...+

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

อากาศร้อน..กินอย่างไร..ไม่ให้ร้อน/เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี

หน้าร้อนปีนี้ มา เยือนเร็วกว่าที่เคยนะคะ สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว
ทำให้หลายคนเกิดอาการเบื่ออาหาร อากาศร้อนยังทำให้อารมณ์เสีย
หงุดหงิดได้ง่ายอีกด้วย การเลือกรับประทานอาหารให้ดี
นอกจากจะช่วยคลายร้อนแล้ว ยังช่วยให้อารมณ์เย็นขึ้นได้อีกด้วย

หลายคนใช้วิธีดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ หรือรับประทานไอศกรีม
ซึ่งจะช่วยแก้กระหายคลายร้อนได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
แต่จะไม่ช่วยให้ร่างกายเย็นลงจากสภาพอากาศร้อนรอบๆ ตัวได้
ทางที่ดีควรอาบน้ำให้เย็นชื่นใจหรือรับประทานอาหารที่ช่วยให้ร่างกายระบาย
เหงื่อได้โดยตรง

อาหารประเภทเนื้อสัตว์และไขมัน
เป็นอาหารที่ต้องใช้พลังงานในการย่อยและการนำไปใช้สูงกว่าผักและผลไม้
การที่ทางเดินอาหารทำงานหนัก จะเกิดความร้อนขึ้นในร่างกาย
อาหารประเภทเนื้อและไขมัน รวมถึงอาหารทอด
จึงเป็นอาหารที่รับประทานแล้วจะเกิดอาการแน่นท้อง อึดอัด ย่อยยาก
ทำให้รู้สึกร้อนมากขึ้น ไม่ควรรับประทานมากในหน้าร้อน

ส่วน อาหารที่ไม่สร้างความร้อนเพิ่มขึ้น คือ
ผักและผลไม้ที่ไม่มีแป้งมาก ดังนั้น
จึงควรเน้นรับประทานผักและผลไม้เป็นหลักมากกว่าอาหารจำพวกแป้งและเนื้อสัตว์
ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้พลังงานมากเกินความจำเป็นหากรับประทานมากเกินไป


พืชผักที่เหมาะจะรับประทานในหน้าร้อน ยกตัวอย่างเช่น
- มะระ เป็นยาดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย แก้ร้อนใน
- ฟักเขียว มีฤทธิ์เย็น คนจีนนิยมทำเป็นยาถอนพิษ ขับร้อนใน
- ผักกาดขาว ช่วยแก้อาการร้อนในได้
- ปวยเล้ง เป็นยาเย็น ช่วยขับร้อน แก้กระหาย
- ถั่วเขียว มีฤทธิ์ขับร้อนใน แก้กระหาย

นอกจากนี้ เครื่อง เทศ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นทั้งอาหารและเป็นยา
ก็ยังช่วยคลายร้อนได้โดยอาศัยความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ
การกินเผ็ดทำให้มีเหงื่อออก
เป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดีวิธีหนึ่ง
ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
หลายประเทศในแถบร้อนจึงรับประทานอาหารรสเผ็ด เช่น แกงเผ็ด ผัดเผ็ดต่างๆ

ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ รับประทานทีละน้อย แต่รับประทานบ่อยๆ
เมนู ที่นอกจากจะกินอร่อย ได้ประโยชน์ และยังช่วยคลายร้อนได้ ได้แก่
แกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ต้มโคล้ง ยำต่างๆ น้ำพริกผักจิ้ม ก๋วยเตี๋ยวน้ำ
ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ส่วนของหวานก็ได้แก่ น้ำแข็งใส เฉาก๊วย ผลไม้ลอยแก้ว
เลือกที่ไม่ใส่กะทิ

อากาศร้อนๆ คงไม่มีใครอยากดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ กันเท่าไรนัก
แต่การดื่มเครื่องดื่มร้อน อย่างเช่น ชาร้อน จะทำให้เหงื่อออก
ซึ่งเมื่อเหงื่อระเหย จะทำให้เกิดความเย็น แต่ก็ไม่ควรดื่มมากเกินไป
เพราะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีน้ำสมุนไพรที่มีสรรพคุณคลายร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เช่น
- ใบบัวบก แตงโม ใบเตย ใบสะระแหน่ ช่วยดับกระหายและคลายความร้อนในร่างกาย
- น้ำตะไคร้ ช่วยขับเหงื่อ
- น้ำกระเจี๊ยบ ช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก
- น้ำมะนาว ช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า และขับเสมหะ
- น้ำมะพร้าว ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
- น้ำมะตูม เป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มในหน้าร้อนมาแต่โบราณ
เพราะนอกจากจะมีกลิ่นหอมชื่นใจ ช่วยแก้กระหายได้แล้ว
ยังมีสรรพคุณในการทำลายเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง
- น้ำยาอุทัย เหยาะใส่น้ำเย็น ดื่มแล้วชื่นใจ มีสรรพคุณเช่นเดียวกับน้ำมะตูม

นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่ช่วยย่อยอาหาร ขับลม
แก้อาการแน่น จุก เสียด ได้อีกด้วย หากไม่ชอบน้ำสมุนไพร
อาจเปลี่ยนเป็นน้ำผลไม้คั้นสดๆ ไม่ใส่น้ำตาลและเกลือ หรือใส่แต่น้อย
ก็จะช่วยแก้กระหายคลายร้อนได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดหรือออกกำลัง
กายกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร หรือประมาณ 4-6 แก้ว
แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม แต่อย่าดื่มมากไปจนกระทั่งเกิดอาการจุก
และควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 1-2 แก้ว
เมื่อต้องออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด


ติดตามฟังรายการ "Happy & Healthy"
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น