++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิธีแก้ไขกามฉันทะ

ในอรรถกถา พระไตรปิฎกได้กล่าวถึงการละกามฉันทะ ด้วยวิธีการ 6 ประการ7) คือ

1.การเรียนอสุภนิมิต

2.การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา

3.ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์

4.ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ

5.ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

6.การกล่าวถ้อยคำแต่ที่เป็นสัปปายะ

1.การเรียนอสุภนิมิต คือ ศึกษาความไม่งามในร่างกาย โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นของน่าเกลียดในร่างกายของตนเองและคนอื่นว่า กายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าจนจดปลายผมเต็มไปด้วยของไม่สะอาด ปฏิกูล ไม่งามทั้งสิ้น

แท้จริงร่างกายของคนเรานั้นเต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่างๆ อยู่ภายใน และมีของไม่สะอาดไหลออกจากกายนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีทวารหรือช่องสำหรับถ่ายเทของไม่สะอาดออกจากร่างกายนี้อยู่ 9 ช่องคือ มีขี้ตาไหลออกจากตาทั้ง 2 มีขี้หูไหลออกจากหูทั้ง 2 มีน้ำมูกไหลออกจากกระพุ้งจมูกทั้ง 2 มีขี้ฟัน เลือดและอาเจียนไหลออกจากปาก มีปัสสาวะไหลออกจากทวารเบา มีอุจจาระไหลออกจากทวารหนัก นอกจากทวารทั้ง 9 นี้แล้วยังมีเหงื่อไหลออกจากรูขุมขนซึ่งท่านกล่าวว่ามีถึง 99,000 ขุม

ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ และยังเต็มไปด้วยซากศพนานาชนิดที่มนุษย์รับประทานเข้าไป เช่น ศพเป็ด ศพไก่ ศพกุ้ง ศพปลา ศพวัว และศพควายเป็นต้น ซ้ำยังมีเชื้อโรคนานาชนิดอาศัยเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในร่างกายนี้ ร่างกายนี้จึงเป็นรังแห่งโรค

ความไม่สะอาดในร่างกาย หากเราพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญา เราก็จะเห็นได้ชัดเจน เช่น ถ้าเจ้าของร่างกายไม่อาบน้ำเพียงวันเดียวโดยเฉพาะฤดูร้อนจะมีกลิ่น ยิ่งปล่อยไว้นานวันยิ่งเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น แม้เจ้าของกายเองก็ไม่ชอบใจ เมื่อพูดกันตามความจริงแล้ว กายนี้มองดูว่าสวยก็เพราะมีผิวหนังปิดไว้และเครื่องอาภรณ์ปกปิดไว้ต่างหาก ถ้าไม่มีเครื่องอาภรณ์หรือผิวหนังปกปิดไว้ก็จะสกปรกอย่างยิ่ง ไม่มีการแตกต่างกันอะไรระหว่างร่างกายของพระราชาและคนจัณฑาล คือมีความสกปรกปฏิกูลน่าเกลียดเหมือนกันหมด ถ้าพิจารณาเห็นร่างกายว่าเป็นของไม่งามอย่างนี้จัดเป็นอสุภนิมิตก็จะทำให้กามฉันทะสงบลงได้

2.การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา คือ หมั่นเจริญอสุภะบ่อยๆ นึกถึงความน่าเกลียด และความสกปรกในร่างกายบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย และไม่เกิดความยินดีในเรื่องเพศเรื่องกาม อันจะเป็นเครื่องขัดขวางใจไม่ให้สงบนิ่ง

3.อินทรีย์สังวร คือ การสำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ โดยอินทรีย์ในที่นี้หมายถึง ช่องทางที่ติดต่ออยู่กับภายนอก ซึ่งในตัวของคนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ 6 ทาง คือ

1.ตา

2.หู

3.จมูก

4.ลิ้น

5.กาย

6.ใจ

ร่างกายก็เหมือนบ้านที่มีประตูหน้าต่างอยู่ 6 ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้ รับทราบก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ดีทำให้ใจของเราสงบผ่องใสก็มาจาก 6 ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว ก็มาจาก 6 ทางนี้เหมือนกัน ช่องทางทั้ง 6 นี้ นับว่ามีความสำคัญมาก เราจึงควรมารู้จักถึงธรรมชาติของช่องทางทั้ง 6 นี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง 68) ไว้ดังนี้

1.ตาคนเรานี้เหมือนงู คือชอบที่ลับๆ อะไรที่เขาปกปิดเอาไว้ ชอบดู ยิ่งปกปิดยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วไม่ลับแล้ว ความอยากดูกลับลดลง

2.หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำพูดเย็นๆ ที่เขาชมตัว หรือคำพูดเพราะๆ ที่เขาพูดกับเรา

3.จมูกคนเรานี้เหมือนนกในกรง คือชอบดิ้นรน พอได้กลิ่นอะไรหน่อย ก็ตามดมทีเดียว ว่ามาจากไหน

4.ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้า คือบ้าน้ำลาย ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ขอให้ได้นินทาชาวบ้านละก็ชอบ

5.กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบอิงคนโน้น ชอบจับคนนี้

6.ใจคนเรานี้เหมือนลิง คือชอบซน คิดโน่น คิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีต ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคต ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ

อินทรีย์สังวร ก็คือ สำรวมระวังช่องทางทั้ง 6 เพราะเรารู้ถึงธรรมชาติของช่องทางนี้แล้วก็ต้องคอยระวังใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดมอะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่าสวยจริงนะหล่อจริงนะ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึงเห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น คนนี้สวยจริงๆ ต้องไม่นึกถึงโดย อนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น ตาสวย ปากสวย หรือแขนสวย ขาสวย เป็นต้น

อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรีย์สังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้ อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจ ดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด ฯลฯ แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย

ผู้มีอินทรีย์สังวรดี สมาธิย่อมเกิดได้ง่าย สมาธิจะตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายในเห็นถึงสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและสามารถกำจัดไปให้หมดสิ้นได้

4.รู้ประมาณในโภชนะ อาหารที่กินเข้าไปก็มุ่งหวังเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงอัตภาพร่างกายให้ได้ดำรงคงอยู่เป็นปกติ แต่การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เช่น บริโภคมากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดโทษ มีอาการอึดอัด ไม่สบายกาย หรือทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ แล้ว ยังเป็นเสบียงกาม ทำให้กามกำเริบได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแนะนำให้อุบาสก-อุบาสิกาผู้จะปฏิบัติธรรม ให้รักษาอุโบสถศีล หรือ ศีล 8 ซึ่งมีข้อหนึ่งที่ว่าด้วยการงดเว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล หลังเที่ยงวันไป เพราะอาหารในเวลานั้น จะเป็นอาหารที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน เนื่องจากช่วงค่ำ มักเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้พักผ่อน อาหารนี้จึงถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไปสะสมเก็บไว้ ซึ่งพลังงานเหล่านี้ถ้าเราไม่ได้นำแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรม หรือการสร้างความดีต่างๆ ก็ย่อมจะเปลี่ยนเป็นพลังกามตามกระแสกิเลสที่อยู่ในใจของมนุษย์ ดังนั้น ท่านจึงแนะนำให้รู้จักการประมาณในการบริโภค ให้บริโภคแต่พอดี ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

5.ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร คือ การเข้าหากัลยาณมิตร ที่ไม่ชอบพูดเรื่องเพศ เรื่องกาม เรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือคุยเรื่องฟุ้งเฟ้อ เรื่องแต่งตัวสวยๆ งามๆ อันเป็นเหตุให้เราพลอยคิด พูด ทำ ไปเช่นเดียวกัน รวมทั้งหลีกห่างไกลจากแหล่งอบายมุข ผับ บาร์ อาบ อบ นวด สถานเริงรมย์ต่างๆ อันเป็นแหล่งมั่วสุมของสิ่งยัวยุกามให้เกิดขึ้น

6.การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ คือ พูดคุยกันในเรื่องความไม่งามของร่างกาย ที่จะทำให้เห็นทุกข์โทษภัยของความทะยานอยากในกาม รวมถึงพิจารณาให้เห็นโทษภัยของกาม และควรพูดคุยกันในเรื่องที่จะทำให้มักน้อย สันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อกับสิ่งต่างๆ ภายนอกตัว อันทำให้ใจครุ่นคิด ปรารถนา และคอยแสวงหา ซึ่งเมื่อคุยเช่นนั้นใจก็จะสงบนิ่ง มีความพึงพอใจ สุขใจในสิ่งที่ตนเองมี
2.3.2 ตามหลักปฏิบัติ

นอกเหนือจากวิธีการแก้ไขตามคัมภีร์แล้ว เรายังสามารถใช้วิธีการต่อไปนี้ช่วย เพื่อให้คลายกามฉันทะลงไปได้ คือ

1.ใช้การพิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือ ให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้นๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหา เพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

แม้ว่ากามจะก่อให้เกิดความสุข ความพอใจ ต่อเมื่อเราได้รับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เราปรารถนาและพอใจ แต่เมื่อว่าโดยโทษของกามนั้นมีมากมายหลายประการ ในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึงโทษของกามไว้ใน มหาทุกขักขันธสูตร9)ว่า

1.เมื่อบุคคลทำงานเลี้ยงชีพด้วยความขยัน ด้วยศิลปะต่างๆ ผู้ทำงานต้องได้รับทุกข์นานาชนิด เช่น ทุกข์จากการตรากตรำทำงาน ทุกข์จากความหนาว ความร้อน ลม แดด จากถูกสัตว์ เช่น เหลือบ ยุง ขบกัด จากความหิว กระหาย

2.เมื่อผู้นั้นขยัน พากเพียรทำงาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นทุกข์ ผู้ทำงานจนได้รับผลก็เป็นทุกข์ในการรักษาผลงานนั้นมิให้ถูกภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย อุทกภัย ภัยจากลูกหลานที่คอยล้างผลาญ เขาย่อมประสบความทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ เห็นว่า สิ่งใดที่เคยเป็นของเรา สิ่งนั้นก็ไม่ได้เป็นของเรา

3.กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดโทษต่างๆ เช่น เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในวงการต่างๆ เช่น พระราชาทะเลาะกับพระราชา ผู้นำประเทศทะเลาะกับผู้นำประเทศ เศรษฐีทะเลาะกับเศรษฐี ตลอดจนการทะเลาะวิวาทในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ทะเลาะกันและกัน การทะเลาะวิวาทเป็นเหตุให้ต้องประหัตประหารกัน ฆ่าฟันกันด้วยศัตราวุธต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บจนถึงเสียชีวิต และยังเป็นเหตุให้มีการทำทุจริตหลายประการทั้งกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต นี้ก็เป็นเพราะโทษแห่งกาม

นอกจากนี้ในพระไตรปิฎกยังชี้ให้เห็นโทษของกามโดยยกอุปมาขึ้นแสดงให้เห็นโทษอีกว่า มีสุขเพียงเล็กน้อย แต่มีโทษมาก10) คือ

1.เปรียบเหมือนสุนัขที่มีความเพลียเพราะความหิว เข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโค พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้ว เปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข สุนัขนั้นก็แทะร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อ เปื้อนแต่เลือด ย่อมไม่สามารถบำบัดความเพลียเพราะความหิวได้ กามทั้งหลายก็เช่นเดียวกันเปรียบเหมือนร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

2.เปรียบเหมือนแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยว พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย นกตะกรุมทั้งหลายหรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ถ้าแร้ง นกตะกรุม หรือเหยี่ยวตัวนั้น ไม่รีบปล่อยชิ้นเนื้อนั้นเสีย มันจะถึงตาย หรือถึงทุกข์ปางตายเพราะชิ้นเนื้อนั้นเป็นเหตุ กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

3.เปรียบเหมือนบุรุษถือคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟ เดินทวนลมไป ถ้าบุรุษนั้นไม่รีบปล่อยคบเพลิงหญ้านั้นเสีย คบเพลิงหญ้านั้น ก็จะไหม้มือ ไหม้แขน หรืออวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นจะถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะคบเพลิงนั้นเป็นเหตุ กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

4.เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิตไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง บุรุษนั้นย่อมไม่อยากเข้าไป เพราะรู้ว่าจะตกไปในหลุมถ่านเพลิงตาย หรือเป็นทุกข์ปางตาย กามทั้งหลายก็มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

5.เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร กามทั้งหลายก็เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

6.เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ คือ แก้วมณี และตุ้มหูอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ บุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ ดังนี้ พวกเจ้าของ พึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด กามทั้งหลายก็เปรียบเหมือนของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

7.เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ ในที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม้นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่ม และห่อพกไว้ ลำดับนั้น บุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวาน อันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดกแต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอเราพึงตัดต้นไม้นี้แต่โคนต้น แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นไม้นั้นแต่โคนต้น บุรุษคนซึ่งขึ้นต้นไม้ก่อนนั้น ถ้าเขาไม่รีบลง ต้นไม้นั้นจะพึงล้มลง หักมือหักเท้า หรือหักอวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้น บุรุษนั้นพึงถึงตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะต้นไม้นั้นล้มเป็นเหตุ ฉันใด กามทั้งหลายก็เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์ มีความคับแค้นมาก

2.พิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้

3.พิจารณาถึงคุณของการออกจากกาม หรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใด เป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการแก้ไขกามฉันทะให้หมดออกไปจากใจ แม้เพียงชั่วขณะ แต่ถ้าหากเราได้หมั่นพิจารณา หมั่นสอนตัวเองบ่อยๆ อุปสรรคข้อนี้ก็จะไม่คอยมาขัดวางใจของเราได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น