...+

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

พระราชดำรัสสมเด็จฯ “พระพุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ” โดย คำนูณ สิทธิสมาน




คงจะจำกันได้นะว่ามีการรณรงค์ทั้งในช่วงปี 2540 และ 2550 ขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้บรรจุหลักการ “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฯมาตรา 2 บททั่วไป อย่างกว้างขวาง แต่ไม่สำเร็จ
     
       ปีนี้ 2555 เป็นปี “พุทธชยันตี 2600 ปี” มีหรือจะไม่มีการรณรงค์ดั่งว่าซ้ำอีก !
     
       การรณรงค์ในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าตลอดช่วง 240 วันของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะมีแนวร่วมกว้างขวางมาก ทั้งในส่วนของพระเถะชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสูงในมหาเถรสมาคม องค์กรพระพุทธศาสนาทั้งเก่าและใหม่ และที่สำคัญคือวัดพระธรรมกายที่ระยะหลังเข้ามามีบทบาทกับกิจการบ้านเมืองมากขึ้น
     
       พระพุทธศาสนากับสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะการเน้นความยิ่งใหญ่อลังการ เน้นจำนวน มีพิธีกรรมใหม่ประยุกต์ให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ หรือที่อยากจะเรียกว่าเอาวิชาการตลาดมาใช้กับพระพุทธศาสนา มีธุดงค์กลางเมือง มีตักบาตรพระเป็นหมื่นรูปกลางเมืองหลวงและกลางหัวเมืองจังหวัดต่าง ๆ ไปทั่ว การปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างเข้มข้น
     
       อย่าว่าแต่ประเด็นรณรงค์จุหลักการ “ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญเลย อีกประเด็นที่จะรณรงค์คู่ขนานกันไปก็คือการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ
     
       “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ....”
     
       อ่านแล้วก็หนาวครับ หลักการและรายละเอียดต่าง ๆ มีมาก แต่ขอเรียกสั้น ๆ เพื่อสื่อความเข้าใจง่าย ๆ ว่า...
     
       “มาตรา 112 ภาคพระพุทธศาสนา”
     
       2 ประเด็นในการรณรงค์ที่เล่ามาโดยสังเขปนี้จะสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นในสังคมไทยมากขนาดไหนคงไม่ต้องพูดให้มากความ ไม่มีใครขัดขวางพระพุทธศาสนาหรอก แต่ที่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ผลักดันใน 2 ประเด็นนี้ก็เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจริง และเพราะเชื่อในหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานในประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาและลัทธิความเชื่อ
     
       คงไม่ต้องพูดถึงประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนะครับ
     
       อย่าว่าแต่ในสังคมไทยจะขัดแย้งกันเลย แม้ในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกันเองก็มีความเห็นต่างกันคนละขั้วในประเด็นนี้
     
       คุณทักษิณ ชินวัตรจะตีธงเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น และจะเป็นปัญหากระทบโดยตรงไปยังประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามจะแก้ไขโดยการพูดคุยอีกด้วย
     
       มีหลากหลายมิติที่เราจะต้องทำความเข้าใจกัน
     
       เพราะแม้จะเป็นประเด็นพระพุทธศาสนา แต่ในบางมิติสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ ก็กระทบไปยังประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
     
       การรณรงค์ประเด็นบรรจุหลักการใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำลังเข้มข้นยุติลงเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2550 หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัสออกมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550
     
       ไม่บ่อยครั้งนักครับที่จะมีพระราชดำรัสเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และการเมือง
     
       หากไม่นับครั้งสำคัญเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนเมื่อเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2517 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตั้งข้อสังเกตร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ผ่านราชเลขาธิการลงมารวม 3 ประการแล้ว ผมว่าพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯองค์วันที่ 11 สิงหาคม 2550 ถือว่าสำคัญยิ่ง
     
       ขออนุญาตอัญเชิญเฉพาะตอนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเผยแพร่
     
       “ข้าพเจ้าได้พบปะกับนักเรียนไทยประมาณ 4,000 คนได้ ข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าจะถูกถามเรื่องพระพุทธศาสนากับรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าก็อธิบายว่า ข้าพเจ้าคิดเองว่า พระบวรพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด สูงส่งแล้ว และได้รับการสนับสนุนมาตลอด ตั้งแต่จากสมัยสุโขทัยจากคนไทยทั้งชาติ พระบวรพุทธศาสนาเป็นของที่สะอาด สูงสุด ทุกคนคิดว่าไม่อยากให้เข้าไปพัวพันกับคำว่าการเมือง ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้นต่อหน้านักเรียนไทย ควรเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า เพราะเป็นแสงสว่างในหัวใจของคนไทยทั้งหลาย
     
       “การเมืองบางครั้งก็มีผิดพลาด บางครั้งก็มัวหมองได้หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ควรนำพระบวรพุทธศาสนาไปไว้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญ ควรจะทิ้งพระบวรพุทธศาสนาไว้เช่นนี้ ที่ถูกเทิดทูนโดยประชาชนทั้งชาติ
     
       “พอข้าพเจ้าพูดจบ ข้าพเจ้าได้รับการปรบมืออย่างดังสนั่นลั่นไปหมดเลย
     
       “ในเมืองไทย ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนนับถือมากกว่า 90% คงจะไม่ให้ใครมาแตะได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการเมืองบางครั้งก็มีอะไรหลาย ๆ อย่างไม่ค่อยตรงไปตรงมานัก เพราะฉะนั้นดีแล้วที่พระบวรพุทธศาสนาแยกไปเสียให้พ้นจากการเมืองจะดีกว่า ไม่ทราบว่าทุกท่านในที่นี้เห็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้าหรือเปล่า อันนี้ข้าพเจ้าถามนักเรียนไทย ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์บอกว่าพระบวรพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินองค์แรก ๆ ของสุโขทัยเวลาจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จะต้องกล่าวคำปฏิญาณว่าจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิต ซึ่งเดี๋ยวนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ก็เช่นกัน ก็ยังถือธรรมเนียมเหมือนอย่างคนไทยทั้งหลาย
     
       “ถือว่าพระบวรพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของชีวิตคนไทยที่จะพึ่งพาเวลามีปัญหาเกิดขึ้นอะไรกับชีวิต พระบวรพระพุทธศาสนาเป็นแสงสว่าง เพราะฉะนั้นไม่มีวันให้สลายหรือล่มลงไปเป็นอันขาด และดินแดนของชาวพุทธนี้ ชาวพุทธได้ทำชื่อเสียงมากมาย เช่น ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าได้ที่ข่าวว่า เชลยศึกสมัยที่ตอนนั้นทางญี่ปุ่นได้ยึดครองประเทศไทย เชลยศึกต่างชาติได้รับการช่วยชีวิต ได้รับการป้อนน้ำ เสี่ยงกับชีวิตตนเอง และป้อนอาหาร ซ่อนตัวเขาด้วย ที่พูดอย่างนี้ไม่อยากจะทำให้ใครต้องเสียใจ แต่พูดให้ทราบความจริงว่า บรรพบุรุษของไทยเรา แม้แต่ที่ผ่านมาไม่เท่าไร ไม่กี่ปี ก็ยังปฏิบัติตนทำให้ต่างประเทศชื่นชมและนับถือประเทศไทย และน้ำใจของคนไทยที่มีความเมตตากรุณา และมีความกล้าหาญ ที่จะเเสดงความเมตตากรุณาด้วย อันนี้ขอให้ท่านคิดดูดี ๆ และชาวต่างประเทศมาพูดกับข้าพเจ้า ที่เขาชอบกรุงเทพมหานครเหลือเกิน เพราะว่าเมืองหลวงของประเทศไทยน่ามหัศจรรย์ โบสถ์พุทธ โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์ สุเหร่าอิสลาม ทุกศาสนาอยู่ใกล้เคียงกัน ไม่เคยมีใครคิดไปวางระเบิดหรือไปรบกวนศาสนาอื่นเลย ให้อิสระ สิทธิเสรีภาพในการจะนับถือศาสนาใดก็ได้ ซ้ำสนับสนุน นี่แหละฝรั่งเขาบอก คือการปฏิบัติต่อกันของคนที่มีความเจริญอย่างแท้จริง เจริญสุดทางด้านจิตใจ อันนี้น่าชื่นใจมาก ถึงเวลาสวดของใคร ใครก็ไป ถึงเวลาใครทำพิธีของใครก็ไป โดยไม่ไปรังแกซึ่งกันและกัน อันนี้ต่างประเทศเขาบอก ยอดสุด ๆ คนไทย....”
     
        ประเด็นนี้เราต้องคิดกันให้รอบคอบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น