...+
▼
วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557
อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง
หยุดยาวช่วงสงกรานต์ น่าจะอ่านหนังสือสักเล่ม ดูหนังสักสองสามเรื่อง ฟังเพลงเพราะ ๆ ทุกวัน ชีวิตจะได้สุนทรียะทางอารมณ์ ซึ่งก็คือส่วนสำคัญของความเป็นคนของเรา เป็นเวลาดีที่สุดที่เราได้อยู่กับตัวเอง การอ่านหนังสือ ดูหนังเหมือนดูละครแล้วสะท้อนดูตัวเอง ฟังเพลงแล้วได้นั่งคิดคำนึง
สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนเรื่องการอ่านหนังสือทำคนให้เป็นคน สัปดาห์นี้อยากเขียนเรื่องการดูหนังฟังเพลง คือการเติมพลังให้ชีวิต
พลังที่เราต้องการมากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ พลังแห่งจินตนาการ ซึ่งไอน์สไตน์บอกว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เพราะจินตนาการสร้างความรู้ และสร้างได้ไม่รู้จบ
พลังจินตนาการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความรู้ใหม่ ซึ่งได้จากการอ่านหนังสือ ดูหนังดีๆ ซึ่งก็คือที่มาของพลังปัญญา
(พลังปัญญา พลังจินตนาการ เป็นชื่อคอลัมน์ในผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่ผมเขียนเกี่ยวกับหนังดีๆ ที่ต่อมาผู้จัดการได้รวมเล่มตั้งชื่อว่า อ่านชีวิตบนแผ่นฟิล์ม)
ผมเขียนไว้ในวรรคแรกของบทความเกี่ยวกับหนัง The Deer Hunter ว่า "มีคนจำนวนมาก นอกจากจะร่ำรวยด้วยความฝัน ยังสามารถปรับความฝันให้เป็นจินตนาการ แปรจินตนาการให้เป็นหนังสือ เป็นหนัง เป็นละคร ที่สะท้อนชีวิตได้อย่างน่าพิศวง ไม่ว่าเรื่องราวที่ผูกขึ้นและนำเสนอจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่คงไม่มีใครปฏิเสธความเป็นจริงนั้น"
การดูหนังดีๆ สักเรื่อง นอกจากจะได้ความสนุกสนานและสุนทรียรสหลากหลาย ยังได้ความรู้ได้ปัญญา อันมาจากจินตนาการของมนุษย์ในการสะท้อนชีวิต ความฝัน ความใฝ่ฝันลงไปบนแผ่นฟิล์ม
ในคำนำสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ คุณวิทยา ร่ำรวย บรรณาธิการเขียนแนะนำหนังสือ "อ่านชีวิตบนแผ่นฟิล์ม" ตอนหนึ่งว่า "หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือวิจารณ์หนังดัง หรือหนังสือเล่าเรื่องหนังอย่างสาธยายตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ
แต่เป็นการนำจินตนาการของหนัง มาอธิบายถึงการค้นหาความหมายแห่งชีวิต สัญชาติญาณและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ตลอดจนปรากฏการณ์ที่เป็นผลสะท้อนจากสังคม
ภาพเงาบนจอภาพยนตร์ล้วนเป็นจินตนาการที่รอการค้นหาความหมายจากผู้ชม เพียงแต่เราจะสัมผัสถึงได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมแล้วแต่ภูมิหลัง ประสบการณ์ และพลังปัญญาในการไขว่คว้าพิจารณา ซึ่งจะทำให้เราได้สารัตถะจากการดูหนังมากกว่าความบันเทิงเพียงอย่างเดียว"
หนังต่าง ๆ ที่ได้เขียนถึงล้วนเป็นหนังฝรั่ง ไม่ใช่เพราะหนังเอเชียหนังไทยไม่ดี แต่ตั้งใจจะเขียนถึงภายหลัง (ป่านนี้ยังไม่ได้ลงมือเลย) ส่วนใหญ่เป็นหนังฝรั่งอเมริกันและอิตาเลียน เพราะรู้จักคุ้นเคยมากกว่า และเป็นหนังที่หาดูได้ไม่ยาก
ใครที่เคยดูหนังอย่าง Forest Gump ชายที่ดูซื่อบื้อ จริงๆ แล้วเขาเป็นที่รวมของจินตนาการคนในอุดมคติของชาวอเมริกัน ที่ฝันอยากเป็นอิสระจากแอกอันหนักของสังคมที่พวกเขาต้องแบก ต้องการสลัดจากพันธะทั้งปวง
วันหนึ่งเราจึงเห็นฟอเรสต์ กัมป์ สลัดเฝือกที่เขาใส่เพราะคิดว่าขาพิการออกไป และวิ่งราวลมพัด กลายเป็นนักฟุตบอลอเมริกัน เป็นนักวิ่งข้ามทวีปโดยไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงใดๆ วิ่งเพราะอยากวิ่ง
ฟอเรสต์ กัมป์ เป็นคนในความฝันของมนุษย์ที่จินตนาการอยากมี อยากได้ อยากเป็น แต่จะมี จะได้ จะเป็น ถ้ารู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติด
ฟอเรสต์ กัมป์ เหมือนคนไม่มีอะไรเลย แต่มีทุกอย่าง เหมือนเป็นคนโง่ แต่ก็ฉลาดเอาตัวรอดได้ และร่ำรวยอีกต่างหาก
แม่บอกว่ามีคนเขาบอกว่าลูกไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ แม่ปลอบใจลูกว่า อย่าไปสนใจเลย โง่หรือฉลาดอยู่ที่การกระทำของเราต่างหาก
ใครอยากดูความเลวร้ายของสงคราม และผลกระทบที่มีต่อมนุษยชาติ ต้องดูหนัง The Deer Hunter ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ไม่ได้เน้นการสู้รบ ยิงกันสนั่นจอ แต่แสดงให้เห็นว่า สงครามทำร้ายชีวิตจิตใจของผู้คน ครอบครัว ชุมชน และสังคมทั้งหมดอย่างไร
กลับมาจากเวียดนามถ้าไม่บ้าก็สูญเสียความเชื่อมั่นในความเป็นคน ความสัมพันธ์กับผู้คนถูกทำลาย กลายเป็นคนไม่ไว้ใจใคร ไม่เชื่อในคุณค่าของความเป็นคนอีกต่อไป
ขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ยอมกลับอเมริกา หากินเล่นรัสเซียนรูแล็ตอยู่ในบาร์ที่ไซ่ง่อน แล้ววันหนึ่งก็โดนเข้าจริงๆ หนังเรื่องนี้อยากบอกว่า สงครามเป็นอะไรที่ไร้เหตุผล เป็นความบัดซบของมนุษย์ (human absurdity)
ใครได้ดูซูซาน ซาเรนดอน แสดงเป็นแม่ชีที่ไปพูดคุยกับนักโทษประหาร (แสดงโดยฌอน เพนน์) คงไม่แปลกใจที่เธอได้รับรางวัลออสการ์ในปี 1996 แสดงนำในหนังเรื่อง Dead Man Walking
"หนังเรื่องนี้พยายามสะท้อนให้เห็นสองด้านของความเป็นคน ด้านหนึ่งเลวร้ายเหมือนผีห่าซาตาน โหดเหี้ยมเหมือนสัตว์ป่าที่ฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น เห็นผู้คนรอบข้างไม่ต่างจากวัตถุสิ่งของ มองผู้หญิงด้วยสัญชาติญาณดิบ แทะโลมแม้กระทั่งแม่ชีที่ไปให้ความช่วยเหลือ
แต่อีกด้านหนึ่งก็เต็มไปด้วยความกลัว ความไม่มั่นคงปลอดภัย จิตใจที่อ่อนแอและเปราะบาง ต้องการความรักและความเข้าใจ เป็นปมด้อยและความกดดันอันมาจากพื้นฐานครอบครัวยากจน ขาดการศึกษา เพื่อนชั่ว สังคมเลว"
ดูหนังเรื่อง A Beautiful Mind ชีวิตจริงของศาสตราจารย์รางวัลโนเบล ที่โชคดีได้รางวัลเพราะคิดสูตรได้ในขณะที่กึ่งดีกึ่งบ้า และไม่ถูกจับส่งโรงพยาบาลบ้า เพราะคนแยกไม่ออกระหว่างบ้ากับอัจฉริยะ
แต่ท้ายที่สุด เขาก็มีความเป็นมนุษย์ที่สุดจะน่าทึ่ง โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่เขาแสดงสุนทรพจน์บนเวทีรับรางวัลโนเบล ที่เขายกย่องให้เกียรติภรรยาที่อยู่ดูแลเขาตลอดเวลาที่เขาป่วย เขาบอกว่า ตลอดชีวิตเขาได้พยายามค้นหาสูตรทางคณิตศาสตร์ ตอนนี้เขาพบแล้วว่าสูตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ความรักต่างหาก
ลองหาหนังดีๆ มาดู แล้วจะรู้ว่าชีวิตมีหลายแง่หลายมุมที่เรายังไม่รู้จัก เมื่อไรที่ได้หัวเราะหรือยิ้มออกมา หรือน้ำตาเริ่มซึมหรือไหลลงแก้ม นั่นคือสัญญาณที่ดี ว่าเรายังเป็นคนที่รับรู้คุณค่าของชีวิต
________________________
เสรี พงศ์พิศ/www.phongphit.com
คอลัมน์ ปรับฐานรากเปลี่ยนฐานคิด
สยามรัฐออนไลน์, 8 เมษายน 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น