...+

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

สู้เพื่อแผ่นผี




ฮากันไปทั่วโลก เมื่อ บรูโน มาร์ส นักร้องชื่อดังแดนมะกันมาเดินเล่นในกรุงเทพฯ แล้วจ๊ะเอ๋เข้ากับแผ่นผีซีดีเถื่อนของตนเองที่ขายข้างถนน

คนไทยบางคนบ่นว่า เหตุนี้กลายเป็นเรื่องน่าอายของเมืองไทย เพราะเต็มไปด้วยแผ่นผีซีดีเถื่อน ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง

แต่ในประเทศตะวันตกสมัยนี้เอง กลับมีกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์ และระบบกรรมสิทธิ์ของผลงานทางด้านเพลง ภาพยนตร์ หนังสือ ฯลฯ

ขบวนการนี้มองว่าระบบลิขสิทธิ์ต่างหากที่มีปัญหา และการโหลดเพลง-โหลดหนังอย่างเถื่อนๆ จากเว็บไซต์ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ เพราะเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามการถ่ายโอน หรือเก็บข้อมูลโดยแต่ละบุคคลอยู่แล้ว

แนวคิดนี้ยังชี้ว่าข้ออ้างของผู้ถือลิขสิทธิ์ที่ว่า การโหลดฟรีคือการขโมย ก็ยังฟังไม่ขึ้นด้วย เพราะการโหลดหนังหรือเพลงหรือหนังสือนั้น คือการทำก๊อบปี้ของสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การชิงเอาสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วมาเป็นของตน

เหมือนสมมติผู้เขียนมีจักรยานอยู่คันหนึ่ง ผู้อ่านก๊อบปี้ไปหนึ่งคัน เท่ากับเราทั้งคู่มีจักรยานคนละคัน ไม่ใช่ผู้อ่านเอาจักรยานของผู้เขียนไป

ยังไม่นับข้ออ้างของบรรดากลุ่มทุนเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหลาย ที่พยายามควบคุมอินเตอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโหลดหนังหรือเพลงเถื่อน ทั้งที่กฎหมายเช่นนี้จะจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น กรณีกฎหมายโซป้าในสหรัฐ ที่สุดท้ายก็ถูกตีตกไป

ในยุโรปบางประเทศถึงกับมี "พรรคโจรสลัด" (Pirate Party) ชิงที่นั่งในรัฐสภา เพื่อปฏิรูประบบลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจัง เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การโหลดหนังเถื่อน แต่เป็นประเด็นการเมืองที่น่าสนใจ

คอลัมน์ รุ้งตัดแวง/สปาย-กลาส
ข่าวสดออนไลน์, 27 มี.ค.2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น