...+

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หลังจาก Vote No แล้วทำอะไรต่อ? โดย ประสาท มีแต้ม

แม้ผมไม่ได้มีส่วนในการร่วมคิดใดๆ กับการรณรงค์เรื่อง “โหวตโน” หรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด แต่ผมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการโหวตโน ขอขอบคุณผู้ริเริ่ม

ตลอด 40 ปีที่ผมมีสิทธิ์เลือกตั้ง ผมก็แทบจะโหวตโนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือก ส.ส., ส.จ., อบจ. ที่ผมจำได้คงไม่เกิน 4 ครั้ง (จากทั้งหมดกว่า 20 ครั้ง) ที่ผมตัดสินใจเลือก แต่คนที่ผมเลือกก็แทบจะไม่มีใครได้รับชัยชนะ

เหตุผลที่ต้องโหวตโน เพราะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ประชาธิปไตยครับ ผมเห็นดีเห็นงามกับระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

อย่าเพิ่งงงนะครับ คล้ายๆ กับประโยคในวิชาตรรกศาสตร์ที่ว่า “คนมีสองขา แต่สัตว์ที่มีสองขาไม่จำเป็นต้องเป็นคน” ฉันใดก็ฉันนั้น หรือ “ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยเสมอไป” อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็มาจาการเลือกตั้ง แต่เป็นเผด็จการตัวยงระดับโลก

ถ้าอย่างนั้นแล้วอะไรละที่เป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นของกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย? ผมขออ้างแนวคิดของคนสำคัญที่ผมเห็นพ้องด้วย แต่ก่อนจะไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยดังกล่าว ผมขอแนะนำแนวคิดว่าด้วยการแก้ปัญหาคนจนของเขาก่อน

ท่านผู้นี้คือ อมรรตยะ เสน (Amartya Sen) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2541 เขาเป็นชาวอินเดียโดยกำเนิด แต่ไปดังในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเสนอวิธีการแก้ปัญหาความยากจน โดยเสนอว่า การมีรายได้เพิ่มเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ของการแก้ปัญหาความยากจน ที่สำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยสร้างความสามารถให้แก่ผู้คนโดยตรง เพื่อให้เขามีเสรีภาพที่จะเลือกชีวิตที่เขาต้องการ

ท่านผู้อ่านคงสังเกตได้นะครับว่า ข้อความที่ผมขีดเส้นใต้และทำตัวเอียงหนา มันช่างตรงกันข้ามกับสาระที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียงกันอยู่

การขึ้นเงินเดือนไม่ใช่ทางออกของสังคม ปัญหามันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และการขาดเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของตนเองต่างหาก โครงการเมกะโปรเจกต์ของพ่อค้าชาติ ที่ไม่สนใจวิถีชีวิตของประชาชนต่างหากที่เป็นปัญหา เช่น โรงงานถลุงเหล็กที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบแล้วส่งออกผลิตภัณฑ์ไปไหนก็ไม่รู้ แต่ทิ้งของเสียไว้ในบ้านเรา รวมถึงการแย่งแหล่งน้ำจืดไปจากเกษตรกรและใช้พลังงานที่เป็นมลพิษเช่นกัน

เห็นไหมครับว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน วิธีการมองปัญหาของนักปราชญ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวิธีการของนักการเมืองที่คิดอะไรแบบ “ลวกๆ” ที่สำคัญเมื่อได้รับเลือกไปแล้วก็ไม่ทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้เสียด้วยซิ

คราวนี้มาที่แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยว่าคืออะไร อมรรตยะ เสน ได้ให้ความหมายว่า

คือกระบวนการที่มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล

คราวนี้ลองย้อนมาดูสิ่งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยในบ้านเราว่า มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลไหม? ค่อยๆ ย้อนรอยถอยหลังไปตั้งแต่การประชุมในสภาฯ ไปจนถึงกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมือง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เขาดูฟังข้อเท็จจริงกันที่ไหนละ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงมากที่สุดมักจะได้คะแนนมากที่สุด สี่ปีในสภาฯ พวกเขาออกกฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องต้องการสักกี่ฉบับ กระบวนการในการตั้งพรรคการเมือง การบริหารภายในพรรค ได้ถูกนายทุนเป็นตัวกำหนด การคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส. ก็ใช้ระบบ “ทายาท” อย่างชัดเจน การหาเสียงก็ซื้อเอา

เมื่อกระบวนการประชาธิปไตยในบ้านเรามันผิดเพี้ยนถึงเพียงนี้ แล้วเรายังไม่รู้จักคิดเพื่อหาทางแก้ไขอะไรเลยหรือ?

ถ้ากระบวนการประชาธิปไตยมันผิดเพี้ยน แต่ปัญหาของประเทศกลับลดน้อยลง เช่น ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมลดลง คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น การคอร์รัปชันลดลง ก็ยังพอทนได้

แต่นี่มันไม่ใช่ ซ้ำร้ายมันรุนแรงกว่าเดิม ในปี 2516 คนจบปริญญาตรีรับราชการได้เงินเดือน 1,340 บาท เงินจำนวนนี้ถ้านำไปซื้อทองคำจะได้เกือบ 3 บาท หรือซื้อน้ำมันได้ 700 ลิตร แต่ปัจจุบัน ระดับเดียวกันได้เดือนละ 8,000 บาท ซื้อทองคำได้ไม่ถึงสองสลึง หรือน้ำมันแค่ 200 ลิตร แล้วจะไปหวังอะไรกับ 15,000 บาทในอนาคต

คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า หลังจาก Vote No แล้วทำอะไรต่อ?

ก่อนอื่น ต้องทำให้จำนวนผู้ Vote No มีจำนวนมากพอประมาณเสียก่อน เพื่อจะได้มีพลังเป็นมวลวิกฤต (critical mass) ให้คนเห็นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ผมเคยเปรียบมวลวิกฤตว่าเหมือนกับก้อนวัตถุหรือลูกธนูแล่นผ่านเข้าไปในน้ำผึ้งเหนียวๆ ยิ่งผ่านไปมวลมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย โมเมนตัมของมันก็จะเพิ่มขึ้น (แต่อย่าให้ความเร็วลดลงนะ) พลังงานของมันก็จะเพิ่มขึ้นด้วย กระแสโหวตโนก็เช่นเดียวกัน

แล้วจะทำอะไรกันต่อ? คำตอบก็อยู่ที่สังคมต้องมาร่วมกันคิด ในที่นี้ผมขอเสนอสั้นๆ อาจจะเป็นความคิดที่ยังติดกรอบ แต่ผมเชื่อว่าถ้าสังคมร่วมกันคิดอย่างจริงๆ จังๆ ความรู้ใหม่ก็คงจะผุดขึ้นมาเอง พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเราก็เป็นอย่างนี้

ผมขอเสนอว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ (อยู่ในกรอบ!) ว่า “ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค”

เรื่องนี้ดูกลับไปกลับมา เพราะในอดีตเราก็ไม่ได้บังคับ แต่นับจากปี 2540 เป็นต้นมา (ถ้าจำไม่ผิด) เราบังคับ นักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งเคยกล่าวทางทีวีว่า ในโลกนี้ประเทศประชาธิปไตยมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่บังคับว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ประเทศหนึ่งคือไทย อีกประเทศหนึ่งเป็นประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกา เสียดายผมจำชื่อไม่ได้

เหตุผลหรือครับ มี 2 ข้อ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งก็เพราะพรรคการเมืองกลายเป็นแก๊งมาเฟียตามที่กล่าวมาแล้ว ด้านที่สอง เพราะเชื่อใน “กฎของคนหยิบมือเดียว (Law of the Few)” ดังที่ผมเคยกล่าวถึงในคอลัมน์นี้มาแล้ว

ส.ส. เยอรมนีท่านหนึ่ง (Dr. Hermann Scheer) ทั้งๆ ที่ไม่ใช่พรรครัฐบาล แต่สามารถรวมตัวกับเพื่อนๆ อีก 2-3 คน ผลักดันกฎหมายที่มีคุณค่ามากทั้งต่อคนจนและสิ่งแวดล้อม จนประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศต้องไปทำตาม โลกในยุคการสื่อสารแบบใหม่จะเปิดโอกาสให้คนหยิบมือเดียวสามารถแสดงบทบาทของตนได้มากกว่าในอดีต สามารถสร้างมวลวิกฤตเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้ไม่มีปัญหาสำหรับ ส.ส.เขต

แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบ “บัญชีรายชื่อ” (อย่าเรียกว่า Party’s list) ผมเห็นด้วยว่าเราควรจะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส. ระดับที่คนทั้งประเทศรู้จัก เพื่อให้ “คนหยิบมือเดียว” ได้ขับเคลื่อนสังคม แต่เราจะออกแบบการเลือกตั้งอย่างไรกับคนที่ไม่สังกัดพรรค

ผมคิดไม่ออกครับ แต่มั่นใจว่าท่านผู้อ่านคงช่วยกันคิดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น