...+

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประชาธิปไตย ไข้หวัด 2009

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


สถานการณ์โรคระบาดไข้หวัดใหญ่
เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ใครคาดคิดไว้
และในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องใกล้ตัว มากกว่าที่ใครๆ
จะทำธุระไม่ใช่อีกต่อไป

หากเรามองปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009
ให้ไกลไปกว่าปัญหาทางการแพทย์ หรือปัญหาของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ที่รัฐจะต้องคอยดูแลป้องกันเท่านั้น

เราจะเห็นมิติของความเป็น "ปัญหาสังคม" กลมกลืนอยู่กับปัญหาเชื้อโรค

เมื่อเป็นปัญหาสังคม ทุกคนในสังคมก็จะต้องมีส่วน ต้องช่วยเหลือกัน
ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือชุมนุมของตนเอง
ช่วยเหลือสถาบันหรือองค์กรที่ตนเองสังกัด
และช่วยประเทศชาติส่วนรวมได้ในที่สุด

ถ้าเราสามารถจัดการกับปัญหาไข้หวัด 2009 ได้
เราก็จะสามารถพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเราได้เช่นกัน เพราะอะไร ?

1) ไข้หวัด 2009 มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่เลือกปฏิบัติ
แต่สามารถระบาดสู่คนทุกเพศ ทุกวัย
ทุกระดับชั้นมีโอกาสจะเข้าถึงหรือติดหวัดได้เท่าเทียมกัน
แต่เมื่อติดโรคหวัดนี้แล้ว โอกาสตายไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานและการดูแลรักษาของแต่ละคน

สมมติ ว่า หากนายแดงเป็นคนมีภูมิต้านทานต่ำ มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง
ไม่ดูแลสุขภาพของตนเอง ส่วนนายเหลืองเป็นคนร่างกายแข็งแรง
ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร มีพฤติกรรมดูแลสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี
เมื่อทั้งคู่ติดเชื้อ ปรากฏว่า นายแดงเสียชีวิต แต่นายเหลืองหายป่วย
เราไม่สามารถจะไปชี้หน้าด่าเชื้อหวัดว่า "สองมาตรฐาน" หรือ
"เลือกปฏิบัติ" ฉันใด ในประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมทางกฎหมาย
ก็ต้องใช้บังคับกฎหมายไปตามข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของแต่กรณี

2) ไข้หวัด 2009 สอนให้คนรู้จักสิทธิของตน
และสิทธิของสังคมส่วนรวม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย

เพราะคนติดเชื้อหวัด 2009 อาจคิดว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะพูด จะกิน จะนอน จะเดินทาง จะไปเที่ยว
จะทำกิจกรรมต่างๆ นานา ฯลฯ
แต่เมื่อการใช้สิทธิของตนอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ
หรือสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความอันตราย เกิดผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม
สังคมก็สามารถ "จำกัดสิทธิของบุคคลหนึ่ง"
เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
ตลอดจนสิทธิของคนอีกจำนวนมากในสังคมได้เช่นกัน

3) ไข้หวัดใหญ่ 2009 สอนให้คนใช้ช้อนกลางในการกินอาหาร
โดยเฉพาะคนไทยที่ชอบกินส้มตำ และกินกับข้าวจากจานเดียวกัน
เพราะจะป้องกันการติดเชื้อหวัดและเชื้อโรคอื่นๆ
จากการจ้วงตักอาหารจานเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการฝึกให้ใช้ หรือบริโภคทรัพยากรที่มีจำกัด
(อาหารในจานรวม) โดยการผลัดกันตัก ผลัดกันกิน ไม่แย่งชิง ไม่กินคนเดียว
ทำให้ต้องคำนึงถึงคนอื่นๆ ที่รอกินเช่นเดียวกับเราด้วย

เป็น การฝึกให้คนในสังคม
นึกถึงผู้อื่นที่ต้องกินต้องใช้ทรัพยากรส่วนรวมร่วมกัน
ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมประชาธิปไตย

4) การล้างมือและใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก เป็นเครื่องเตือนสติ เตือนใจ
ทำให้ได้คิดว่า เราจะต้องไม่ทำกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและคนอื่นๆ
ให้เสียหาย เพราะการปิดปากปิดจมูก และการล้างมือ
นอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อโรคไม่ให้แพร่เข้าสู่ตัวเองแล้ว
ยังช่วยป้องกันมิให้แพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ด้วย

หากสังคมใดมีแต่คนเห็นแก่ตัว เอาประโยชน์ของตัวเองอย่างเดียว
ไม่สนใจว่าสังคมส่วนรวมจะเป็นอย่างไร หรือคนอื่นๆ จะได้รับผลกระทบอย่าง
สังคมเช่นนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นอนาธิปไตย

การเรียนรู้ที่จะไม่เห็นแก่ตัว แต่รู้จักนึกถึงผู้อื่น
เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย

5) ไข้หวัด 2009 ระบาดข้ามประเทศ ข้ามรัฐ ข้ามพรมแดน ข้ามภูมิภาค
ข้ามจังหวัด ความเป็นประชาธิปไตยก็มีความสัมพันธ์ข้ามประเทศ ข้ามเขต
อย่างไร้พรมแดนมากขึ้นทุกวัน
ประเทศที่ไม่เคยมีประชาธิปไตยก็ติดต่อสัมพันธ์
จนต้องมีประชาธิปไตยในประเทศ แทบไม่ต่างจากการติดหวัด

ปัญหา สำคัญ คือ การรู้เท่าทัน รู้จักพิจารณาจำแนกแยกแยะ
ว่าสิ่งใด แบบไหน คือประชาธิปไตยจริงหรือจอมปลอม
เช่นเดียวกับการตรวจพิสูจน์ว่า เชื้อหวัด 2009 จริง
หรือเป็นหวัดอย่างอื่น

เชื้อหวัด 2009 อาจต้องใช้เครื่องมือไฮเทค
เข้าห้องแล็ปตรวจพิสูจน์เพื่อความแม่นยำ กำกับดูแล แต่กับประชาธิปไตย
เราสามารถใช้ "ธรรม" หรือ "ธรรมชาติ" เป็นเครื่องมือพิจารณา และกำกับดูแล
เพราะประชาธิปไตยจะต้องมีธรรมะ หรือธรรมชาติเป็นใหญ่

สังคมประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะต้องมี "สังคมธรรมาธิปไตย"

6) การระบาดของเชื้อโรค "ชีวภาพ" เกิดขึ้นในโลกมานับครั้งไม่ถ้วน

ในโลกใบนี้ สารพัดโรคเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

เราได้เรียนรู้ว่า เชื้อโรคเหล่านี้
เมื่อเกิดครั้งใดก็เกิดขึ้นหลายระลอก บ้างก็ว่า 3-5 ระลอก
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ขณะนี้ กรุงเทพฯ
กำลังอยู่ในช่วงสูงสุดของระลอกแรก แล้วกำลังจะลดความรุนแรงลง
แต่ไปแพร่เชื้อ ระบาดในต่างจังหวัดและชนบทในวงกว้าง

พื้นที่ กรุงเทพฯ อาจจะดูปลอดภัยขึ้นระยะหนึ่ง แต่ก็จะมีระลอก 2
ระลอก 3 ตามมาอีก ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดกว่า 2-3 ปี เชื้อร้ายจึงจะสร้างซา
แต่นี่ก็เป็นการคาดการณ์ด้วยความหวัง และการมองโลกในแง่ดีของผู้เชี่ยวชาญ

คำถาม คือ เราจะปล่อยให้การจัดการกับการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009
อยู่ในมือของรัฐบาล และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นหรือ

การฝากความหวังไว้ว่า จะมีวีรบุรุษ ผู้เชี่ยวชาญ หรืออัศวินม้าขาว
เข้ามาช่วยปัดเป่า หรือเสกให้ทุกคนหายหวัด
เหมือนที่เคยฝันว่าจะมีวีรบุรุษเข้ามาเสกให้ทุกคนหายจน
หรือเสกให้ปัญหาบ้านเมืองทุกอย่างยุติลง
ก็คงจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอยอีกเหมือนเดิม

การ ฝากความหวังไว้กับผู้อื่น
ดูจะเข้ากันดีกับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย เพียงแต่ครั้งนี้
คนที่เรารักกี่คน อาจจะต้องล้มหายตายจากกันไป ระหว่างที่งอมืองอเท้า
รอความช่วยเหลือ

วันนี้ ทุกคนจะต้องเข้าร่วมป้องกันตัวเองและชุมชนของตน
ร่วมป้องกันและดูแลหน่วยงาน องค์กร
และสถาบันที่ตนเองมีบทบาทหรือเป็นสมาชิก ร่วมดูแลคนติดเชื้อ คนป่วย
คัดกรองป้องกัน ทำความสะอาด ให้การศึกษาข้อมูลแก่ชุมชนของตนให้
"รู้ทันไข้หวัด 2009" เหมือนที่สังคมประชาธิปไตยไทยได้ "รู้ทันทักษิณ"

การมีส่วนร่วมของพลเมืองจึงสำคัญอย่างยิ่งในการกำจัดเชื้อร้าย
เช่นเดียวกับที่สังคมไทยเคยมีประสบการณ์ในจากจัดการเชื้อร้ายของประชาธิปไตย
จอมปลอมอย่าง "ระบอบทักษิณ" มาแล้ว

การจัดการกับปัญหา "ไข้หวัด 2009"
จำเป็นต้องได้การมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคม
ไม่ต่างกับการจัดการกับปัญหาของประชาธิปไตย

7) สื่อมวลชน จะต้องมีบทบาท และทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

การเล่นข่าวเต้ากระแส หรือแม้แต่จัดฉาก หรือเล่นข่าวแบบปิงปอง
โต้กันไป-มา เล่นข่าวสีสัน ไม่จับประเด็นสำคัญของปัญหา
โดยที่สื่อไม่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่จำเป็น
วิเคราะห์โดยจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาไข้หวัด 2009
สื่อจะเล่นข่าวแบบที่เล่นกับข่าวการเมือง ไม่ได้เด็ดขาด

สื่อจะต้องให้ข้อมูล และนำเสนอประเด็นหัวใจสำคัญในสถานการณ์นี้
คือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไข้หวัด 2009 อย่างไร
ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความรังเกียจผู้ป่วย หรือเกิดความแตกตื่น
หรือหวังแต่รอการจัดการของรัฐ แต่เพื่อความเข้าใจ
และเกิดแรงผลักดันที่จะช่วยกันแก้ปัญหานี้

8) ทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นยากรักษาไข้หวัด 2009
"โอเซลทามิเวียร์" หรือ วัคซีนที่อาจจะผลิตได้ ก็มีจำนวนจำกัดมาก
ไม่เพียงพอสำหรับทุกคน และมีราคาสูง ใช้งบประมาณมาก
การป้องกันจึงมีความจำเป็นและได้ผลมากกว่า

การมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง
จะทำให้การกระจายยาและวัคซีนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตรงจุด
ตรงบุคคลที่เดือดร้อนมากที่สุด และได้รับการยอมรับ โปร่งใส เป็นธรรม

มิเช่นนั้น ผู้มีอำนาจ ผู้มีเงิน
ก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าใช้สิทธิพิเศษที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เชื้อโรค "ชีวภาพ" เฉกเช่นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009
คงจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี
จนกว่าเราจะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยธรรมชาติของมัน
หรือไม่ก็เร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน

แต่ในที่สุด ในอนาคต เชื้อวัด 2009 ก็คงจะกลายเป็นเชื้อเก่า
และจะมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

การ รู้ทันพฤติกรรมของเชื้อโรค โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
พลเมืองของประเทศ จะเป็นประสบการณ์ที่มีค่า
นอกจากจะช่วยสังคมต่อสู้กับภัยโรคระบาดได้แล้ว
ยังช่วยให้คนในสังคมเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่มีธรรมนำหน้า
หรือประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับธรรมชาติของคนไทยได้ดีขึ้น

ไม่พึ่งพิงคนๆ เดียว ไม่ถูกนำพาโดยคนๆ เดียว
และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต หากต้องเจอกับเชื้อร้ายของหวัด
2009 หรือเชื้อร้ายของระบอบทักษิณ ที่อาจจะกลายพันธุ์กลับมาอีกครั้ง

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000084656

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น