...+

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พระรับเงินได้ไหม


 พระรับเงินได้ไหม

ถาม คำว่า " จตุปัจจัย " หมายถึงอะไร ?

ตอบ จตุปัจจัย คือ ปัจจัย 4 จตุ แปลว่า 4 ปัจจัย แปลว่า เครื่องอาศัย ก็คือเครื่องอาศัยที่สำคัญ 4 อย่าง ที่มนุษย์ขาดเสียมิได้ คือ

- อาหาร
- เครื่องนุ่งห่ม
- ที่อยู่อาศัย
- ยารักษาโรค

ถาม การถวายจตุปัจจัยกับพระสงฆ์ในปัจจุบัน ดูจะไม่ตรงในปัจจัย 4 ที่กล่าวเลย อย่างคำว่า " เอาจตุปัจจัยใส่ซองเสียสิ " ดังนี้ผิดถูกอย่างไร ?

ตอบ ปัจจัย 4 ในความหมายนี้ คนทั่วไปเข้าใจและหมายถึงเงินทองที่ถวายให้กับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เป็นค่านิยมที่ผิดต่อธรรมวินัย ไม่ควรทำ ควรจะถวายใบปวารณาแทน หรือกล่าวคำปวารณาจึงจะถูกต้อง

ถาม ถ้าถวายเงินทองผิดพระธรรมวินัย แล้วทำไมพระสงฆ์จึงรับเงินรับทอง ?

ตอบ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี่ไง ว่าเป็นค่านิยมที่ผิด เป็นประเพณีที่ทำกันมานานเกินกว่าจะแก้ไข เป็นมรดกบาป ก็ยังมีพระสงฆ์ที่ท่านไม่รับ เพราะท่านกลัวบาปกรรม เพราะเป็นการละเมิดพุทธบัญญัติ เป็นอาบัติ ท่านห้ามจับด้วยซ้ำไป ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก อรรถกถาเล่มที่ 2 โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 8 ว่า " ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งเงินและทอง หรือยินดีพอใจในเงินและทองที่ผู้อื่นเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ "

ถาม สิ่งที่ท่านห้ามไม่ให้พระจับต้อง มีอะไรบ้าง ?

ตอบ สิ่งที่พระไม่ควรจับต้องเรียกว่า " วัตถุอนามาส " มี 8 อย่าง คือ

- ผู้หญิง
- เครื่องแต่งกายผู้หญิง
- สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
- เงินทองและรัตนะต่างๆ
- ศัตราวุธต่างๆ
- เครื่องดักสัตว์ต่างๆ
- เครื่องประโคมดนตรี
- ข้าวเปลือก ถั่วต่างๆ และผลไม้ทุกชนิดที่อยู่กับต้น หรือที่เขากองไว้

สิ่ง เหล่านี้พระภิกษุจับต้องไม่ได้ ถ้าขืนทำหรือฝ่าฝืนก็เป็นอาบัติ มีโทษ และผู้ที่นำไปถวาย ก็ต้องเป็นบาปไปด้วย เพราะได้ทำให้พระท่านเป็นอาบัติ

(ทุติยสมันตปาสาทิกา พระวินัยปิฎก สังฆาทิเสสข้อ 2)

ถาม ถ้าเราต้องการจะนำเงินไปถวายพระ ที่ถูกต้องจะต้องทำอย่างไร ?

ตอบ การจะทำให้ถูกธรรมวินัย ต้องนำเงินทองเหล่านั้น ไปมอบให้กับ
" ไวยาวัจกร " และนำใบปวารณามาถวายพระ คือให้ท่านรับรู้ในใบปวารณา หรืออีกวิธีหนึ่ง ต้องถามท่านว่า ใครเป็นไวยาวัจกรเก็บรักษาเงินทองเหล่านี้ จะต้องไปมอบให้กับใคร ? ถ้าไม่ถามท่านก่อน ท่านจะบอกอ้างไวยาวัจกรไม่ได้ คือไม่พ้นอาบัติ เพราะเป็นการใช้ให้ผู้อื่นรับแทนซึ่งเงินและทอง ฆราวาสต้องมีหน้าที่ไต่ถาม หรือไม่ก็ทางวัดต้องติดป้ายบอกกล่าวไว้ให้ชัดเจน ในวิธีการถวายเงินและทองดังกล่าว

(พระวินัยปิฎก อรรถกถา มหาวิภังค์ ทุติยภาค โกสิยวรรค สิกขาบทที่ 8)

ถาม สิ่งของบางอย่างพระรับได้ บางอย่างรับไม่ได้ คืออะไร ?

ตอบ ประเภทเงินทอง พระรับประเคนไม่ได้ ผิดวินัย เป็นบาป เป็นอาบัติ
ประเภทอาหาร พระต้องรับประเคนเสียก่อน จึงจะนำมาฉันได้ หากไม่รับประเคนแล้วนำมาฉัน ทำไม่ได้ เป็นบาป เป็นอาบัติ
ประเภทดอกไม้ธูปเทียน พระจะรับก็ได้ ไม่รับก็ได้ ไม่ผิด ไม่ถูก ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญ

คน ส่วนมากเข้าใจว่า ของทุกอย่างต้องถวายกับมือพระจึงจะใช้ได้และได้บุญมาก แม้ของที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามรับ เราก็บังคับให้พระรับ ซึ่งเป็นประเพณีที่ผิด เป็นบาป ส่วนพระก็ไม่บอก ไม่สอน ไม่ชี้แจงว่าผิด ว่าถูกเป็นอย่างไร เป็นตัวอย่างที่ผิดให้กุลบุตรรุ่นหลัง รับมรดกบาปกันต่อไป

ถาม อยากทราบว่า " กัปปิยการก " และ " ไวยาวัจกร " คืออะไร ?

ตอบ กัปปิยการก คือ ใครก็ได้ที่ทำหน้าที่แทนพระสงฆ์ ในกรณีที่พระทำไม่ได้ ถ้าทำจะเป็นอาบัติ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ใช้ผู้อื่นทำแทน ซึ่งผู้นั้นไม่ใช่พระภิกษุ จะเป็นสามเณรหรือคฤหัสถ์ก็ได้ เช่น พระภิกษุจำเป็นต้องตัดต้นไม้หรือขุดดิน ก็ต้องให้ผู้อื่นทำแทน โดยใช้คำพูดอ้อมไป ไม่บอกตรงๆ เรียกว่า " สมณโวหาร " เช่นพูดว่า " ท่านจงเอาดินขึ้นมา เราต้องการดินนี้ " หรือ " ท่านจงทำดินนี้ให้เป็นกัปปิยะ "
ไวยาวัจกร ก็เช่นเดียวกัน แต่ส่วนมากไวยาวัจกรจะเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือเกี่ยวกับเงินทองที่พระภิกษุไม่สามารถกระทำได้ จึงให้ไวยาวัจกรเป็นผู้จัดการซื้อมาให้ สรุปแล้วทั้ง " กัปปิยการก " และ
" ไวยาวัจกร " ก็คือ ผู้ทำการแทนพระภิกษุในกรณีที่ทำไม่ได้นั่นเอง

(พระวินัย อรรถกถา ทุติยวรรค มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 10)

ที่มา หนังสือหายสงสัย ชมรมศึกษาพระสูตร เขตสะพานสูง กทม.
ผู้ตอบปัญหา พระอาจารย์ผู้อบรม วัดพนมพนาวาส


http://board.palungjit.com/f2/%E0%B8...87-160462.html



ผมจะยกตัวอย่างพระวินัย "เฉพาะแค่เรื่องห้ามการรับเงิน" จะได้กระชับ

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี 30 ข้อ ถือเป็นความผิดได้แก่ (ดูที่ผมทำสีแดง)
1.เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน 10 วัน
2.อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว
3.เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด 1 เดือน
4.ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า
5.รับจีวรจากมือของภิกษุณี
6.ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย
7.รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป
8.พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม
9.พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย
10.ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า 3 ครั้ง
11.หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม
12.หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน
13.ใช้ขนเจียมดำเกิน 2 ส่วนใน 4 ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
14.หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง 6 ปี
15.เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย
16.นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน 3 โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้
17.ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม
18.รับเงินทอง
19.ซื้อขายด้วยเงินทอง
20.ซื้อขายโดยใช้ของแลก
21.เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน 10 วัน
22.ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน 5 แห่ง
23.เก็บเภสัช 5 (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย)ไว้เกิน 7 วัน
24.แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด 1 เดือนก่อนหน้าฝน
25.ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง
26.ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร
27.กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น
28.เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด
29.อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน 6 คืน
30.น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น