...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กรรม! โดย แสงแดด

กรรม!

โดย แสงแดด


เป็นกรณีที่น่าแปลกอย่างมาก ที่คนไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด
ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับสูง "ยากดีมีจน!"
ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "รู้-เข้าใจ" ทั้ง "หลักการ-แนวคิด" ของ
"กฎแห่งกรรม" กันเป็นอย่างดี ตลอดจนกล้าหาญชาญชัยว่า สามารถตระหนักถึง
"กรรมดี-กรรมชั่ว" ได้อีกต่างหาก แต่พอซักถามทั้งในเชิงราบและเชิงลึกแล้ว
อาจจะตอบไม่ได้อย่างที่ทึกทักเข้าใจเองว่า "สามารถอธิบายได้!"

"กรรม" เป็นปรัชญาและเป็นคำสั่งสอนแทบจะทุกศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้
เพียงแต่ศาสนาพุทธจะมีการอธิบาย "หลักทางพระพุทธศาสนา" ได้มากกว่า
ทั้งนี้น่าเชื่อว่า ศาสนาคงจะมีกระบวนการอธิบายและสั่งสอน "หลักแห่งกรรม"
หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า "Karma" เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น
ศาสนาอื่นไม่ว่า ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม ลัทธิพราหมณ์
คงต้องมีปรากฏไว้ไม่แตกต่างจากศาสนาพุทธมากเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม "แสงแดด"
คงไม่มีความรู้ความสามารถที่จะไปอาจเอื้อมนำหลักการและแนวคิดของศาสนาและ
ลัทธิอื่นมาอธิบาย สังเคราะห์ในบทความนี้ได้ เกรงว่าจะนำเสนอผิดๆ ถูกๆ
นอกเหนือจากเป็นการละเมิดจนถึงขั้นอาจถูกเข้าใจผิด แล้วอาจจะเป็น
"บาปกรรม" ที่ส่งผลกระทบตนเองอีกต่างหาก

สังคมไทยเป็น "สังคมเก่า-สังคมโบราณ" ตลอดจนเป็น "สังคมผสมผสาน"
กล่าวคือ "อารยธรรม (Civilization)" ของสังคมไทยมีการพัฒนามาเกือบ 800 ปี
ด้วยมีการผสมผสานของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนศาสนาที่เก่าแก่
ทั้งฮินดู พราหมณ์ และพุทธ จนแทบจะแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
"ความเชื่อ" และ "พิธีกรรม" ที่จะถูกนำมาประกอบพิธีอย่างกลมกลืน
และแน่นอนที่สุด "การถ่ายทอด" ตราบเท่าทุกวันนี้ ที่คนไทยทุกเพศทุกวัย
ทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งใน "สังคมโลกยุคใหม่-สังคมโลกาภิวัตน์"
ที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีล้ำสมัยมาก แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดอยู่กับ
"ค่านิยม-ความเชื่อ" เดิมๆ
ที่ถูกถ่ายทอดมาอย่างยาวนานเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย อโยธยา
และรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

กรณี "กฎแห่งกรรม" นั้น "แสงแดด" เองขอรับสารภาพ "เชื่อ" แต่
"ไม่งมงาย" อย่างไรก็ดี ความเชื่อในเรื่องของ "คุณงามความดี" และ
"บาปบุญคุณโทษ" นั้น ต้องเรียนตามตรงว่า "ยึดมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์"
ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว
ก็เป็นกรณีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงจนแยกกันไม่ออกกับ "กฎแห่งกรรม"

"กฎแห่งกรรม" เป็น "วงเวียนแห่งสัจธรรมชีวิต"
ที่สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกใบนี้จะต้องมี "เกิด แก่ เจ็บ ตาย"
และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าผู้ใดยึดมั่นในหลักคุณงามความดี และบาปบุญคุณโทษ
ก็จะทำให้ช่วงชีวิตของมนุษย์นั้น มักจะได้ "ผลกรรม" ที่สร้างไว้ด้วย
"ถ้าทำดีมักจะได้ดีเป็นผลกรรมดี" หรือ
"ถ้าก่อกรรมทำเข็ญมักจะได้รับกรรมชั่วตอบสนอง!"

มนุษย์ปุถุชนทั่วไปเท่าที่ "แสงแดด"
ได้สัมผัสจากการพบปะผู้คนมากมายมา 50 กว่าฤดูฝน
ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้สังเกตผู้คนที่มีโอกาสพบปะกัน ทั้งใกล้ชิดบ้าง
ห่างๆ ประปรายบ้าง จะตอบได้เลยว่า "ผู้ที่ประสบความสำเร็จ" ในชีวิต
มีชีวิตที่สงบราบรื่นจนถึงขั้นอิ่มเอิบ สุขสบาย
มักจะเป็นผู้ตระหนักและประพฤติปฏิบัติตนอยู่ใน "ศีลธรรม" อันดีงาม
ตลอดจนเป็นผู้ที่มี "คุณธรรม-จริยธรรม" ที่ดี

พูด ง่ายๆ ก็หมายความว่า "ผู้ใดที่ประกอบตนเป็นคนดีมีศีลธรรม
คุณธรรม จริยธรรม" อันดีงาม ไม่เคยเบียดเบียน รังแก ข่มเหงผู้อื่น
ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบผู้ใด ตลอดจน ไม่โกงกิน ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง
ชีวิตของผู้นั้นจะเปี่ยมไปด้วย บุญ บารมี มีชีวิตที่สุขสบาย
มีแต่ผู้คนในสังคมยกย่อง สรรเสริญ อุปถัมภ์ค้ำจุน ซึ่งก่อแต่ "กรรมดี" จน
"กรรมชั่ว" ค่อยๆ มลายหายไปในชีวิตของคนคนนั้น

นั่นคือ ประสบการณ์ของ "แสงแดด"
ที่คอยเฝ้าติดตามบุคคลหลากหลายอาชีพตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น นิสิต นักศึกษา เพื่อนร่วมอาชีพ นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน
โดยเฉพาะข้าราชการ และ "นักการเมือง-นักธุรกิจ"

"ใครก็ตามที่ก่อกรรมทำเข็ญ" ย่อมต้องประสบพบเจอ "ผลกรรมชั่ว"
ที่ไล่ตามมาในที่สุด ดั่งคำกล่าวของผู้คนโดยทั่วไปว่า "กรรมติดจรวด"
หรือพูดง่ายๆ ก็หมายความว่า "ใครที่สร้างแต่กรรมชั่ว ด้วยการรังแก
เบียดเบียน โลภโมโทสัน ทุจริตคดโกง ในที่สุดก็ต้องโดนกฎแห่งกรรม"
นอกเหนือจากนั้น ยังมีการเปรยต่อด้วยว่า "ไม่ต้องไปรอชาติหน้าหรอก
ชาตินี้กรรมตามทัน!"

"การแก้เคล็ด" หรือ "แก้ดวง-สะเดาะเคราะห์"
เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมชมชอบที่จะปฏิบัติกัน
โดยเชื่อมั่นว่าจะทำให้ชีวิตที่ประสบเคราะห์อยู่นั้น จะได้เจือจาง
หรือจนถึงขั้นมลายหายสิ้นไป ถามว่า วิธีคิดในลักษณะนี้ "ผิดหรือถูก"
ก็ต้องตอบว่า "ไม่ผิดและไม่ถูก"
เนื่องด้วยถ้าได้ประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์แล้ว "สุขใจ-สบายใจ"
ก็ดำเนินไปเถอะ เพียงแต่ว่า "เนื้อหาสาระ-แก่นแท้-ตัวตน" นั้น
"สะอาดบริสุทธิ์" หรือไม่

ถ้า "แก่นแท้ตัวตน" ยังจมปลักอยู่กับ
"ความชั่วร้าย-อาฆาตพยาบาท-เคียดแค้น"
ไม่สำนึกถึงบาปบุญคุณโทษและกรรมชั่วที่ตนเองก่อไว้ พิธีกรรมใดๆ
ก็ไม่สามารถลบล้างให้เกิด "กรรมดีได้!" นอกจาก "ความสุขใจ"
ต้องเกิดจากภายในเสียก่อน พิธีกรรมต่างๆ เหล่านั้น จะเป็นเพียง
"ตัวเสริม" ให้เกิดปีติได้เท่านั้น!

"หลักของพระพุทธศาสนา" เป็นศาสนาที่มุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์
และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ให้พ้นจาก "อวิชชา :
ความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ" อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จาก "กิเลส"
ทั้งปวง กล่าวคือ "ความโลภ-ความโกรธ-ความหลง"
โดยเน้นการศึกษาทำความเข้าใจ "การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา"
และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง เห็นเหตุผลว่า
"สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีอิทัปปจจยตา"
ซึ่งเป็นไปตามความของธรรมชาติและสัตว์โลกที่เป็นไปตาม "กฎแห่งกรรม"
ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้ ชาติหน้าต่อๆ ไป
ด้วยการสั่งสมบุญบารมี ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของ "ผู้มีปัญญา"

หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
มีทั้งหลักปฏิบัติที่เป็นหลักการพื้นฐานของ
"จริยธรรมสากล-คุณธรรมสากล-ศีลธรรมสากล" กล่าวคือ "จริยธรรมสากล" คือ
การรักษาหน้าที่ตามบทบาทที่สมมติของสังคม "คุณธรรมสากล" คือ
ความดีของจิตใจตามที่สังคมคาดหวังยึดถือ "ศีลธรรมสากล" คือ
การไม่ทำร้ายรังแกกัน ความประพฤติถูกต้องตามที่วัฒนธรรมนั้นๆ ยอมรับได้
และ "ปรมัตถธรรมสากล" คือ หลักปรัชญาหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักวิชาการ

การประพฤติปฏิบัติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้ายึดมั่น
ยึดถือปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาและหลักการข้างต้น
ชีวิตก็มีแต่จะประสบความสุขความสำเร็จ และสุดท้าย คือ "จิตวิญญาณ-จิตใจ"
ก็จะ "สงบสุข!"

แต่ก็ยังมีคนบางคนที่ไม่เคยทบทวนและตระหนักเลยว่า
ตลอดระยะเวลาหนึ่งของช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้น ได้ประกอบคุณงามความดี
โดยเฉพาะ "กรรมดี-กรรมชั่ว" มากน้อยเพียงใด จึงต้องมาประสบ "เคราะห์กรรม"
เช่นนี้ โดยอาจพยายามโกหกตนเอง สร้างวิจารณญาณ และ "ภาพลวงตา-ลวงใจ" ว่า
"ข้าฯ ทำถูก!" มาโดยตลอด

จะมา "แก้เคล็ด-สะเดาะเคราะห์" กันตอนนี้
มีแต่จะจมลึกสู่ก้นบึ้งของ "กฎแห่งกรรมชั่ว" เปรียบเสมือน
"บัวที่อยู่ในโคลนตม!"

น่า จะเลิกจองเวรจองกรรม อโหสิกรรม และทำสมาธิ
ทบทวนพฤติกรรมตนเองและคณะว่า "กรรมชั่ว"
ที่ยังพอกพูนอยู่นี้เกิดจากสาเหตุใด และสมควรจะก่อ "กรรมดี" ได้หรือยัง
เพื่อประโยชน์สุขบั้นปลายชีวิตของตนเองและครอบครัว
จะได้ส่องแสงสว่างอยู่เบื้องหน้า

มิใช่ยังเคลื่อนไหว ก่อกิจกรรม "ทำกรรม-ทำเข็ญ"
ให้แก่ชาติบ้านเมือง จนอยู่กันไม่เป็นสุข โดยเฉพาะ "ตนเอง-ครอบครัว!"
และที่เลวร้ายที่สุด "ชาติบ้านเมืองแตกแยก!" จนไม่รู้ว่า "สมานฉันท์"
จะเกิดขึ้นหรือไม่

ว่าไปแล้ว "การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน!"
สมควรยึดถือปฏิบัติตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มิใช่ "ก่อกรรมซ้ำเติมประเทศชาติ!"

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085260

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น