...+

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สำเร็จ-เจ็ดดี สร้างโรงพยาบาลตำบลสะกาด กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลสะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์



เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "เพียงแค่ว่า ต้องการให้คนในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไกลหรือเข้าไปตรวจในตัวอำเภอ ทำไมต้องเป็นโรงพยาบาลตำบล ตอบง่ายมาก เพราะคน (ไข้) จากบ้านเรา ไปโรงพยาบาลสังขะ  ใช้เวลาทั้งวัน เราทำเพื่อประชาชน" นายก อบต.ตำบลสะกาด
            คำว่า ทราย ในภาษาส่วย ออกเสียงว่า สะกาด หรือ ตำบลสะกาด คนในพื้นที่ตั้งชื่อให้เรียกง่ายๆ ตามสภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่ ด้วยสภาพแวดล้อมอันเป็นที่ลาดเทและพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนที่หมดสภาพความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว  บวกกับระยะทางห่างไกลจากตัวอำเภอสังขะ ถึง 14 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางเข้าเมืองแต่ละครั้งถือว่า เป็นเรื่องที่ยากลำบาก

            เมื่อคนในตำบลเจ็บป่วย ไม่สบาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางเข้าไปรับบริการจากโรงพยาบาลในอำเภอสังขะ ครั้งละมากๆ
    เฉพาะค่าจ้าง เหมารถ ตำบลสะกาด-อำเภอสังขะ 500บาท
    ตำบลสะกาด-ตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ 800 บาท
        ราคานี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายระหว่างที่นอนรับการรักษาในโรงพยาบาล

            ด้วยเหตุผลเหล่านี้นี่เองที่ อบต.สะกาดร่วมกับประชาคมในพื้นที่ได้คิดแผนงานเสนอกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ โดยการคิดแผนงานสร้างโรงพยาบาลตำบลสะกาด ด้วยการวางแผนอย่างรัดกุมอย่างมีส่วนร่วมในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เกิดการระดมทุนขนานใหญ่ จากหน่วยองค์กรพื้นฐานต่างๆรวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,049,765.50 บาท

            นอกจากนี้ อบต.สะกาด ยังได้จัดทำแผนโครงการสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกอย่างน้อย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย , โครงการเฝ้าระวังป้องกันโรค เช่น การออกตรวจลูกน้ำยุงลาย โครงการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเรื้อรัง , วัณโรคและโรคเอดส์ โครงการเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น การจัดแข่งแอโรบิกเพื่อสุขภาพ
           
            ปัจจัยสู่ความ สำเร็จ-เจ็ดดี ที่คนสะกาดภูมิใจเสนอ
            หนึ่งดี จังหวะและโอกาสดี คือ แนวคิดของผู้นำที่ให้ความสำคัญกับหองทุนหลักประกันสุขภาพฯ "เข้าร่วมประชุมที่ขอนแก่น (ปี49) กลับมาเรียกกรรมการหมู่บ้านทั้งหมดมาประชุมเพราะเราจะได้รับเงินสนับสนุนราว 300,000 บาท เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลตำบล" นายก อบต.
            สองดี ผู้นำดี คือ ความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนสะกาด ไม่ต้องเดินทางไปรักษาตัวยามเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นระยะทางไกลและต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่าเหมารถ กองทุนหลักประกันสังคมจึงเป็นทางออกที่ดี เมื่อประชาคมสะกาดทุกคนมีความเห็นว่าจะต้องมีโรงพยาบาลประจำตำบล
            สามดี ชุมชนดีมีส่วนช่วย คือ ความสำเร็จในการดำเนินโครงการจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความร่วมมือ ร่วมใจ และเข้ามาช่วยของคนในชุมชน ช่วยเป็นเจ้าภาพ ช่วยเป็นเจ้ามือ และเป็นทั้งเจ้าของตรงตามนโยบายของ อบต. ที่ว่า "มุ่งมั่น พัฒนา ชาวประชามีส่วนร่วม"
            สี่ดี กลไกดี คือ ผลของการคิดอย่างเป็นระบบทำให้เกิดการประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระดมทุนและเจ้าหน้าที่หรือหมออนามัยเข้ามาตรวจรักษาและจัดทำโครงการเชิงป้องกันโรคกับกลุ่มผู้นำชุมชนและ อสม. ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้คนในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ
            ห้าดี ทีมดี คือ การรับรู้ การสร้างความเข้าใจโครงการ คณะทำงาน อบต.สะกาดที่เข้าศึกษาดูงานได้ทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อนำไปทำความเข้าใจแก่ประชาชน เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมเพราะทุกคนได้รับรู้ร่วมกัน
            " ผมไปดูงานที่เพชรบูรณ์เรื่องรูปแบบการจัดการ กลับมาได้ 1 อาทิตย์ ผมก็เอาผู้ใหญ่บ้านกับช่างของ อบต. ไปดูอีก เสร็จแล้วก็กลับมาวางแผนว่า เราจะทำยังไง เมื่อตกลงกันได้ก็เริ่มทำกันเลย ทำงานด้วยกันลุยด้วยกัน นายกก็ลุยด้วยกัน ไม่เคยคิดว่าใครจะสูงศักดิ์กว่าใคร มีอะไรก็ช่วยๆกัน " คำกล่าวของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกาด
            หกดี ภูมิศาสตร์ดี คือ การเดินทางที่ยากลำบาก เป็นโอกาสให้องค์การบริหารส่วนตำบลสะกาดและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดแรงใจร่วมกัน ในการร่วมกันทำโครงการโรงพยาบาลตำบลสะกาด อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองต่อการรับบริการทางด้านสุขภาพของคนในชุมชน
            เจ็ดดี ช่องทางดี คือ แรงยึดเหนี่ยวศรัทธา อันเกิดจากความรู้สึกร่วมของเวทีประชาคม
            "บ้านเรามีพระสัมฤทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของคนสะกาด คิดจะทำอะไรได้สำเร็จต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน เมื่อคนในชุมชนรักผู้นำ เชื่อผู้นำ ทุกสิ่งจะประสบความสำเร็จ ถ้าชาวบ้านเอา นายกไม่เอา หรือ นายกเอาแต่ชาวบ้านไม่เอาก็ไปไม่รอด ต้องช่วยกัน"
            เป็นคำกล่าวของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะกาด ที่กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้อย่างภูมิใจ

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วรนาถ พรหมศวร
           



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น