...+

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

๗ วิธีตายอย่างสบายใจ








นี่คืองานล่าสุดที่ผมออกแบบมาเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอ่านจบได้ง่ายๆ หรือไม่ก็รับฟังจากเสียงอ่านให้ฟังโดยญาติสนิทโดยใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมง ทดสอบแล้วว่าทำให้เกิดความสบายใจ หายห่วงหายกังวลได้จริง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สมควรคาดหวังเหนือสิ่งอื่นใดในวาระสำคัญที่สุดของชีวิต


ที่มาของหนังสือเล่มนี้ อาจต้องเท้าความไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ตอนผมได้รับคำขอให้เขียนหนังสือเล่มเล็ก เพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อ่าน ซึ่งครั้งนั้นผมยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนเนื้อหาอย่างไร แบบไหนถึงจะเหมาะ แต่ต่อมาก็ได้ไอเดียที่เป็น‘เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน’ ซึ่งไม่ตรงกับคำขอเท่าใดนัก เนื่องจากต้องตอบโจทย์สำคัญของชีวิต ๓ ข้อ เนื้อหาจึงละเอียด จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กไม่ได้ ต้องมีขนาดเท่าพอคเก็ตบุ๊คดังที่เห็นๆกัน


ผ่านมาถึงวันนี้ ผมจึงเข้าใจว่าการจะเป็นหนังสือเล่มเล็กที่ดี ที่ได้ผล ไม่อาจเขียนรวดเดียวจบเหมือนหนังสือทั่วไป แต่ต้องเขียนหลายๆร้อยเรื่องในช่วงเวลาสักสิบปี แล้วคัดที่ดีที่สุดสัก ๗-๘ เรื่องมารวมกัน


การรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมใจให้สบายรับความตายครั้งนี้ ผมเรียบเรียงทุกเรื่องใหม่หมด เพื่อให้กระชับและสอดรับกัน ๘ เรื่อง ได้แก่

๑) ๗ วิธีตายอย่างสบายใจ (เป็นทั้งชื่อหนังสือและชื่อเรื่องแรก)

๒) บุญแค่ไหนถึงได้ไปสวรรค์แน่?

๓) มาฝึกยอมรับความจริงกันเถอะ!

๔) คิดไม่ดี ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่ดี

๕) คนทำชั่วจะกลัวที่นอน

๖) เหลือใจที่ถูกไว้ดวงหนึ่ง

๗) ใช้ชีวิตให้คุ้ม

๘) ทำบุญครั้งสุดท้าย


สำหรับคนไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า ตายแล้วเกิด หนังสือเล่มนี้มีหน้าที่ทำความสบายใจให้เกิดขึ้น ตามที่ญาติทุกคนคงปรารถนา แต่สำหรับคนที่เชื่อในชีวิตหลังความตาย หนังสือเล่มนี้ตั้งเป้าไว้สูงถึงขั้นส่งคนตายขึ้นฟ้าไปเสวยสวรรค์ หรืออย่างน้อยถ้ากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็สมควรมีใจยินดีในพระพุทธศาสนา มีแก่ใจทำเหตุแห่งการดับทุกข์ให้สำเร็จ


ที่กล่าวเช่นนั้น ก็เพราะกรรมก่อนตาย (อาสันนกรรม) มีกำลังมาก อาจจะมากกว่ากรรมที่ทำมาเป็นประจำ (อาจิณณกรรม) เสียอีก ดังเช่นที่มีตัวอย่าง บางคนกินเหล้ามาเป็นนิตย์ แต่คิดถึงพระรัตนตรัยตลอดจนวิธีเจริญสติก่อนตาย ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น


หรือในทางตรงข้าม พระบางรูปรักษาวินัยได้ดีมาทั้งชีวิต แต่ก่อนจะตายกลับคิดเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ท่านเคยผิดพระวินัยเล็กน้อย ไปพรากของเขียวเข้า เลยต้องไปอบายก่อน เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่มีมาในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พอให้เห็นความสำคัญของขณะจิตก่อนตายว่ามีความหมายสำคัญเพียงใด


หากเราทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้มีความสบายใจ สามารถระลึกถึงคุณงามความดีที่ตนเองเคยทำมา ตลอดจนมีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และรู้วิธีเจริญสติ เพื่อเตรียมสติขณะเข้าด้ายเข้าเข็ม อย่างน้อยก็ปิดอบายได้ชาติหนึ่งแน่ๆ เป็นที่หายห่วง หรือพลอยโสมนัสแก่คนข้างหลังกัน


คนเรานี้ ที่จะเปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี จากไม่สบายใจเป็นสบายใจ หรือจากไม่เชื่อมาเป็นเชื่อนั้น ระหว่างมีชีวิตอาจกลับกลอกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้นับครั้งไม่ถ้วน แต่สำหรับคนใกล้ตายแล้ว ขอโอกาสแค่ครั้งเดียว เปลี่ยนให้ดีได้แค่ไหนก็เอาดีไปแค่นั้น เพราะไม่เหลือเวลาให้กลับไปกลับมาสักเท่าไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น