27 พฤษภาคม 2547 02:51 น.
โดย รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เมื่อเราพูดถึง การปฏิรูปการศึกษา สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย
มักจะได้ยินคำหรือแนวคิดแปลกๆ ใหม่ๆ ที่นึกภาพไม่ออกว่ามีความหมายว่าอะไร
เช่น การสอนแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
คงไม่ได้แปลว่าให้นักเรียนนั่งตรงกลาง
ในขณะที่ครูยังคงเขียนกระดานดำอยู่หน้าชั้น
การวิจัยในชั้นเรียนที่ครูจะต้องทำก็ไม่รู้ว่าจะตั้งโจทย์วิจัยได้อย่างไรหรือวิจัยมันคืออะไร
ต้องเขียนโครงการและรายงานเท่านั้นหรือ โรงเรียนจะต้องมีหลักสูตรท้องถิ่น
คำว่าท้องถิ่นจะตีความว่าอะไรอย่างไรจึงจะเป็นหลักสูตรท้องถิ่น
แน่นอน สิ่งใหม่แนวคิดใหม่ ย่อมสร้างความกังวลใจให้แก่ครูไม่น้อย
ในที่สุดก็ต้องเกิดคำถามว่าแล้วการพัฒนาครูจะทำได้อย่างไร
การพัฒนาครูที่ทำ ๆ กันอยู่ส่วนใหญ่มักเป็นการอบรมครั้งละหลายร้อยคน
อย่างดีก็เป็นการประชุมปฏิบัติการคือ มีภาคปฏิบัตินิดหน่อย
เงื่อนไขใหม่ที่ถูกกำหนดขึ้น ครูจะทำได้อย่างไร
ผลงานอย่างไรจึงจะเรียกว่าวิจัย
ทำอย่างไรครูจึงจะมีผลงานเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับตัวเอง
แต่ที่สำคัญคือทำอย่างไรครูจึงจะสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
และเป็นการเรียนรู้ที่รู้จักพื้นที่ของตนเองรู้จักชุมชนรอบ ๆ
สามารถคิดเป็นและเกิดสำนึกในท้องถิ่นไปด้วย
โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่ สกว. ริเริ่มขึ้นนี้มาจากคำถามต่าง ๆ
ข้างต้น วิธีการนี้กระมังที่จะช่วยให้คำตอบต่าง ๆ ได้พร้อม ๆ กัน
กล่าวคือโครงการนี้มุ่งสนับสนุนให้ครูเป็นผู้วิจัย
หมายความว่าครูเข้ามารับอีกบทบาทหนึ่งคือ
การเป็นนักวิจัยเพื่อสร้างชุดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและเยาวชน
ในการดำเนินการต้องมีการสืบค้นข้อมูลแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
ทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ศึกษาและจะนำมาทำเป็นบทเรียนมองหาหลักการและความรู้
พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ
แล้วคิดออกแบบกิจกรรมหรือการทดลองที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ดังที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้
ครูจะทำเรื่องนี้ได้ ครูก็ต้องทำตัวเป็นนักเรียนก่อน
ครูจะสอนกระบวนการวิจัยได้ครูก็ต้องผ่านกระบวนการวิจัยด้วยตนเอง
วิธีการนี้มิใช่หรือที่จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาครู
คือใช้กระบวนการวิจัยเพื่อสร้างการเรียนรู้ (Research for empowerment)
คำถามต่อมาคือทำไมต้องท้องถิ่น
เราพูดกันว่าการศึกษาต้องไม่แยกส่วนจากวิถีชีวิตหรือชุมชน
หัวใจของการให้ความรู้ท้องถิ่นคือการสัมผัส
ครูจะรู้จักท้องถิ่นเพื่อนำประเด็นของท้องถิ่นมาสร้างเป็นชุดการเรียนรู้ก็ต้องไปสัมผัสหาข้อมูล
นำมาสร้างเป็นบทเรียนให้นักเรียนได้เข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตน
การใช้ประเด็นท้องถิ่นมีหลากหลายแล้วแต่ความสนใจหรือความหมายต่อชุมชนและพื้นที่นั้น
ๆ หลายโครงการใช้เรื่องราวของธรรมชาติในพื้นที่ เช่น แหล่งน้ำกุดซิน
แม่น้ำกก น้ำพุร้อนแม่จัน
รวมถึงเรื่องราวของทรัพยากรพืชและสัตว์น้ำในพื้นที่ เช่น เรื่องเห็ด
ข้าวไร่ บ้างก็เกี่ยวกับอาชีพในท้องถิ่น เช่น เรื่องการย้อมผ้า
การชุบโลหะเงิน เหยื่อดักกุ้ง
บางโครงการก็ใช้สิ่งของอุปกรณ์พื้นบ้านมาเป็นตัวนำ เช่น
นำของเล่นพื้นบ้านล้านนาและเรื่องจักรยานปั่นไฟฟ้ามาเป็นสื่ออธิบายหลักการทางฟิสิกส์
นำโคมลอยมาสอนเรื่องราวความเป็นมาและใช้อธิบายเรื่องพลังงานความร้อน
การใช้ประเด็นในท้องถิ่นได้เชื่อมโยงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
การเรียนวิทยาศาสตร์ก็ทำให้สนุกได้และเรียนรู้ไปกับวิชาอื่น เช่น
ประวัติศาสตร์หรือภาษาไทยก็ได้
นักเรียนที่เข้ามาร่วมโครงการอาจจะยังไม่ใช่พระเอกในครั้งนี้
แต่ครูได้เรียนรู้จากเด็กๆ เหล่านั้น
การตั้งคำถาม การทำการทดลอง
และการทดลองใช้ชุดการเรียนรู้ทำให้ครูได้ข้อคิด
ข้อแก้ไขที่นำมาปรับปรุงชุดการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
เมื่อเสร็จสิ้นโครงการครูก็จะมีผลงานอันน่าภูมิใจที่ใช้สอนได้ด้วยความมั่นใจมากขึ้น
แนะนำนักเรียนได้ดีขึ้น ระหว่างทางยังเกิดโครงการของนักเรียนได้อีก
เท่านี้ครูก็คงจะหายเหนื่อยเพราะได้มองเห็นหนทางที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้
เห็นหนทางว่าจะไปแสวงหาความรู้ได้ที่ไหนเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น
เพราะความเข้าใจที่ลึกซึ้งนั้นเกิดจากการปฏิบัติและลงมือทำตลอดกระบวนการ
ถามว่าครูที่มาร่วมอยู่ในโครงการร่วม 50 โครงการ
ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ รู้สึกอย่างไรหรือคิดอย่างไร
ก็จะขอนำคำพูดของครูบางคนเท่าที่ได้สัมผัสและอ่านจากรายงานมาเล่าสู่กันฟัง
หลายข้อคิดที่ได้เหล่านี้บางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาน่าจะรู้อยู่แล้ว
แต่จริงๆแล้วคงจะเป็นความเข้าใจที่ซาบซึ้งที่เกิดขึ้นจากการสัมผัส
ครูที่เคยสอนเรื่องสาหร่ายมาเป็น 10 ปี
เพิ่งจะได้เห็นของจริงผ่านกล้องจุลทรรศน์
ครูได้พบแหล่งเรียนรู้บนพื้นที่ของตัวเองทั้ง ๆ
ที่อยู่มาชั่วชีวิตและรู้สึกละอายที่ไม่รู้จักแหล่งน้ำของคนมาก่อน
ครูได้รู้จักภูมิปัญญาชาวบ้านและเข้าใจดีขึ้นว่าเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่ออะไร
เด็ก ๆ ที่ร่วมโครงการเมื่อรู้จักแหล่งน้ำของตนก็เริ่มเกิดสำนึกและหวงแหนท้องถิ่น
อยากทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น
กิจกรรมที่ให้เด็กไปสืบสาวเอาจากผู้เฒ่าผู้แก่ก็ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่น
นอกเหนือจากเรื่องราวที่เล่าขานให้ฟังแล้ว
ครูสามารถชี้ให้นักเรียนเห็นมิติของวิชาอื่นได้
สอดแทรกคุณธรรมได้จากการศึกษาแมลงที่ให้แง่คิดกับนักเรียนว่าต้องมีการเสียสละชีวิตแมลง
1 ตัวเพื่อศึกษา แต่เราจะไม่จับแมลงไปฆ่าเอาไว้ดูเล่น
ครูคิดได้ว่านักเรียนจะเรียนรู้เมื่อเขาพร้อมที่จะรับ
ผลพลอยได้อื่น ๆ ที่ตามมาก็มี เช่น
ครูที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์สามารถท่องอินเทอร์เน็ตไปยังแหล่งความรู้ต่างๆ
ได้ สุดท้ายคือผลงานที่เป็นรูปธรรมของ
ชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ท้องถิ่นที่ทำให้ "วิชากระโดดโลดเต้นได้"
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นตอนเริ่มโครงการคงจะค่อย ๆ
สลายหายไปพร้อมกับเกิดความสุข คงไม่ใช่เพราะความโล่งอกที่ทำเสร็จๆ
ไปเสียที แต่คงเป็นความปิติยินดีที่ได้เห็นความสำเร็จ
ยินดีที่ได้เรียนรู้และคิดได้
ยินดีที่เห็นแววตาเป็นประกายของเด็กและความผูกพันกับชุมชน
ชุดการเรียนรู้บางชุดอาจได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างกว่าเฉพาะโรงเรียนเดียว
ในรุ่นแรกนี้มีครูกว่า 100 คนที่เป็นเหมือนหินก้อนแรกที่ปูทางให้คนอื่น
และคงจะเป็นเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือกันได้ต่อไป
ถ้าเครือข่ายทำนองนี้ขยายต่อไปจากชุดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ท้องถิ่นประมาณกว่า
50 ชุด ก็จะกลายเป็นร้อยเป็นพัน มี 50 ชุด
เดิมก็จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปกระบวนการเรียนรู้จึงจะต่อเนื่อง
ในฐานะที่ได้ร่วมเรียนรู้กับโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นนี้ขอขอบคุณหินทุกก้อนที่มีความกล้าเข้ามาร่วมกันบุกเบิกปูทางเดินนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น