...+

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เมื่อความรู้สึกรุนแรงจริงๆ

ถ้าเราใช้หลักคิดถูกดับทุกข์ได้ หมายถึง ไม่ให้คิดชั่ว
การคิดบ่น คิดบาป เป็นความคิดชั่ว
เราพยายามไม่ให้คิด..... ก็ถูกต้องอยู่
แต่ถ้ากรณีที่เกิดความคิดรุนแรง มีอารมณ์รุนแรงแล้ว
เราหยุดไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไปก่อน
ไม่ต้องพยายามให้หยุดคิดทันที
ถ้าตั้งใจจะไม่ให้คิด ก็จะยิ่งเครียดหนัก
ถ้าเป็นเช่นนี้ เราเพียงแต่มองเห็นว่า “นี่เป็นอารมณ์ เป็นกิเลส”
แล้วก็..... ปล่อย..... ปล่อยให้คิดตามสบายๆ
แต่เราก็ไม่สนับสนุนนะ
เราค่อยๆ ติดตามเฝ้าดู

คล้ายกับว่าโจรเข้ามาในบ้าน เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นโจร
แต่กำลังของเราน้อย สู้เขาไม่ได้
เราต้องค่อยๆ แอบ..... สะกดรอยตามไป
พอถึงที่เหมาะๆ มีคนมากๆ มีตำรวจมากๆ
ก็รีบตะโกนให้เขาช่วยจับ และเราก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เราปลอดภัย
เราเองไม่ต้องทำอะไร ให้เขาจัดการกับโจรเอง
เราเองก็เข้าไปในหมู่เพื่อนที่เป็นมิตร

การจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรง ก็คล้ายกัน
เราแอบตามดูความคิดด้วยใจที่เป็นกลางๆ และสุขุม
ไม่ให้ยินดียินร้าย
รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร
ให้มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า มันเป็นอารมณ์ เป็นกิเลส
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คล้ายๆ แอบดูนั่นแหละ
ค่อยๆ กำหนดรู้อารมณ์กรรมฐาน เช่น ลมหายใจ
ค่อยๆ จับ ลมหายใจ ให้แน่นขึ้นๆ โดยธรรมชาติ
เมื่อเกิดสติที่จะกำหนดรู้ลมหายใจเมื่อไร
ความไม่สงบมันก็หายไปเอง
ในที่สุดก็ถึงความสงบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น