศตวรรษที่ผ่านมา การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำรอบด้านจึงจำต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์โดยจัดระเบียบกลไกการปกครองเสียใหม่ให้ทุกกลุ่มคนเข้าถึง

หนึ่งแนวทางปฏิรูปประเทศไทยคือการเปิดพื้นที่การเมืองและเศรษฐกิจแก่กลุ่มต่างๆ ทางสังคมโดยการกระจายอำนาจรัฐที่นอกจากจะกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงจนก้าวไม่ทันสถานการณ์สลับซับซ้อนโลกาภิวัตน์ที่การบริหารรัฐกิจอยู่ใต้อาณัติเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมระดับชาติและข้ามชาติจนเสี่ยงต่อการฉ้อฉลคอร์รัปชันเชิงนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ทุนแล้ว ยังบั่นทอนท้องถิ่นทั้งด้านดูแลตนเองและรักษาอัตลักษณ์ที่เป็นทุนฐานวัฒนธรรม กระทั่งท้องถิ่นสูญเสียอำนาจการจัดการตนเองแม้แต่ในเรื่องปากท้องให้แก่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบงำกำหนดการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จากส่วนกลาง จนท้ายสุดนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรฐกิจสุดขั้วระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ

เช่นนี้การเพิ่มอำนาจบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นและกระจายอำนาจรัฐสู่ภาคประชาสังคมตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จึงเป็นการเสริมสร้างอำนาจประชาชน ลดอำนาจสั่งการและปริมาณผลประโยชน์จากการกุมอำนาจส่วนกลางแบบ ‘ผู้ชนะได้ทุกอย่าง’ ถ้าคว้าชัยการเมืองระดับชาติ ตลอดจนลดแรงกดดันเรื้อรังของรัฐจากการเรียกร้องล้นเกินของท้องถิ่นที่ถูกส่วนกลางแก่งแย่งผลประโยชน์และกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ทุกปัญหาก็กลายเป็นประเด็นการเมืองไปในที่สุด

ส่วนหนึ่งของข้อเสนอจึงมุ่งถอดสายบัญชาการของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่นหลายด้าน โดยเฉพาะการแทรกแซงการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทั้งด้านการอนุมัติ/อนุญาต หรืออำนาจการยับยั้งข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือการถอดถอนผู้บริหารและสภาท้องถิ่น และการปรับความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่าง อปท.กับชุมชนผ่านคณะกรรมการประชาสังคมเพื่อเพิ่มพื้นที่กระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ รวมถึงกระชับเชื่อมโยงการบริหารราชการของตัวแทนในระบบประชาธิปไตยกับการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน เช่น การลงประชามติ

อีกด้านก็ทวีอำนาจการจัดการและกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาตนเองของท้องถิ่นโดยการเสริมอำนาจทางการคลังและการบริหารจัดการบุคลากรเพื่อความคล่องตัวเป็น ‘อิสระ’ สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้ ในขณะเดียวกันก็ขยายขอบเขตอำนาจของ อปท.เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรต่างๆ ดังกรณีแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือการให้สัมปทานเหมืองแร่ที่ถึงรัฐบาลจะเสนอทิศทางวางแผนต่อท้องถิ่นได้ แต่ท้ายสุดรัฐบาลก็ต้องเคารพการตัดสินใจของท้องถิ่นที่อาจต่างออกไป

นัยนี้ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจผ่านการปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้อำนาจของ อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากรัฐบาลโดยมีกฎหมายและระบบราชการรองรับ กับการรับรองบทบาทและอำนาจที่มีอยู่เดิมโดยธรรมชาติของชุมชน และการจัดสรรอำนาจใหม่ในแนวราบให้เกิดดุลยภาพระหว่างราชการกับองค์กรชุมชน/ภาคประชาสังคม ที่มีประชาชนเป็น ‘คนทำทาง’ จึงเป็นกระบวนการเดียวกันกับการขยายและพัฒนาประชาธิปไตยที่ผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ จะได้แสดงพลังเชิงสร้างสรรค์ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และถ่วงดุลการดำเนินงานของภาครัฐ

ทั้งนี้การถ่วงดุล อปท.จะทำโดยคณะกรรมการประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงประชาชนและชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจและบริหารจัดการท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยจะคัดเลือกจากผู้แทนองค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ ศาสนา และกรรมการเฉพาะกิจที่เวียนมาทำภารกิจแต่ละด้าน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย ดังกรณีการจัดการน้ำที่นอกจากมีกลุ่มผู้ใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเข้าร่วมเป็นกรรมการแล้ว การพัฒนากลไกการทำงานแนวราบเพื่อหนุนการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นต่างๆ ยังจำเป็น เพราะท้องถิ่นแต่ละแห่งดำรงอยู่ในระบบนิเวศและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กัน

ดังนั้นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อคนทุกหมู่เหล่าเข้าถึงอย่างเสมอภาค และสร้างเงื่อนไขกลไกให้ประชาชนใช้ประชาธิปไตยท้องถิ่นเป็นฐานรากในการขจัดวิกฤตความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน นอกจากจะผ่อนทอนปรากฏการณ์การรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิการจัดการทรัพยากรตนเองตั้งแต่การประท้วงของเกษตรกรจนถึงการคัดค้านนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบแล้ว การสลัดระบบรวมศูนย์ทั้งเชิงอำนาจและงบประมาณยังทำให้ประชาชนกลับมามีศักยภาพปกครองตนเองที่มิได้หมายถึงการรื้อถอนอำนาจรัฐจนกระทบความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยแต่อย่างใดด้วย

ด้วยเหตุนี้ก้าวย่างความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศไทยจึงขึ้นกับระดับความเข้มข้นของการปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่อย่างน้อยสุดก็ต้องเป็นไปตามข้อเสนอ คปร. และมติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยการขับเคลื่อนพื้นที่จัดการตนเองในทุกระดับเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามมติสมัชชา อปท.เพื่อการปฏิรูป รวมถึงการแก้ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น การปฏิรูปการจัดการที่ดิน นอกหนือไปจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และบริการสาธารณะในพื้นที่อย่างเป็นธรรมทั่วถึงเท่าเทียม

ภายใต้โครงสร้างอำนาจและกลไกรวมศูนย์ที่สั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคงสงบสุขของบ้านเมือง การถางทางสร้างสังคมเป็นธรรมที่ไม่ถูกความเหลื่อมล้ำสุดขั้วถั่งโถมจนจวนเจียนจะจมจึงต้องพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของท้องถิ่น/ประชาสังคมในฐานะ ‘คนทำทาง’ ที่จะกังวานก้องกว่าปี่กลองเลือกตั้งที่กำลังมาถึงซึ่งไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจอย่างใดทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น