...+

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556

บทพากย์รามเกียรติ์ ตอน เอราวัณ





ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ที่มาของเรื่อง ได้เค้าโครงเรื่องมาจาก “รามายณะ” ของอินเดีย

ความมุ่งหมาย ให้เห็นโทษของความลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสจะนำมาซึ่งความประมาท

อันเป็นเหตุแห่งหายนะ เช่น พระลักษมณ์และไพร่พลวานรที่มัวแต่เพ่งดูเทวดา

(แปลง) อย่างเพลิดเพลิน จนต้องศรของอินทรชิตในที่สุด

เนื้อหาของเรื่อง พรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ งดงามของกระบวนทัพของอินทรชิตซึ่งแปลงตัวเป็น

พระอินทร์ ช้างเอราวัณและเหล่าเทวดา

ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบัง ๑๖

- ๑ บทมี ๓ วรรค แบ่งเป็นวรรคแรก ๖ คำ วรรคสอง ๔ คำและวรรคสาม ๖ คำ

- ใน ๑ บท มีสัมผัสบังคับ ๑ แห่ง คือ

คำสุดท้ายของวรรคแรกสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคสอง

- มีสัมผัสระหว่างบทอยู่ที่คำสุดท้ายของบทแรกกับคำสุดท้ายของวรรคแรกของบทต่อไป

แผนผัง

บทที่ ๑ 000000 0000 สัมผัสบังคับระหว่างวรรค

000000 สัมผัสระหว่างบท

บทที่ ๒ 000000 0000 สัมผัสบังคับระหว่างวรรค

000000



บทพากย์เอราวัณ

๏ อินทรชิตบิดเบือนกายิน_________เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
๏ ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน________เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
๏ สามสิบสามเศียรโสภา_________เศียรหนึ่งเจ็ดงา

ดั่งเพชรรัตน์รูจี
๏ งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี ___________สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
๏ กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์_______ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
๏ กลีบหนึ่งมีเทพธิดา____________เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
๏ นางหนึ่งย่อมมีบริวาร__________อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
๏ จับระบำรำร่ายส่ายหา__________ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร
๏ มีวิมานแก้วงามบวร___________ทุกเกศกุญชร
ดังเวไชยันต์อมรินทร์
๏ เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน______ซองหางกระวิน
สร้อยสายชนักถักทอง
๏ ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง_______ผ้าทิพย์ปกตระพอง
ห้อยพู่ทุกหูคชสาร
๏ โลทันสารถีขุนมาร_____________เป็นเทพบุตรควาญ
ขับท้ายที่นั่งช้างทรง
๏ บรรดาโยธาจัตุรงค์____________เปลี่ยนแปลงกายคง
เป็นเทพไทเทวัญ
๏ ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์_________ทัพหลังสุบรรณ
กินนรนาคนาคา
๏ ปีกซ้ายฤาษิตวิทยา____________คนธรรพ์ปีกขวา
ตั้งตามตำรับทัพชัย
๏ ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร__________โตมรศรชัย
พระขรรค์คทาถ้วนตน
๏ ลอยฟ้ามาในเวหน_____________รีบเร่งรี้พล
มาถึงสมรภูมิชัย ฯ
ถอดคำประพันธ์

บทที่ ๑ อินทรชิตแปลงกายเหมือนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

บทที่ ๒ ช้างเอราวัณ (แปลง) เป็นช้างเผือกที่มีรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง

บทที่ ๓ (ช้างเอราวัณ) มีเศียรที่งดงาม ๓๓ เศียรและเศียรหนึ่งมีงาอยู่ ๗ งาซึ่งงดงามมาก

บทที่ ๔ งาหนึ่งงามีสระบัวอยู่ ๗ สระ และสระบัวหนึ่งสระมีบัวอยู่ ๗ กอ

บทที่ ๕ กอบัวหนึ่งกอมีดอกบัวอยู่ ๗ ดอก และบัวหนึ่งดอกมีกลีบบัวอยู่ ๗ กลีบ

บทที่ ๖ บัว ๑ กลีบมีเทพธิดาผู้อ่อนเยาวว์และงดงามอยู่ ๗ องค์

บทที่ ๗ เทพธิดาองค์หนึ่งมีบริวาร ๗ ตนล้วนแต่เป็นยักษ์แปลงมาทั้งสิ้น

บทที่ ๘ นางบริวารร่ายรำและชายตาทำท่าทางงดงามราวกับนางฟ้า

บทที่ ๙ ที่เศียรทุกเศียรของช้างเอราวัณมีวิมานแก้วที่งดงามราวกับวิมานเวไชยันต์ของ

พระอินทร์

บทที่ ๑๐ ช้างเอราวัณ (แปลง) ประดับด้วยแก้วเก้าระการ เช่น โกเมนที่ซองหางและ

กระวิน ส่วนที่สายชนักเป็นสร้อยที่ถักด้วยทอง

บทที่ ๑๑ มีตาข่ายร้อยด้วยเพชรสำหรับตกแต่งที่เศียรช้าง มีผ้าทิพปกที่ตระพองของช้าง

และมีผู้ห้อยที่หูทุกหูของช้าง

บทที่ ๑๒ ยักษ์แปลงเป็นโลทันสารถีของพระอินทร์มีหน้าที่บังคับท้ายช้างพระที่นั่งของ

พระอินทร์

บทที่ ๑๓ บรรดาทหารของกองทัพยักษ์ต่างแปลงเป็นเทวดา

บทที่ ๑๔ ทัพหน้าแปลงเป็นเทพารักษ์ ทัพหลังแปลงเป็นครุฑ กินนรและนาค

บทที่ ๑๕ ปีกซ้ายแปลงเป็นฤาษีและวิทยาธร ปีกขวาแปลงเป็นคนธรรพ์ กองทัพจัดตั้ง

ตามตำราพิชัยสงคราม

บทที่ ๑๖ เทวดา (แปลง) ทุกองค์ล้วนถืออาวุธต่าง ๆ เช่น โตมร ศร พระขรรค์และคทา

บทที่ ๑๗ เทวดา (แปลง) ทุกองค์รีบเหาะมายังสนามรบ

แปลรวม


อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ช้างเอราวัณอัน (การุณราช) เนรมิตขึ้นนั้นก็ทรงเรี่ยวแรงแกร่งกล้าน่าเกรงขาม ผิวพรรณสีเผือกผ่องประดุจสังข์อันเกลี้ยงเกลา
มี ๓๓ หัว หัวหนึ่งมี ๗ งา เปล่งประกายเรืองรองประดุจเพชรรัตน์
งา หนึ่งนั้นมีสระโบกขรณี ๗ สระ สระหนึ่งมีดอกบัว ๗ กอ กอหนึ่งมี ๗ ดอก แต่ละดอกครั้นบานแล้วนับได้ ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาที่สวยงามแน่งน้อยน่ารัก ๗ นาง แต่ละนางนั้นยังมีเทพธิดาบริวารอีก ๗ นาง ล้วนเป็นรูปอันมารนิรมิตขึ้นทั้งสิ้น ทั้งยังร่ายรำชม้ายชายตาทำทีดังนางฟ้าจริงๆ
อีก ทั้งทุกหัวของช้างยังมีวิมานอันงดงาม ประดุจปราสาทเวไชยันต์ของท้าวอมรินทร์ เครื่องประดับอันมี ซองหาง กระวิน สายชนัก ล้วนถักร้อยด้วยสร้อยทอง ประดับโกมินล้อมแก้วนพเก้า ผ้าทิพย์ปกตระพองก็ร้อยประดับด้วยเพชร มีสายสร้อยห้อยเป็นพู่ลงทั่วทุกหูช้าง
ขุนมารโลทันซึ่งเป็นสารถีของอินทรชิตก็แปลงเป็นควาญท้ายช้าง
ทัพทั้ง ๔ เหล่า ต่างแปลงกายเป็นชาวฟ้าชาวสวรรค์ มีอารักขเทวดาและรุกขเทวดา (เทพารักษ์) เป็นทัพหน้า ครุฑ กินนร นาค เป็นทัพหลัง พวกฤาษีและวิทยาธร เป็นปีกซ้าย มีคนธรรพ์เป็นปีกขวา ตั้งทัพตามตำรับพิชัยสงคราม ถืออาวุธเกรียงไกรคือ หอก ธนู ดาบ กระบอง ครบมือ
แล้วเหาะเหินมาบนฟากฟ้า เคลื่อนพลเข้าสู่สมรภูมิ ฯ

ที่มา

http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2009/11/17/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น