...+

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:เอสเอ็มอี ไทยในแอฟริกาใต้เส้นทางของผู้หญิงไทยชื่อ ทิพวรรณ ผลวิริยะธรรม

โดย วรรณนิภา พิภพไชยาสิทธิ์,สุนันทา อักขระกิจ


"ต้มยำ" เป็นชื่อร้านอาหารไทยขนาดกลาง ความจุประมาณ 50 โต๊ะ
ในเมืองเคปทาวน์
ซึ่งเป็นเมืองท่าทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศแอฟริกาใต้
และเป็นที่ตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ร้านต้มยำเปิดมาได้ประมาณ 7
ปีแล้ว ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องจากคนแอฟริกาใต้
โดยมีเมนูยอดนิยมอย่างเช่น เป็ดห่อแพนเค้ก ซึ่งดัดแปลงมาจากอาหารจีน
ผัดเปรี้ยวหวาน แกงเขียวหวาน ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

คุณทิพวรรณ ผลวิริยะธรรม เจ้าของร้านเล่าว่า
ร้านนี้ใช้เงินลงทุนแรกเริ่ม 2 ล้านบาท มีพื้นที่ 130 ตารางเมตร
ออกแบบตกแต่งอย่างเรียบง่าย แล้วค่อยๆ ต่อเติมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
การเปิดร้านอาหารในแอฟริกาใต้นั้น ไม่ยุ่งยากอะไรนัก
เพียงแต่ไปขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหรือBusiness Licence จากทางการ
ซึ่งจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบด้านความปลอดภัยของอาคารที่ตั้ง
ระบบป้องกันไฟไหม้ ทางหนีไฟ เรื่องของความสะอาด
โดยเฉพาะห้องน้ำที่จะต้องมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการด้วย
ถ้าทุกอย่างถูกต้องตามข้อกำหนด
ก็จะได้รับใบรับรองดังกล่าวเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป

นอกจากนี้
ถ้าเป็นร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ก็ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายแอลกอฮอล์ด้วย
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปีถึงจะได้รับ
เพราะต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าจะเปิดร้านอาหารที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์
ด้วย ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะมีใครคัดค้านหรือไม่
เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาแล้ว
หากไม่มีผู้คัดค้านก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลพิจารณาอีกครั้ง
ซึ่งศาลจะรับเรื่องเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น คือ
เฉพาะสัปดาห์แรกของเดือน

เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องความล่าช้า
จึงมีการอนุโลมให้ยืมใบอนุญาตของร้านอื่นมาใช้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้
โดยต้องชำระเงินให้เจ้าของใบอนุญาตจริงเป็นรายวัน
จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตของตัวเอง
เมื่อได้มาแล้วต้องชำระค่าธรรมเนียมในการต่ออายุทุกปี

สำหรับประเทศแอฟริกาใต้นั้น ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา
เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับยุโรป
จึงมีคนอังกฤษและชาวยุโรปผิวขาวอื่นๆ เข้าไปตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซึ่งเป็นคนของทางการอังกฤษดำเนินนโยบายเหยียดผิวอย่างเข้มงวด
จนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงกับคนท้องถิ่นซึ่งเป็นคนผิวดำ
องค์การสหประชาชาติจึงมีมติให้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับแอฟริกาใต้

จนถึงปี 2533 ปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิวจึงยุติลง
เมื่อรัฐบาลคนผิวขาวยอมให้คนผิวดำมีสิทธิเท่าเทียมกันในทุกเรื่อง
รวมทั้งสิทธิทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงแล้ว
คนผิวขาวกับคนผิวดำก็ยังแยกกันอยู่
แต่ประเทศแอฟริกาใต้มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสูง
มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
และเป็นประเทศที่มีผู้นิยมไปท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ คุณทิพวรรณ
อาจจะนับได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกๆ
ที่ไปอยู่ที่แอฟริกาใต้และเป็นคนไทยที่อยู่มานานที่สุด

โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ประเทศไทย
คุณทิพวรรณ ได้ทำงานทั้งด้านโรงแรมและบริษัททัวร์
ซึ่งบริษัททัวร์แห่งสุดท้ายที่ทำงานด้วยนั้น
เป็นบริษัทที่นำนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปยังประเทศแอฟริกาใต้และประเทศ
ใกล้เคียง โดยผ่านบริษัทคู่ค้าหลังจากดำเนินการมาได้ประมาณ 5 ปี
บริษัทมีการขยายงานโดยการไปเปิดสาขาที่ประเทศแอฟริกาใต้
คุณทิพวรรณจึงขออาสาไปอยู่ในฐานะมัคคุเทศก์
แต่การเปิดสาขาของบริษัททัวร์ต้องประสบปัญหามากมาย เนื่องจากในช่วงปี
2540 เกิดวิกฤตเรื่องค่าเงิน ทำให้ธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
แต่บริษัทก็ยังเปิดดำเนินการอยู่ เนื่องจากได้ลงทุนไปแล้ว
และบริษัทยังขยายการลงทุนโดยการเปิดร้านอาหารไทย
จึงได้ทำงานทั้งในบริษัททัวร์ และทำงานในร้านอาหารไทยควบคู่ไปด้วย
ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

หลังจากร้านอาหารที่ทำงานอยู่หมดสัญญาจ้างงาน
คุณทิพวรรณจึงหันไปทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยไปขายในแอฟริกาใต้อย่าง
จริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2543 เป็นต้นมา
ในช่วงแรกนั้นเริ่มจากการเลือกซื้อเสื้อผ้าจากประตูน้ำ
แล้วนำไปส่งให้กับร้านขายปลีก ซึ่งได้รับความสนใจมาก
และสามารถขายได้ในราคาที่ค่อนข้างสูง
ในแต่ละปีจึงต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อซื้อเสื้อผ้าไปขาย 5 - 6 ครั้ง
จากเดิมที่ซื้อครั้งละไม่มาก ใช้วิธีหิ้วขึ้นเครื่องกลับไปขาย
เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
จนต้องสั่งสินค้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ยังได้ขยายไปยังสินค้าอื่นๆ
แต่ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง คือ การนำเข้าอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร
กะทิ เครื่องแกง น้ำมันหอย ซอสต่างๆ ฯลฯ

สำหรับมูลเหตุที่มาเปิดร้านอาหารไทยนั้น เป็นเรื่องบังเอิญคือ
หลังจากออกจากร้านอาหารที่เคยทำอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน
เริ่มมีความรู้สึกว่าลำบากมาก ในการหาอาหารไทยรับประทาน
จะออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านทุกวันทุกมื้อก็แพงเกินไป
จะทำเองก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และที่สำคัญคือไม่อร่อย

ดังนั้นจึงเกิดแรงเชียร์จากเพื่อนร่วมงาน
ซึ่งเป็นพ่อครัวที่ทำงานในร้านเดิมว่า
ถ้าลำบากในเรื่องอาหารการกินก็ให้เปิดร้านอาหารเป็นของตัวเองเลย
เพราะอยู่ที่นี่มานานแล้ว รู้ว่าคนที่นี่ชอบอาหารแบบไหน ควรบริการอย่างไร
โดยอาสาที่จะช่วยทำด้วย ทำให้เบาใจเรื่องพ่อครัว เพราะรู้ฝีมือกันอยู่
โดยเริ่มแรกคิดจะเปิดเป็นร้านประเภทซื้อกลับบ้านหรือ Takeaway เท่านั้น
เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน และไม่อยากให้เป็นภาระมาก
เพราะมีงานหลักอยู่ที่การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย

เมื่อได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า
จะเปิดร้านอาหารไทยจึงเริ่มตระเวนหาสถานที่
โดยจากประสบการณ์ที่อยู่มานานทำให้รู้ทิศทางของตลาดว่าเป็นอย่างไร
ผู้คนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบไหน
ลูกค้าในระดับใดบ้างที่เป็นที่ต้องการของร้าน
รวมทั้งเรื่องความสะดวกในการเดินทางไปทำงานเป็นอีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึง
เนื่องจากการทำงานร้านอาหารต้องเลิกดึก
ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

สำหรับที่ตั้งของร้านที่ได้ตกลงเลือกนั้น
ถือว่าอยู่ในบริเวณที่ดีของเมืองเคปทาวน์ และอยู่ใกล้ทะเล
เดิมบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของคนขาวทั้งหมด
และบริเวณนี้ยังเป็นย่านคนร่ำรวยอีกด้วย
เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้วยังต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้คนในแถบนี้ด้วยว่าเขามี
ชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร รับประทานอาหารกันช่วงเวลาใด
ในหน้าร้อนหรือหน้าหนาวนิยมรับประทานอาหารประเภทไหน
เพราะคนที่นี่โดยส่วนใหญ่จะชอบจัดงานปาร์ตี้ต่างๆ มาก

การศึกษาหาข้อมูลทำความรู้จักกับพฤติกรรมผู้บริโภค
นับเป็นปัจจัยข้อหนึ่งที่ทำให้ร้านต้มยำประสบความสำเร็จ
แต่จุดแข็งที่สำคัญคือ
การที่เป็นมัคคุเทศก์คนไทยในประเทศแอฟริกาใต้ทำให้รู้จักคนมาก
ปัจจุบันก็ยังเป็นมัคคุเทศก์อยู่
เพราะร้านอาหารอยู่ตัวแล้วไม่ต้องดูแลมาก

นอกจากการเป็นมัคคุเทศก์ และเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยแล้ว
ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่คุณทิพวรรณวางแผนว่าจะดำเนินการคือ
การเปิดร้านนวดแผนโบราณ หรือ Thai massage ซึ่งถ้าบอกว่าเป็น Thai
massage ชาวต่างชาติจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลและทำเลที่ตั้ง ก่อนเปิดดำเนินการ

ส่วนการแข่งขันกันเองระหว่างคนไทยด้วยกันนั้นก็ยังมีไม่มาก
เนื่องจากคนไทยที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในแอฟริกาใต้ยังมีเป็นจำนวนน้อย
ส่วนใหญ่เป็นสปาและนวดไทยอยู่ด้วยกัน มากกว่าจะเป็นนวดไทยอย่างเดียว

คุณทิพวรรณยังบอกอีกว่า ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่น่าอยู่
และน่าลงทุนมาก เพราะมีศักยภาพในด้านต่างๆ พร้อม
และคนผิวขาวยังมีกำลังซื้ออีกมาก
รวมทั้งชาวพื้นเมืองรุ่นใหม่เริ่มชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลให้การส่งเสริมทำให้ตลาดกว้างขวางขึ้น

สำหรับปัญหาที่พบในการประกอบธุรกิจในประเทศแอฟริกาใต้มีหลายประการ
เช่น ความล่าช้าของธนาคาร และความเฉื่อยชาของคน
เนื่องจากนิสัยการทำงานของผู้คนที่นี่โดยเฉพาะชาวพื้นเมืองจะค่อนข้างช้า
การสั่งงานควรสั่งทีละงาน อย่าสั่งพร้อมกันเด็ดขาด
เพราะจะไม่ได้งานอะไรเลย
และทุกปีตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมไปจนถึงกลางเดือนมกราคมที่แอฟริกาใต้จะหยุด
งาน 1 เดือน ซึ่งในช่วงนี้จะไม่สามารถติดต่อหน่วยงานที่เป็นภาคธุรกิจเอกชนได้
หากต้องการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ
ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนกลางเดือนธันวาคม

ปัญหาที่ยุ่งยากอีกข้อหนึ่งคือ เรื่องการจ้างแรงงาน
เนื่องจากเขาต้องการรักษาผลประโยชน์ของชาวพื้นเมือง
ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก
และการทำงานมักเกิดการประท้วงขึ้นบ่อยครั้ง
โดยจุดประสงค์หลักของการประท้วงคือ ต้องการค่าแรงเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องจ้างงานชาวพื้นเมืองแล้ว
จะต้องมีการทำสัญญาว่าจ้างให้ละเอียด ชัดเจน ถูกต้อง และรัดกุมมากที่สุด
เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลัง
และการจะไล่พนักงานออกไม่ใช่เรื่องง่าย
โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมแรงงานเข้ามาตรวจสอบเอกสารต่างๆ
อย่างละเอียดว่าเอกสารครบถ้วนที่จะทำการไล่พนักงานคนนั้นออกได้หรือไม่

นอก จากนี้ยังควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย
อย่าไว้ใจคนมากเกินไป อย่าหวังพึ่งตำรวจ ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด
เช่น ต้องติดสัญญาณกันขโมย
และใช้บริการของบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ต้องชำระค่าบริการเป็นรายเดือน
ซึ่งตรงนี้สามารถช่วยได้ และเป็นสิ่งที่เราต้องทำ
เพราะถ้าไม่ทำบริษัทประกันจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000026507

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น