++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จิตไม่ยอมนิ่ง ไม่ยอมสงบ

เวลาไปสนทนาธรรม หรือไปเป็นวิทยากรที่ไหนก็ตาม มักจะได้ยินคำถามที่ว่า...

“เวลาทำสมาธิจิตไม่สงบ” หรือไม่ก็ “จิตจะส่ายซัด ฟุ้งซ่าน ไม่อยู่นิ่ง จะทำยังไง”

คำถามดังกล่าวข้างต้น คือ ‘ปัญหา’ สำหรับนักภาวนา นักทำสมาธิทุกคน ต้องย้ำคำว่า ‘ทุกคน’ ครับผม เพราะเป็น ธรรมชาติของจิตที่ครูบาอาจารย์ท่านอุปมาจิตไว้ ดั่งลิงที่ซุกซนโดยนิสัยแล้ว เราพยายามเอาเชือกมาผูกล่ามเอาไว้ ซึ่งมันจะพยายามสลัดหลุด

จิตก็เช่นกัน เวลาเราบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ มันก็จะดีดดิ้นไปมาเป็นธรรมดา

ทว่า ความธรรมดาอันนี้ สามารถทำให้นักปฏิบัติภาวนาจำนวนมากต่อมากเกิดการท้อแท้จนทิ้งการปฏิบัติไป อย่างน่าเสียดาย...และเพราะธรรมชาติจิตของมนุษย์เป็นเช่นที่กล่าวมาข้างต้น พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำ ‘อุบาย’ วิธีมากมาย ในการอบรมจิตเพื่อความสงบนั้นมากมายหลายวิธี ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้อย่างละเอียดด้วยมีมากมายหลายสิบประการ

การก้าวสู่ความสงบของจิต ก็เหมือนการก้าวไปอีกฟากฝั่งของมนุษย์ที่ต้องอาศัยสะพานข้ามไป ฉะนั้นการทำภาวนา จึงต้องอาศัยลักษณะการ ‘บริกรรม’ หรือการใช้ ‘วัตถุธาตุ’ สำหรับ ‘เพ่งจ้อง’ ของจิต

ถึงตรงนี้ก็ต้องอธิบาย คำว่า ‘เพ่ง’ เสียก่อน เพราะหลาย ๆ คน เข้าใจอากัปกิริยาเพ่งจ้องตรงนี้ผิด ๆ จนการปฏิบัติล้มเหลวหรือเกิดโทษ

คำว่า ‘เพ่ง’ หรือ ‘จ้อง’ อันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสมถวิธีแบบกสิณ อันมี เตโชกสิณ วาโยกสิณ ปฐวีกสิณ ฯลฯ

บางท่านคิดว่าการ ‘เพ่ง’ คือการนั่งจ้องมองด้วยสายตาอย่างนั้นตลอดเวลา ความคิดเช่นนี้ผิดครับ ผิดอย่างมหันต์ เช่นการเพ่งกสิณไฟ ถ้าคุณนั่งจ้องมองไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้าตาคุณก็จะบอด

บางรายอาจเสียสติ เพราะอาการวูบไหวของเปลวไฟจะทำให้เกิดภาพหลอนขึ้น

คำว่า ‘เพ่ง’ ในความหมายของการปฏิบัติสมาธิ คือโดยการจำภาพที่เห็นให้ชัด จากนั้นหลับตากำหนดภาพที่เห็นและจดจำได้ ให้บังเกิดขึ้นในจิตของตนเป็น ‘อุคคหนิมิต’ เป็นภาพอย่างนั้นลอยเด่นอยู่กลางจิต ทำอยู่อย่างนั้นจนชำนาญ สามารถย่อขยายอุคคหนิมิตนั้นให้ใหญ่เล็กตามความต้องการ นั่นจึงเรียกว่าสำเร็จกสิณในเบื้องต้น

คราวนี้ย้อนกลับมาที่การภาวนาปกติบ้าง ส่วนใหญ่นักปฏิบัติทั้งหลายที่เห็น จะใช้หลักการภาวนา ‘พุทโธ’ เข้าออกควบกับการหายใจที่เรียกว่า อานาปานสติ ที่พระตถาคตเจ้ายกย่องว่าเป็นกรรมฐานที่เรียบง่าย อ่อนโยน และก่อให้เกิดพลานามัยต่อร่างกายมากที่สุด

การภาวนาต้องอาศัยสติกำกับให้จดจ่อกับคำภาวนา หรือลมหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา จึงจะเกิดผลที่เรียกว่า ‘สมาธิ’ จนถึงขั้น ‘อัปปนา’ คืออารมณ์เดียวที่เรียกว่า ‘เอกัคตารมณ์’ เมื่อถึงตรงนี้จิตจะสงบ สว่างไสว ซึ่งถือว่าเข้าสู่ฐานที่ตั้งแห่งจิตเดิมของตน เป็นบาทฐานสำคัญสู่ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้นในภายภาคหน้า ด้วยการปฏิบัติ ‘วิปัสสนา’ เพื่อปัญญาในการตัดกระแสแห่งกิเลสอย่างแท้จริง

ครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ ขั้นตอนคร่าว ๆ ของการปฏิบัติ สมถภาวนาวิธี ซึ่งถือเป็นบันไดแห่งการก้าวสู่ มรรคผล-นิพพาน แต่ ปัญหาทั้งหลายอยู่ที่เวลาเพ่ง หรือบริกรรมคำภาวนาอย่างมีสตินี่แหละ มันทำกันไม่ค่อยได้ ด้วยเหตุผลเดียวคือ จิตกับสติมันไม่ไปด้วยกัน สติเผลอ จิตมันก็พาเตลิดเปิดโปงไปเรื่องนั้นเรื่องนี้จนเบื่อหน่ายที่จะปฏิบัติ นั่นคือที่มาของคำถาม-คำตอบวันนี้ ทำไมจึงไม่สามารถทำจิตให้นิ่งและสงบได้ มีอุบายอะไรบ้างไหมที่จะทำให้จิตสงบ

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจคำว่าจิตก่อน จิตคือ ‘ผู้รู้’ จิต คือเครื่องคอมพิวเตอร์อันเยี่ยมยอดที่สุดในฉบับจักรวาล มันบันทึกทุกอย่างเข้าได้หมด เป็นขุมข่ายแห่งความรู้อันมหาศาล ทว่าถูกบดบังด้วย ‘อวิชชา’ ที่มีกุญแจสำคัญคือ ‘สติ’

ฉะนั้น การจะเปิดความรู้อันมหาศาลนั้นออกมา ก็ต้องฝึกสติให้กล้า ด้วยการทำสติกับกำกับจิตผู้รู้ไปเรื่อย ๆ สติกล้ามากเท่าใด ปัญญาจะกระจ่างมากเท่านั้น

คำตอบจึงอยู่ที่ ‘ฝึกสติไปเรื่อย ๆ’ ฝึกทุกวันอย่าให้ขาดจึงจะเห็นผลชัด

ในขณะปฏิบัติสมาธิ ท่านต้องปฏิบัติอย่างนี้คือ

1. อย่าทำด้วยความอยากได้ อยากเป็น ก่อนทำอยากให้พอ แต่พอเริ่มทำ ให้ตัดความอยากทั้งปวงทิ้งเสีย

2. ตรวจดูท่านั่งของตนว่าอยู่ในลักษณะสบาย ๆ หรือไม่

3. จัดการเรื่องราวต่าง ๆ เสร็จหรือยัง เรื่องฟืนไฟ ประตูหน้าต่าง หรือเรื่องส่วนตัว ต้องจัดการให้เสร็จจะได้ไม่มีความกังวลตามมา

4. แผ่ เมตตาให้สรรพสัตว์ และเจ้ากรรมนายเวรเพื่อเกิดกระแสเมตตาในจิต กระแสเมตตาเป็นกระแสเย็น จะทำให้จิตใจชุ่มเย็นสู่ความสงบง่ายขึ้น และท้ายสุดคือความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เชื่อมั่นว่าพระรัตนตรัยและการปฏิบัติภาวนา คือหนทางที่จะนำเราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ทุก ประการที่กล่าวมา คือการเตรียมพร้อม ด้วยการตัดกระแสกังวลล่วงหน้า ก่อนทำการภาวนาสมาธิ ซึ่งเชื่อว่าสามารถตัดความวิตกได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีบางคาบบางคราที่ทำอย่างนั้นแล้ว เวลานั่งปฏิบัติก็ยังมีอะไรต่อมิอะไรมารบกวนในจิตใจจนฟุ้งซ่าน เช่น งานที่ทำ ปัญหาลูก-สามี และอะไรต่อมิอะไรมารุมเร้า แม้พยายามคุมสติแล้วก็ตาม ก็มิอาจสลัดวางลงได้

ภูเตศวรแนะนำอย่างนี้ครับ

1. หันหน้าเข้าไปเผชิญกับความฟุ้งซ่านในปัญหานั้น ใช้ปัญหานั้นเป็นข้อกรรมฐาน เช่น เรื่องสามี มีเมียน้อย

2. ยกคำถาม ใครคือสามี ทำไมจึงเรียกสามี ส่วนใดคือเขา พิจารณาตั้งแต่ปลายผมลงไปถึงพื้นเท้า จากนั้นมองไปข้างหน้า เขาจะแก่ไหม จะตายไหม ถ้าวันนี้เขาตายแล้วเป็นอย่างไร ไล่จี้ลงไปให้ผู้รู้ตอบคำถามด้วยเหตุ ด้วยผลไปเรื่อย ๆ ท้ายสุดความฟุ้งซ่านจะคลายตัวไปโดยอัตโนมัติ เพราะผู้รู้ในส่วนลึกรู้อยู่แล้วว่า ทุกประการทั้งปวงในโลกนี้คือ อนิจจัง คืออนัตตา

3. ถ้าจะให้ดีควรย้อนกลับมาพิจารณาตัวตนของตนด้วย ตนนั้นประกอบด้วยอะไร ตั้งแต่ปลายผมถึงเท้า พิจารณาความตายของตนเป็นอารมณ์ ทำบ่อย ๆ ทำจนเป็นนิสัย จะเห็นปัญญา จะคลายความหมายมั่น ยึดมั่นไปเรื่อย ๆ ที่สุดจิตจะสงบไปเองด้วยปัญญา

ประการนี้เรียกว่า ใช้ปัญญาอบรมสมาธิครับผม

เอวังก็ด้วยประการฉะนี้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น