...+

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ด้วยวิธีใดคนดีจึงจะมีที่ยืนในสังคม?





โดย สามารถ มังสัง

  ในบทความเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผู้เขียนได้บอกไว้ว่าจะเขียนถึงวิธีการที่จะทำให้คนดีมีที่ยืน
       
        ดังนั้นในวันอังคารนี้ก็จะทำตามที่บอกไว้ แต่ก่อนจะพูดถึงวิธีการที่จะทำให้คนดีมีที่ยืน ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า คนดี ก่อน
       
        โดยนัยแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่นับถือศรัทธาของคนไทยเป็นส่วนใหญ่ คำว่า คนดี ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาบาลีว่า สาธุชน หมายถึงคนที่มีศีล 5 นิจศีล ซึ่งมีอยู่ในทุกศาสนา เพียงแต่มีนัยแห่งการสอนและภาษาต่างกันบ้าง ถ้าถือเอาความหมายส่วนใหญ่จะตรงกัน คือข้อห้ามที่ต้องการให้คนเป็นคนดีของสังคม
       
        ศีล 5 ประการคือ
       
        1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
       
        2. งดเว้นจากการลักทรัพย์
       
        3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
       
        4. งดเว้นจากการพูดปด
       
        5. งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย
       
        นอกจากมีศีล 5 ประการครบถ้วนแล้ว สาธุชนจะต้องตั้งอยู่ในฆราวาสธรรม 4 ประการ คือ
       
        1. สัจจะ หมายถึง มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจ พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น
       
        2. ทมะ หมายถึง การฝึกฝน ข่มใจ อบรมนิสัย รู้จักควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม
       
        3. ขันติ หมายถึง ความอดทน เข้มแข็ง ไม่หวั่นใจ ไม่ท้อถอย
       
        4. จาคะ หมายถึง ความเสียสละ มีจิตใจกว้างขวางไม่คับแคบ เห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ได้
       
        ทั้งศีล 5 และฆราวาสธรรม 4 ประการดังกล่าวแล้ว คือข้อวัตรปฏิบัติที่สาธุชนประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ และกลายเป็นอุปนิสัย
       
        ดังนั้น ถ้าจะเรียกคนดีประเภทนี้ก็เรียกว่า คนดีตามนัยแห่งคำสอนในทางพระพุทธศาสนา และเป็นพุทธแท้ทั้งกาย และใจ
       
        แต่คนดีในความหมาย และสายตาของปุถุชนคนเดินดินที่ยังยึดติดอยู่ในเกียรติและกามคุณมีนัยแห่งชั้นความหมายต่ำกว่าสาธุชน คือจะถือเอาเพียงไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่น ซึ่งเข้าข่ายมีศีล 5 และมีฆราวาสธรรมบางข้อ ไม่ครบถ้วน
       
        แม้เป็นคนดีเพียงแค่นี้ก็ยังจะยากที่จะหาที่ยืนในสังคม และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้
       
        ในสังคมซึ่งตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวัตถุนิยม และส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาความสุขทางวัตถุ โดยใช้อำนาจและโอกาสเป็นเครื่องมือในการแสวงหา
       
        ดังนั้น คนดีถ้าตกไปอยู่ในแวดวงทำนองนี้ก็จะกลายเป็นก้างขวางคอ หรือเป็นอุปสรรคกีดขวางการแสวงหาของคนเหล่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้คนดีถูกคนไม่ดีรังแก หรือในบางรายอาจถึงกับปองร้ายทำลายชีวิตเพื่อให้พ้นทางการโกงกินของตนเอง และพรรคพวกก็มีให้เห็นบ่อยๆ
       
        ส่วนประเด็นว่าจะมีวิธีใดช่วยให้คนดีมีที่ยืนในสังคมนั้น จะต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนในแต่ละสังคมไป
       
        เริ่มด้วยสังคมโดยรวมคือประชาชนของประเทศ จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขทั้งในด้านปัจเจกบุคคล และในด้านองค์กรทางสังคม กล่าวคือ ในด้านปัจเจกจะต้องเริ่มด้วยการให้การศึกษาตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ และการปลูกฝังด้านจริยธรรมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรม
       
        การดำเนินการในประเด็นนี้ได้จะต้องเน้นที่หน่วยย่อยทางสังคมที่เล็กที่สุดคือ ครอบครัว และตามมาด้วยโรงเรียนร่วมมือกัน นอกจากครอบครัวและโรงเรียนแล้ว องค์กรทางศาสนาคือวัด ก็มีส่วนช่วยในด้านการปลูกฝังคุณธรรมได้เป็นอย่างดี แต่การจะทำได้เช่นนี้ ครอบครัวก็ดี โรงเรียนก็ดี วัดก็ดี จะต้องมีบุคลากรผู้ที่จะทำหน้าที่ในนามของครอบครัว โรงเรียน และวัดจะต้องมีคุณภาพ และคุณธรรมมากพอที่จะเป็นเบ้าหลอมให้เด็กเป็นคนดี พูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่การพัฒนาเด็ก ทั้งหัวหน้าครอบครัว ครู และพระสงฆ์จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีมาตรฐานทั้งในด้านความรู้ และคุณธรรมก่อน
       
        ถ้าสามารถดำเนินการได้เช่นนี้ เด็กที่เติบโตขึ้นมาถึงแม้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ไม่หมด แต่ส่วนใหญ่เป็นคนดี เป็นที่เชื่อได้ว่าสังคมจะเป็นสังคมแห่งคนดี และจะเป็นสังคมที่คนชั่วมีที่ยืนน้อย
       
        ดังนั้น เมื่อภาคราชการหรือการเมืองต้องการบุคลากรเข้าสู่ส่วนราชการหรือวงการเมือง ก็จะมีคนดีเข้าไปโดยผ่านการสรรหาหรือคัดเลือกของผู้คนในสังคมภาคเอกชนนั่นเอง
       
        ประเด็นต่อมา คือ ส่วนราชการ ถ้าต้องการให้คนดีมีที่ยืน ประการแรก งานบริหารบุคคลซึ่งเริ่มด้วยการสรรหาบุคลากร (Recpuitment) จะเน้นหนักในการใช้ระบบคุณธรรมให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงระบบอุปถัมถ์ให้มีน้อยที่สุด หรือถ้าไม่มีได้เลยก็จะดี
       
        ต่อมา ในการพิจารณาความดี ความชอบ จะต้องยึดหลักความถูกต้องเป็นธรรม โดยใช้ความสามารถและคุณธรรมมาเป็นเกณฑ์ในการให้ อย่าเห็นแก่พวกพ้อง หรืออามิสสินจ้างมาทำลายขวัญกำลังใจของคนดีที่รอแล้วรอเล่า ไม่เคยได้รับการเลื่อนตำแหน่งเพียงเพราะไม่มีเส้นสาย
       
        ประเด็นสุดท้ายคือ สังคมการเมือง ซึ่งมีองค์กรทางการเมืองคือพรรคเป็นจุดศูนย์กลาง พรรคการเมืองจะต้องเป็นแกนในการคัดเลือกคนดีมีจริยธรรมเข้ามาเป็นผู้บริหารพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งทางการเมืองในนามของพรรค
       
        ที่สำคัญ องค์กรพรรคจะต้องปราศจากการครอบงำของนายทุนทางการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงธุรกิจ คือเข้ามาถอนทุนด้วยการโกงกินงบประมาณของประเทศ และในขณะเดียวกัน ทางภาคประชาชน และส่วนราชการก็จะต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่ดี มีคุณภาพ และมีคุณธรรมให้มีโอกาสได้รับเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ โดยยึดหลักพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจเพียงแค่นี้สังคมไทยทุกภาคส่วนก็จะมีที่ยืนให้คนดีเพิ่มขึ้น และเหลือที่ให้คนชั่วน้อยลงได้แน่นอน เพียงแต่ต้องใช้ความอดทน และยอมเสียเวลาบ้างเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น