++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ภาวะผู้นำแบบปฎิรูปของพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยและประสิทธิผลของทีมงาน : กรณีศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล

ธนาพร เมธาภิวัฒน์ - พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ตึกอายุรกรรมพิเศษ 2  วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล
ดร.ศรีเรือน   แก้วกังวาล - รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทคัดย่อ



การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของตนเอง  และตามการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชา ศึกษาประสิทธิผลของทีมงานตามการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชา และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของภาวะผู้นำแบบปฏิรูปกับประสิทธิผลของทีมงาน เก็บรวบรวมข้อมูลจากพยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วย จำนวน 60 คน และผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวน 265 คน  ในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามภาวะผู้นำแบบปฏิรูป และแบบสอบถามประสิทธิผลของทีมงาน  วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้การทดสอบค่าทีรายคู่ การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียรสัน กาวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นตอน และวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์ความสอดคล้อง (แคปป้า) ได้ผลการวิจัย ดังนี้

1. ระดับประสิทธิผลของทีมงานโดยรวม ตามการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ในระดับสูง

2. ระดับภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของตนเอง จำแนกรายด้านและโดยรวมอยู่ในระดับสูง ส่วนระดับภาวะผู้นำ แบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชา จำแนกรายด้านและโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง

3. หัวหน้าหอผู้ป่วยมีการรับรู้ภาวะผู้นำแบบปฏิรูปทั้งรายด้านและโดยรวมสูงกว่าการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

4. ภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วย ตามการรับรู้ของตนเอง ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของทีมงาน ดังนั้น จึงไม่มีองค์ประกอบใดของภาวะผู้นำแบบปฏิรูปตามการรับรู้ของตนเอง ที่สามารถทำนายประสิทธิผลของทีมงานได้

5. องค์ประกอบของภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 4 ด้าน มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับประสิทธิผลของทีมงาน แต่มีองค์ประกอบภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของหัวหน้าหอผู้ป่วยเพียง 2 ด้าน คือ ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ และการกระตุ้นทางปัญญา สามารถร่วมกันทำนายประสิทธิผลของทีมงานได้ร้อยละ 45.3

6. จากการวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยหาค่าความสอดคล้องของการประเมินภาวะผู้นำแบบปฏิรูป พบว่า ไม่มีความสอดคล้องกันระหว่างการประเมินตนเองของหัวหน้าหอผู้ป่วยกับการประเมินโดยผู้ใต้บังคับบัญชา



ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่มีลักษณะไร้พรมแดน และเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา ทำให้องค์กรต้องปฏิรูปตนเองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องอาศัยผู้นำที่มีความสามารถในการนำองค์การให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ประพนธ์ ผาสุขยืด (2541 : 20-21) เสนอว่า ผู้นำจะต้องเลิกยึดติดกับกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ และปรับกระบวนทัศน์การจัดการใหม่อย่างสิ้นเชิง เพื่อตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีนักวิชาการและผู้ศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้มากมายหลายแนวคิด แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่เสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง คือ ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบปฏิรูปของแบส ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 4 ด้าน คือ การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์ การสร้างแรงบันดาลใจ กากระตุ้นทางปัญญา และการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล (Bass, 1996 : 5-7) มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ และการศึกษาเชิงทฤษฎีจำนวนมากที่พบว่า ภาวะผู้นำแบบปฏิรูปเป็นภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลมากที่สุด (จีระพร แดนเขตต์, 2543 ; จรัสศรี ไกรนที, 2539 ; อัญชลี มากบุญส่ง, 2540 ; Judge and Bono, 2000 ; Stordeur, Vandenberghe and D'hoore, 2000)



อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่า การวัดประสิทธิผลของภาวะผู้นำแบบปฏิรูปมีความแตกต่างกัน  แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของทฤษฎี พบว่า มีความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องกระบวนการทำงานเป็นทีม ผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่า การศึกษาประสิทธิผลของภาวะผู้นำแบบปฏิรูปควรใดในแง่ประสิทธิผลการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยครั้งนี้ มุ่งศึกษาในวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลที่เป็นองค์กรสาธารณสุขขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจ การแข่งขันทางด้านสุขภาพอนามัย การตื่นตัวของผู้รับบริการ ซึ่งต้องรักษาหรือพัฒนามาตรฐานของคุณภาพการบริการเพื่อตอบสนองกระแสการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลจึงต้องการผู้นำที่มุ่งมั่นอุทิศตนเอง สามารถสร้างทีมการพัฒนาที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะผู้นำระดับหัวหน้าหอผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับต้นที่รับนโยบาย จากฝ่ายบริหารมาสู่การปฏิบัติงานและเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร หอผู้ป่วยที่มีขอบเขตและปริมาณงานกว้างขวาง และใกล้ชิดกับผู้รับบริการมากที่สุด .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น