...+

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“สูตรแห่งชีวิตประจำวัน”

ที่ควรจะส่งต่อไปให้คนที่เรารัก, ห่วงใยและต้องการให้เขาหรือเธอมีความสุขทั้งกายและใจ...

เพื่อนเรียกสูตรนี้ว่าเป็น Lifebook หรือเป็น “ตำราแห่งชีวิต” ซึ่งเหมาะเจาะกับเนื้อหาและคำแนะนำที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งง่ายและตรงไปตรงมา
ใครจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่บังคับยัดเยียดกัน ไม่ต่อว่าต่อขานกัน
แต่ถ้าหากมีความมุ่งมั่นจะทำอะไรให้กับชีวิตของตนเอง ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าส่งเสริมสนับสนุนสมควรจะให้กำลังใจแก่กันและกันอย่างยิ่ง

สูตรที่ว่านี้มีง่าย ๆ อย่างนี้
๑. ดื่มน้ำให้มาก
๒. กินอาหารเช้าเหมือนราชา รับประทานอาหารเที่ยงเหมือนเจ้าชายและเมื่อถึงอาหารเย็น ให้วาดภาพว่าตัวเองเป็นแค่ขอทาน
(แปลว่ากินมือหนักที่สุดตอนเช้า , กลาง ๆ ตอนเที่ยง และ ตกเย็นแล้ว ทำตัวเป็นยาจก ไม่มีอะไรจะกิน...สุขภาพจะเป็นอย่างเทวดาทีเดียวเชียวแหละ)
๓. กินอาหารที่โตบนต้นและบนดิน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ผลิตจากโรงงาน
๔. ใช้ชีวิตบนหลักการ 3 E...นั่นคือ energy (พลังงาน)
enthusiasm (กระตือตือร้น) และ
empathy (เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก ๆ)
๕. หาเวลาทำสมาธิหรือสวดมนต์เสมอ
๖. เล่นเกมสนุก ๆ เสียบ้าง อย่าเครียดกันนักเลย
๗. อ่านหนังสือให้มากขึ้น...ตั้งเป้าว่าปีนี้จะอ่านมากกว่าปีที่ผ่านมา
๘. นั่งเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองสักวันละ 10 นาทีให้ได้
๙. นอนวันละ 7 ชั่วโมง
๑๐. เดินสักวันละ 10 ถึง 30 นาที แล้วแต่จะสะดวก ไม่ต้องเครียดกับมัน วันไหนไม่ได้เดิน ก็อย่าหงุดหงิดกับมัน
๑๑. ระหว่างเดิน อย่าลืมยิ้ม

นั่นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจที่ผสมปนเปกันได้เสมอ หากทำเป็นกิจวัตร ชีวิตก็จะแจ่มใส
แต่อย่าทำให้ตัวเองเครียดด้วยการรู้สึกผิด ถ้าหากวันไหนทำไม่ได้ตามที่วางกำหนดเวลาของตนเอาไว้
วันนี้ทำไม่ได้, พรุ่งนี้ทำก็ได้
แต่การไม่เอาจริงเอาจังกับตัวเองเกินไปไม่ได้หมายถึงการผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

สูตรเกี่ยวกับบุคลิกของตัวเองที่ควรทำคู่กับสูตรสุขภาพมีดังนี้
๑. อย่าเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับคนอื่น คุณไม่รู้หรอกว่าคนที่คุณอิจฉานั้นเขามีความทุกข์ยิ่งกว่าคุณอย่างไรบ้าง
๒. อย่าคิดทางลบเกี่ยวกับเรื่องที่คุณควบคุมหรือกำหนดไม่ได้ แทนที่จะมองโลกในแง่ร้าย, ก็ทุ่มเทกำลัง และ
พลังงานให้กับความคิดทางบวก ณ ปัจจุบันเสีย
๓. อย่าทำอะไรเกินกว่าที่ตัวเองทำได้...รู้ว่าขีดจำกัดของตัวเองอยู่ที่ไหน
๔. อย่าเอาจริงเอาจังกับตัวเองนัก เพราะคนอื่นเขาไม่ได้ซีเรียสกับคุณเท่าไหร่หรอก
๕. อย่าเสียเวลาและพลังงานอันมีค่าของคุณกับเรื่องหยุมหยิมหรือเรื่องซุบซิบ....นอกเสียจากว่ามันจะทำให้คุณผ่อนคลายได้อย่างจริงจัง
๖. จงฝันตอนตื่นมากกว่าตอนหลับ
๗. ความรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ๆ....คิดให้ดีก็จะรู้ว่าคุณมีทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องมีแล้ว
๘. ลืมเรื่องขัดแย้งในอดีตเสีย และอย่าได้เตือนสามีหรือภรรยาคุณเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีตของอีกฝ่ายหนึ่งเลย
เพราะมันจะทำลายความสุขปัจจุบันของคุณ
๙. ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าที่เราจะไปโกรธเกลียดใคร...จงอย่าเกลียดคนอื่น
๑๐. ประกาศสงบศึกกับอดีตให้สิ้น, จะได้ไม่ทำลายปัจจุบันของคุณ
๑๑. ไม่มีใครกำหนดความสุขของคุณได้นอกจากคุณเอง
๑๒. จงเข้าใจเสียว่าชีวิตก็คือโรงเรียน คุณมาเพื่อเรียนรู้ และปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตรซึ่งมาแล้วก็หายไป...เหมือนโจทย์วิชาพีชคณิต...
แต่สิ่งที่คุณเรียนรู้นั้นอยู่กับคุณตลอดชีวิต
๑๓. จงยิ้มและหัวเราะมากขึ้น
๑๔. คุณไม่จำเป็นต้องชนะทุกครั้งที่ถกแถลงกับคนอื่นหรอก...บางครั้งก็ยอมรับว่าเราเห็นแตกต่างกันได้...
เห็นพ้องที่จะเห็นความแตกต่าง ก็ไม่เห็นเสียหายแต่อย่างไร

แล้วเราควรจะมีทัศนคติอย่างไรต่อชุมชนและคนรอบข้างเราล่ะ?
๑. อย่าลืมโทรฯหาครอบครัวบ่อย ๆ
๒. จงหาอะไรดี ๆ ให้คนอื่นทุกวัน
๓. จงให้อภัยทุกคนสำหรับทุกอย่าง
๔. จงหาเวลาอยู่กับคนอายุเกิน 70 และต่ำกว่า 6 ขวบ
๕. พยายามทำให้อย่างน้อย 3 คนยิ้มได้ทุกวัน
๖. คนอื่นเขาคิดอย่างไรกับคุณไม่ใช่เรื่องของคุณสักหน่อย
๗. งานของคุณไม่ดูแลคุณตอนคุณป่วยหรอก แต่ครอบครัวและเพื่อนคุณต่างหากเล่าที่จะดูแลคุณในยามคุณมีปัญหาสุขภาพ
ดังนั้น อย่าได้ห่างเหินกับคนใกล้ชิดเป็นอันขาด

และถ้าหากสามารถดำรงชีวิตให้มีความหมายได้, ก็ควรจะทำดังต่อไปนี้
๑. ทำสิ่งที่ควรทำ
๒. อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่สวย ไม่น่ารื่นรมย์ จงทิ้ง ไปเสีย...เก็บไว้ทำไม?
๓. เวลาและพระเจ้าย่อมรักษาแผลทุกอย่างได้
๔. ไม่ว่าสถานการณ์จะดีหรือเลวปานใด เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน
๕. ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรในตอนเช้าของทุกวัน, จงลุก จากเตียง, แต่งตัวและปรากฎตัวต่อหน้าคนที่เราร่วมงาน ด้วย
(Get up, Dress up and Show up)
๖. สิ่งที่ดีที่สุดยังมาไม่ถึง
๗. ถ้าคุณยังลุกขึ้นตอนเช้าได้ อย่าลืมขอบคุณพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุณนับถือเสียด้วย
๘. เชื่อเถอะว่าส่วนลึก ๆ ในใจของคุณนั้นมีความสุข เสมอ...ดังนั้น ส่วนนอกของคุณทุกข์โศกไปทำไมเล่า?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น