...+

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลังวันเกษียณ

หลังวันเกษียณ
โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์ 30 กันยายน 2553 16:45 น.
ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ข้าราชการบางส่วนคงแทบจะไม่เป็นอันทำงานทำการเพราะไหนจะต้องจัดงานอำลาอาลัย เพื่อนๆ พี่ๆ หรือกระทั่งผู้บังคับบัญชาที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ และเตรียมต้อนรับผู้บังคับบัญชาใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อแนวนโยบาย หรือบางรายก็ถูกคาดหมายให้เข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องที่คนเก่าคนก่อนได้เคยสร้าง ปัญหาเอาไว้

ถ้าเป็นผู้มีความประพฤติดีหน่อย เป็น “ไม้หลักปักมั่นคง” ให้หน่วยงานและบ้านเมือง ก็อำลาอาลัยกันไปในรูปแบบที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจดจำประทับใจมิรู้ลืม แต่ถ้าที่ผ่านมาอยู่กันแบบ “ไม้หลักปักขี้เลน” นอกจากไม่แก้ปัญหา ยังมีส่วนสร้างปัญหาให้กับบ้านกับเมือง หน่วยงาน ก็อาจจะต้องอำลากันแบบที่หลังฉาก ลูกน้องเก่าแอบจุดประทัดไล่ก็มี

ขณะเดียวกับที่หลายหน่วยงานอีกเช่นกัน มีการคาดหวังว่า เส้นตายวันเกษียณอายุราชการในปีนี้ จะทำให้ปัญหาปวดหัวในหลายหน่วยงานคลี่คลายลงได้ เพราะตัวละครที่ร่วมในการสร้างปมปัญหา เริ่มถอยออกไปอยู่นอกเวที

ในจำนวนนี้ ก็มี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรวมอยู่ด้วย ซึ่งจนถึงวันนี้ ข้าราชการระดับ 10 ที่เคยสนับสนุน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าฯ สตง.ให้ใส่เกียร์เดินหน้าลุยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็ได้ฤกษ์เกษียณอายุราชการพร้อมกันทีเดียวถึง 6 คน โดยทั้งหมดเคยเป็นกลุ่มที่โหวตด้วยเสียง 7 ต่อ 11 แต่งตั้งให้นายพิศิษฐ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าฯ สตง. ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั่นเอง

นั่นเท่ากับว่า จะทำให้ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป รองฯ พิสิษฐ์ จะไม่หลงเหลือแบ็กคอยหนุนให้ท้าย แต่จะเหลือกันแบบตัวต่อตัวกับคุณหญิงเป็ด ซึ่งน่าจะพอทำให้บรรยากาศในสำนักงานฯ สงบลงได้ระดับหนึ่ง ในระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างรอคำสั่ง ศาลปกครองกลาง คดีที่นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณีออกคำสั่ง สตง.184/2553 ยกเลิกให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส รองผู้ว่าฯ สตง. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ สตง. ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ถูกจับตามองว่าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน หนีไม่พ้นหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคง และสงบเรียบร้อยทั้งในและนอกราชอาณาจักร อย่างทหาร และตำรวจ ผู้เขียนถึงกับออกอาการขบขัน เมื่ออ่านพบคอลัมน์ เงินเงินเงิน หัวข้อ “ถอดหัวโขน” ของโพสต์ทูเดย์ฉบับวานนี้ ยกตำแหน่งกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุแห่งปีประเภททีม ให้เพื่อนร่วมรุ่นของนักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่กระจัดกระจาย อยู่ในกองทัพ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

ต้องยอมรับว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีบทบาทยิ่งตลอดช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ทั้งในสมัยที่ทักษิณเรืองอำนาจ หรือเสื่อมอำนาจ

ตั้งแต่เริ่มต้องตบเท้าห้าสิบกว่านาย สายเตรียมทหารรุ่นสิบไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจทักษิณ หรือจัดหน่วยล่ารายชื่อหนุนเพื่อนรัก ในวันขึ้นศาลสู้คดีซุกหุ้นภาคแรก ทั้งที่ส่วนใหญ่ยังสวมเครื่องแบบเป็นทหารของสถาบันฯ จนถึงขนาดที่ ผบ.ทบ.ขณะนั้นที่ชื่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เรียกไปตักเตือน

หรือในยุคแห่งความรุ่งเรืองที่ นช.ทักษิณ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี พ้นมลทินจากคดีซุกหุ้นภาคแรก จำได้ และจัดสรรโผโยกย้ายทหารตำรวจสนองกันยกรุ่น ได้ดีเป็นทิวแถว จนทำให้ข้าราชการรุ่นทักษิณเป็นที่จับตา และถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว

นอกจากบทบาทพิทักษ์เพื่อนในรูปการตบเท้าแสดงพลังข่มขู่ปรปักษ์ทางการ เมืองของนายทักษิณแล้ว ในวันที่ถูกโค่นอำนาจ เพื่อนร่วมรุ่นของทักษิณที่เตรียมจะก้าวขึ้นมากุมอำนาจสูงสุดทั้งในสาย ตำรวจ-ทหาร ก็ถูกมองว่า มีบทบาทสำคัญในการเป็นกำลังให้กับ “หน่วยต่อต้านการปฏิวัติ” หลัง 19 กันยายน 2549

สุดท้าย แม้การต่อสู้เพื่อเรียกคืนอำนาจ ทรัพย์ เงินทองของนช.ทักษิณจะยังไม่จบบริบูรณ์ และกลุ่มเพื่อนรักผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขของเขาหลายคนจะยังคงประกาศสู้เพื่อหา โอกาสกรุยทางให้เพื่อนกลับประเทศ

แต่สำหรับวันนี้อะไรหลายๆ อย่างจะได้เปลี่ยนแปลงไป ให้วิกฤตบ้านวิกฤตเมืองได้คลายความซับซ้อนลง เพื่อนร่วมรุ่นของทักษิณกลุ่มที่ว่านี้ ก็ถึงเวลาต้องลุกจากเก้าอี้ เพื่อเปิดให้คนใหม่ๆ ที่รักชาติบ้านเมืองเข้ามามีอำนาจ และเข้ามาแทนที่เพื่อเปิดทางให้สิ่งถูกต้องได้รับการสานต่อ และสิ่งไม่ถูกต้องรอคอยเวลาที่จะสะสาง เป็นวันที่ครั้งหนึ่งทักษิณก็หนีไม่พ้น และคนในระบอบเดียวกันนี้ วันนี้ก็หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน

คง ต้องรอดูว่า การเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตามวัฏจักร และตามธรรมชาติที่ว่านี้จะทำให้ปัญหาบ้านเมืองมีทางสว่างขึ้นหรือไม่ หรือสุดท้ายก็มีตัวแทน มีข้าราชการชั่วๆ กลุ่มใหม่ขึ้นมารวบอำนาจแทน ถึงตอนนั้นก็คงต้องพึ่งพระสยามเทวาธิราชช่วยปัดเป่าอีกครา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น