...+

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

โฆษกกรมสุขภาพจิตชี้หญิงตกงานไม่น่าห่วงเท่ากับชาย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
โฆษกกรม สุขภาพจิต ชี้
ยูเอ็นนำผู้ชายร่วมรณรงค์ลดความรุนแรงต่อผู้หญิง
จะช่วยลดการใช้ความรุนแรงอย่างได้ผล
ส่วนกรณีผู้หญิงเสี่ยงตกงานมากกว่าชายนั้น ไม่น่าห่วง
เพราะผู้หญิงมีโอกาสได้งานมากกว่า
แนะมองวิกฤตเป็นโอกาสให้นำความรู้กลับไปสร้างรายได้ที่บ้านเกิด
ส่วนกรณีผลโพลระบุคนไทยสุขลดลงอย่าไปวิตก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต
กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ว่า
ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ชายถือเป็นเพศที่ครองอำนาจมาทุกยุคสมัย
สาเหตุจากสรีระ และจิตวิทยาที่ผู้ชายได้เปรียบในทุกด้าน
เปรียบเสมือนคนตัวใหญ่กว่ามักเอาเปรียบคนตัวเล็ก ในวันสตรีสากลปีนี้
ทางสหประชาชาติพยายามรณรงค์ความเท่าเทียมกันในชายหญิง
โดยให้ผู้ชายออกมาร่วมรณรงค์ไม่ใช่ให้ฝ่ายหญิงออกมาเรียกร้องเพียงฝ่ายเดียว
เพื่อหวังลดความรุนแรงที่มีอยู่ในมุมโลก และตนคิดว่าน่าจะได้ผล
ส่วนในทางจิตวิทยาเอง ก็จะสร้างความสมดุล กล่าวคือ
การสอนให้ผู้ชายรู้จักกตัญญูต่อผู้เป็นแม่ ให้รู้จักใช้ความนุ่มนวล
หรือเป็นสุภาพบุรุษต่อผู้หญิง ก็จะช่วยสร้างความน่าอยู่ในสังคมต่อกัน

นพ.ทวีศิลป์
ยังกล่าวถึงกรณีมีผู้หญิงจะถูกเลิกจ้างและตกงานมากกว่าชายว่า
โดยส่วนใหญ่จำนวนผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ
หรือโรงงานมักเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว
เมื่อเกิดการเลิกจ้างทำให้มองว่าจำนวนหญิงมากกว่าชาย
แต่หากเกิดตกงานจริงๆ
ตนอยากให้มองว่าผู้หญิงเป็นแรงงานที่มีทางเลือกหรือมีโอกาสทำงานได้มากกว่า
ผู้ชายเพราะงานบางประเภทไม่เหมาะสมกับผู้ชาย เช่น การนวดสปา การทำขนม
การจักสาน งานประดิษฐ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม
หากวิเคราะห์ทางด้านจิตใจจะพบว่า ผู้หญิงจะมีความอดทนมากกว่าผู้ชาย
สามารถรับภาระทั้งทำงานนอกบ้านและดูแลคนในบ้านไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ อยาก ให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหันกลับไปภูมิลำเนาเดิม
นำความรู้ที่ได้จากขณะที่ทำงานทั้งการอบรมด้านต่างๆ การบริหารจัดการ
กลับไปพัฒนาในชนบทให้เจริญ แถมไม่ต้องแบกภาระที่ไม่จำเป็น เช่น
ค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนคอนโดมิเนียม การไม่ก่อหนี้
และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาก่อให้เกิดรายได้ รู้จักปรับตัว
ประหยัด ก็สามารถจะดำรงชีวิตได้อย่างดี

นพ.ทวีศิลป์
ยังกล่าวถึงผลสำรวจที่พบว่าความสุขของประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงว่า
เมื่อ ประชาชนได้รับรู้ข่าวว่าความสุขของคนไทยลดลง
ให้กลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่า ความสุขตัวเองเป็นอย่างไร
อย่าวิตกกังวลไปตามผลสำรวจมากนัก
เพราะแม้บางครั้งผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจะพบว่าความสุขลด
แต่ในระดับบุคคลอาจไม่เหมือนกัน
บางหัวข้อที่สำรวจบางคนอาจสุขอยู่แต่บางคนอาจทุกข์
ทั้งในเชิงร่างกายและจิตใจ เชิงเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม ยกตัวอย่าง
ถ้าพบว่าตนไม่สุขจากเรื่องเศรษฐกิจก็ต้องปรับตัว และบอกกล่าวครอบครัว
ให้ใช้น้อยลง หามากขึ้น
หากไม่สุขกับความสัมพันธ์คนในครอบครัวก็หันมาดูแลเอาใจใส่ครอบครัวกันมาก
ขึ้น หรือตอนเช้ารับข่าวสารว่าหุ้นต่างประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ล้ม
ส่งผลให้จิตใจห่อเหี่ยว เพราะกลัวส่งผลต่อประเทศไทย

แต่ ในความแย่ ให้มองว่ายังมีอีกหลายบริษัทใหญ่ๆ ที่ดีอยู่
ถ้าเสียกำลังใจ ขอให้เลิกรับข้อมูลข่าวสารสักระยะ หันมาจัดการตัวเอง
อย่าให้เครียดเกินไป อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรมสุขภาพจิตโดย นพ.ชาตรี บานชื่น
อธิบดีกรมสุขภาพ
ได้จัดโครงการดูแลประชาชนในยามวิกฤติเศรษฐกิจโดยใช้แนวคิด "อึด ฮึด สู้"
คือ ให้รู้จักอดทน ไม่ทำร้ายตัวเองจากภาวะวิกฤติ นำพลังในตัวเองออกมา
หรือให้ศึกษาคนที่ล้มเหลวจนผ่านความยากลำบาก ใช้พลังจิตใจตน คนในครอบครัว
และเพื่อนร่วมกันต่อสู้เอาชนะปัญหา
เพื่อดำรงชีวิตต่อไปให้ได้อย่างปกติสุข

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000026457

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น