...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ธรณีนี่นี้ใครครอง?

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


ท่ามกลางขณะประชากรโลกเท่าทวีทุกวี่วัน
ทว่าผืนแผ่นดินเพื่อเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่เพียงตกอยู่ในมือเจ้า
ที่ดิน (Landlord) น้อยราย
ซ้ำร้ายยังถูกแย่งชิงฉกฉวยด้วยวาทกรรมการพัฒนาและความมั่นคงทางอาหาร
(Food Security)
จากประเทศมั่งคั่งที่ตื่นตระหนกกับวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงกว้านเช่าและ
ซื้อที่ดินกักตุนเพื่อทำการเกษตรและนำผลผลิตที่ได้กลับไปประเทศตนเอง

เมื่ออาหารก่อเกิดจากแผ่นดิน
ผืนดินอุดมสมบูรณ์เข้าถึงแหล่งน้ำจึงมีค่าดั่งทองคำในมุมมองกลุ่มประเทศ
พัฒนาและกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)
ที่มีสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และซาอุดิอาระเบีย เป็นหัวหอก
ดังปรากฏการณ์ประเทศซูดาน
อู่ข้าวแห่งโลกอาหรับที่ถูกสองยักษ์ใหญ่ใช้พื้นที่ปลูกข้าวสาลีรวมกัน 8
แสนเฮกตาร์ ขณะเกาหลีใต้ใช้ไปถึง 6.9 แสนเฮกตาร์

อีกทั้งซาอุฯ จะลงทุนถึง 100
ล้านเหรียญสหรัฐเช่าที่ดินเอธิโอเปียปลูกข้าว ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์
สหรัฐอาหรับฯ ก็เล็งซื้อที่ดินเพิ่มในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เวียดนาม
กัมพูชา เพื่อเพาะปลูก
และจีนก็จับจ้องคองโกในการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการบริโภคอาหารและ
พลังงานชีวภาพ

นอกจากระดับรัฐบาล บรรษัทระดับโลกยังแห่ลงทุนด้านนี้ เช่น Alpcot
Agro ของสวีเดนซึ่งซื้อที่ดิน 1.2 แสนเฮกตาร์ในรัสเซีย Morgan Stanley
ซื้อที่ดิน 4 หมื่นเฮกตาร์ในยูเครน Hyundai ของเกาหลีใต้ทุ่ม 6.5
ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อถือหุ้นใหญ่บริษัท Khorol Zerno
ที่เป็นเจ้าของที่ดิน 1 หมื่นเฮกตาร์ในไซบีเรียตะวันออก ทั้งนี้
โดยการประมาณของ IFPRI
พบว่าที่ดินประเทศยากจนถูกเช่าหรือซื้อโดยต่างชาติเพื่อทำเกษตรราว 15-20
ล้านเฮกตาร์ มูลค่าแต่ละปี 20-30 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ขนาดไม่รุ่มรวยทรัพยากรยังถูกยึดครอง
แล้วไยไทยที่อุดมสมบูรณ์สุดแห่งภูมิภาคจะรอดพ้น
ดังความพยายามของประเทศบาห์เรนที่จะมาลงทุนปลูกกล้วยและข้าวในไทยโดยกระบวน
การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G) หรือที่ทักษิณ
ชินวัตรชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุฯ เข้ามาลงทุนทำนาหรือเช่าที่ดินทำนา
และส่งข้าวขายต่างประเทศ
โดยจัดตั้งบริษัทรวมใจชาวนาขึ้นมารองรับสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รวมทั้ง
GCC ยังยืนยันจะลงทุนปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ในไทยต่อไป

ด้วยถึงไทยจะมีทั้ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542
ที่ระบุชัดว่าคนต่างชาติไม่สามารถเข้ามาลงทุนทำนาทำไร่ทำสวนเลี้ยงสัตว์และ
ค้าที่ดินในไทยได้เพราะถือเป็นธุรกิจสงวนสำหรับคนไทยที่กำหนดไว้ในบัญชี
หนึ่ง และระเบียบปฏิบัติการขอได้มาซึ่งที่ดินของนิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้น
เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยให้คนไทยเป็น 'นอมินี'
ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว

หากกระนั้นในกฎกติกาที่ดูเข้าที่เข้าทางก็ยังพบช่องโหว่อยู่มากจาก
การเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถร่วมลงทุน (Joint Venture)
กับคนไทยทำธุรกิจใดก็ได้
ไม่เว้นแม้แต่เช่าหรือซื้อที่ดินไทยเพื่อทำการเกษตรถ้าถือหุ้นไม่เกินร้อยละ
49.99 เพราะที่ผ่านมามีการตั้งบริษัทรับโอนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวมาก
มายที่สาวลึกลงไปจักพบว่าเงินผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยนำมาซื้อที่ดินนั้นเป็น
ของต่างชาติ

เหนือ อื่นใดการเป็นหนอนบ่อนไส้บ่อนทำลายชาติบ้านเมืองโดยสมคบคิดกับต่างชาติสร้าง
อาณานิคมใหม่ (Neo-Colonial) ทางการเกษตรในผืนแผ่นดินมาตุภูมิ
ด้วยการฉกฉวยที่ดินไปจากมือเกษตรกรไทยตามแรงขับทางเศรษฐกิจที่อยู่เหนือ
เหตุผลผิดถูกใดๆ
โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะต้องตกเป็นลูกจ้างทำนาทำไร่ทำสวนบนธรณีที่เคยเป็นของ
ตนเอง หรือรุนแรงขนาดตกงานหรือไม่

หรือว่าการเห็นธงต่างชาติปลิวไสวในผืนแผ่นดินอู่ข้าวอู่น้ำบรรพบุรุษไม่รวดร้าวราน?

การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและสุขภาวะเกษตรกรไทยจึงต้องกระทำ
ทั้งทวงคืนความสมบูรณ์แก่แผ่นดินด้วยการลดละเลิกใช้เคมีภัณฑ์ตัวการทำลายดิน
หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และปลูกหญ้าแฝกอนุรักษ์ดินและน้ำ
เร่งกระจายที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยให้มีที่ดินของตนเอง
รวมถึงบังคับใช้กฎหมายที่กำลังมาถึงเคร่งครัด ทั้ง
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะทอนอำนาจเจ้าที่ดินและนักพัฒนาที่ดิน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองด้วยมาตรการภาษี และ
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรที่เสริมสร้างสิทธิเกษตรกร (Farmers' Rights)
ให้เข้าถึงปัจจัยผลิต เมล็ดพันธุ์ ที่ดิน และแหล่งน้ำมากขึ้น

และที่สำคัญต้องเท่าทันวาระการเมืองโลก (World's Political
Agenda) ที่ใช้เงินสด สมุดเช็ค ทนายความ
และความมั่นคงทางอาหารแย่งชิงฉกฉวยผืนแผ่นดิน (Land Grab)
ของชาติยากจนต่างๆ ไปทำการเกษตรเพื่อป้อนผลผลิตกลับบ้านเมืองตนเอง
เนื่องด้วยประเทศร่ำรวยต่างตระหนักแล้วว่าภายใต้ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี
แหล่งน้ำ และที่ดินเหมาะแก่การเพาะปลูก
ย่อมนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางอาหาร ดังถ้อยความ Mohammed Raouf
ผู้จัดการโครงการวิจัยสิ่งแวดล้อมของ Gulf Research Center
ที่ยอมรับว่าการได้ครอบครองแผ่นดินต่างชาติคือนโยบายดีที่สุดในการสร้างความ
มั่นคงทางอาหารระยะยาว
และลดงบประมาณมหาศาลจากการไม่ต้องซื้อหาผลผลิตผ่านตลาดโลก

ขณะอีกด้านกลับทอดทิ้งผู้คนในประเทศฐานผลิตอาหารไว้ในความอดอยาก
เหมือนดังซูดานและเอธิโอเปีย 2
ดินแดนแห่งภาวะทุพภิกขภัยที่ไม่อาจจัดหาอาหารให้แก่ประชากรตนเองได้เพียงพอ
เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกจับจองโดยประเทศร่ำรวย
จนจลาจลปากท้องกิ่วหิวโหยเกิดหลายครั้งคราว

ดังนั้นจะมองมุมใดก็ไม่ใกล้เคียง Win-Win
นอกเสียจากว่าประเทศคู่ลงทุนจะเข้าใจลึกซึ้งถึงนัยสำคัญของผลประโยชน์ร่วม
กัน (Mutual Benefits)
ผ่านการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มพูนผลผลิต
จนถึงสร้างงานตามข้อเสนอเชิงนโยบายของ FAO เป็นอย่างน้อย

ครั้นหวนมองไทยที่ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง
การปล่อยประชากรทุพโภชนาการคงยากมากกว่าการสมยอมต่างชาติเข้ามาเช่าหรือซื้อ
ที่ดินเพื่อทำการเกษตรโดยอาศัยการร่วมทุนกับคนไทยบังหน้า

ซึ่งถ้าพินิจเชิงลึกอาจพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 170
ล้านไร่หรือร้อยละ 53.10
ของพื้นที่ประเทศกลายเป็นของต่างชาติไปแล้วจำนวนมากจากการร่วมลงทุนที่หนุน
นำโดยคนไทยหรือบรรษัทไทยหัวใจนอมินี
ขณะผืนดินส่วนใหญ่ก็ตกเป็นของกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองหมดแล้ว
จะเหลือที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยก็น้อยนัก
ทั้งแนวโน้มยังหลุดไปเป็นของเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นภาครัฐและธุรกิจอีกด้วย

ก็ ได้แต่วาดหวังว่ารัฐบาลที่ผ่านประสบการณ์ ส.ป.ก. 4-01
มาแล้วจะเข้าใจความหมายการปฏิรูปที่ดิน (Land Reform)
ว่าไม่ใช่แค่การจัดที่ดินและมอบสิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน
ทว่ารวมถึงการบริหารจัดการให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปัจจัย 'ที่ดิน'
ต้นกำเนิดแห่งอาหารอย่างยั่งยืนด้วยการกำหนดกฎกติกาว่าด้วยการร่วมลงทุนด้าน
การเกษตรระดับ B2B และ G2G อย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ เพื่อสกัดสภาวะโลกล้อมประเทศอีกทางหนึ่ง
การเร่งแปรหลักการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทั้งมาตรา 84 (8)
ที่ให้รัฐต้องคุ้มครองผลผลิตและการตลาดของเกษตรกรให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็น
ธรรม และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปสภาเกษตรกร และมาตรา 85 (2)
ที่ให้รัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมี
กรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูป
ที่ดินและจัดหาแหล่งน้ำอย่างเหมาะสมเพียงพอ มาเป็น
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรที่มีอำนาจปฏิบัติการจริงด้านสิทธิเกษตรกร
โดยเฉพาะการเข้าถึงที่ดินจึงจำเป็นยิ่งยวด

ด้วยศักยภาพ พ.ร.บ.สภาเกษตรกร
ไม่เพียงจะทำให้ชาวนาชาวไร่ชาวสวนทำเกษตรกรรมแบบทุนนิยมได้โดยไม่โดนเอารัด
เอาเปรียบเกินไป
หากยังยับยั้งการแย่งชิงผืนดินทำกินโดยต่างประเทศหรือนอมินีคนไทยได้อย่างมี
นัยสำคัญจากการรวมเป็นเครือข่ายพิทักษ์สิทธิเกษตรกร

ด้วย ถึงที่สุดธรณีที่ก่อเกิดอาหารเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ
หาควรมีใครครอบครอง
ฉากชีวิตผู้คนล้มหายตายจากจากการอดอยากหิวโหยเพราะถูกฉกฉวยที่ดินอย่างไม่
เป็นธรรมมาแล้วอ้างความเป็นเจ้าของเพียงลำพังดั่งปัจจุบันจึงยอมรับไม่ได้
ไม่ว่ากรณีใดๆ ด้วยอาหารคือปัจจัย 4
ที่ประชากรโลกทุกคนไม่เลือกยากดีมีจนมีสิทธิเข้าถึงไม่ต่างกัน.-

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น