...+

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

บัวพ้นน้ำ ชื่อ “หลวงตาบัว” ว.วชิรเมธี

การมรณภาพของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือ พระธรรมวิสุทธิมงคล อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน นำความเศร้าโศกาลัยมาสู่ศิษยานุศิษย์ถ้วนหน้า นำธรรมสังเวช คือ ความรู้เท่าทันต่อสัจธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” มาสู่ปวงปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างทั่วถึง นำเอาข่าวใหญ่มาให้แก่บรรดาสื่อมวลชนให้ได้รายงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เกินอาทิตย์ เกินเดือน และเกินปี


มรณกรรมของหลวงตา สะท้อนให้เห็นถึงความตายของคนที่ “ตัวตาย แต่ชื่อยัง”

อันสอดคล้องกับพุทธวัจนะที่ว่า “รูปํ ชีรติ, นามโคตฺตํ น ชีรติ”

ซึ่งแปลว่า “รูปร่างจะแตกสลาย แต่ชื่อเสียงสกุลวงศ์ไซร้จะหยัดยงเป็นนิรันดร์”



หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เป็นศิษย์เอกรูปหนึ่งในบรรดาศิษยานุศิษย์ชั้นนำของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน



เอกลักษณ์ ของหลวงตาก็คือ ความถึงพร้อมด้วยวิชชา (ความรู้แจ้ง) และจรณะ (ความประพฤติ) หลวงตาเป็นพระที่แกล้วกล้าอาจหาญในการแสดงธรรม ทุกครั้งที่ท่านแสดงธรรม ท่วงทีลีลาของท่านเต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ ไม่มีครั้นคร้าม ดังหนึ่งราชสีห์กำลังบันลือสีหนาท ธรรมที่ท่านแสดงไม่ไช่สิ่งที่คัดลอกอ้างอิงมาจากผู้ใด แต่เป็นธรรมแท้ๆ อันหลั่งใหลออกมาจากใจของท่านเอง

ขณะที่แสดงธรรมนั้นถ้อยธรรมกถาของท่านไหลหลั่งต่อเนื่องไม่ขาดสายเหมือนหนึ่ง “ฝนห่าแก้ว” ตกลงมาจากนภากาศ แม้ท่านจะชราภาพมากแล้ว แต่ความ “คล่องแคล่วในธรรม” ของท่านไม่เคยลดน้อยลงเลย ทุกถ้อยกระทงความจากปากของท่านล้วน “ชัดถ้อย ชัดคำ” ถึงแก่น ถึงพริก ถึงขิง เมื่อธรรมแท้ๆ นั้นไหลจากใจ จึงทะลุทะลวงเข้าสู่ใจของผู้ฟังอย่างดื่มด่ำ ด้วยเหตุนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมศิษยานุศิษย์ของหลวงตาจึงมีอยู่อย่างมากมาย ไม่ใช่เรือนแสน หากแต่เป็นเรือนล้าน


จุดแข็งของหลวงตา ไม่ใช่เพราะหลวงตาเป็นพระที่มีอำนาจเฉกเช่นพระสงฆ์ในสายปกครอง หากแต่เป็นเพราะหลวงตา หยัดยืนเป็น “พระแท้” ที่สงบ สง่า และเสงี่ยมงาม โดยไม่ต้องเติมเครื่องประดับใดๆ ทั้งสิ้น





ความงามที่แท้นั้นมากับความเรียบง่ายเสมอ

หลวงตาก็เป็นเช่นนั้น น้อยครั้งมากที่ท่านจะนำเสนอตัวเองผ่านราชทินนามชั้นธรรม

แต่ท่านจะเรียกตัวเองว่า “หลวงตา” ซึ่งเป็นคำที่แสนสามัญ

แต่ สำหรับผู้ที่รู้จักท่านเป็นอย่างดีย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า แม้หลวงตาจะถ่อมตัวเพียงใด แต่ใครๆ ก็รู้ว่า เดชะบารมีทางธรรมของหลวงตานั้นสูงยิ่ง

หลวงตาเป็นพระป่า แต่พระป่าอย่างหลวงตานั้น ไม่เคยทิ้งเมือง

ยาม บ้านเมืองมีปัญหา หลวงตานำหน้าออกมาเตือนสติสังคมและช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มที่ หลวงตาเคยกล่าวว่า ท่านจะใช้ธาตุขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย จากนี้ไป การเกิดใหม่ไม่มีอีก ดังนั้น สิ่งที่ท่านช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จึงถือเป็นการรู้จักใช้ประโยชน์จากธาตุขันธ์ (กาย-ใจ) ให้คุ้มค่าที่สุดก่อนที่ธาตุขันธ์นี้จะอันตรธานไปตราบอนันตกาล

หลวง ตาบัว คือ รูปธรรมของพระป่าที่ยืนยันอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า โลกุตรธรรมยังคงมีอยู่ และตัวท่านเอง เป็นผู้ที่เข้าถึงสภาวธรรมนั้นแล้ว


การหยัดยืนเช่นนี้ โดย ไม่เกรงข้อครหาว่าจะเป็นการอวดอุตริมนุสสธรรม นับเป็นการสร้างความมั่นใจในทางธรรมให้แก่ศิษย์ที่กำลังเร่งระดมความเพียร เมื่อมีผู้ทักท้วงว่าอาจเลยกรอบแห่งพระวินัยท่านกลับยืนยันว่า “คนรู้ของจริงไม่ให้พูด ส่วนคนที่รู้ไม่จริงกลับปล่อยให้พูดกันเกร่อ ทำอย่างนี้จะใช้ได้หรือ”






หากมองในเชิงบวก การ หยัดยืนว่า โลกุตรธรรม เป็นสิ่งซึ่งยังคงอำนวยผลอยู่โดยมีตัวท่านเองเป็นพยานที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ เห็น ก็นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนร่วมยุคสมัยที่เริ่มจะหมดหวังกับพระ สงฆ์ทั่วๆ ไป ให้ได้หันมาตระหนักว่า พระแท้ยังคงมีอยู่ นิพพานไม่ได้หายไปไหน ใครเพียรปฏิบัติ มรรคผล นิพพาน ก็ยังคงผลิบานรอให้ลิ้มชิมรสอยู่เสมอไม่เสื่อมคลาย


หลวง ตา มีเดชะบารมีมาก มีศิษย์มาก และลาภสักการะมาก แต่หลวงตา ไม่เคยครอบครองสิ่งเหล่านั้นเป็นการส่วนตัว ท่านเปลี่ยนยศ ทรัพย์ อำนาจในทางธรรมของท่านให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลกูลแก่ชาวโลกทั้งสิ้น



เมื่อท่านให้แก่โลก โลกจึงไม่เคยลืมท่าน


อันสอดคล้องกับสัจธรรมที่ว่า “โลกจะไม่จำคนรวย แต่จะจำคนผู้รู้จักให้”



และ เพราะหลวงตาเป็นพระป่าที่โดดเด่นที่สุด จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะมีทั้งเสียงชื่นชม และเสียงนินทาที่มีมาตกต้องยังองค์ท่าน แต่หลวงตาบอกว่า ท่านไม่เคยหวั่นไหวในสิ่งเหล่านี้ ต่อให้มีคนจะมาลอบฆ่า ท่านก็ว่า ไม่เป็นไร เขาฆ่าตัวท่านได้ แต่ฆ่าธรรมในตัวท่านไม่ได้ มองในแง่นี้ ท่านจึงเป็นบัณฑิตที่ไม่หวั่นไหวต่อเสียงนินทาและสรรเสริญ



หลวงตาอยู่ในโลกมานานมาก นานจนรู้ว่า ธรรมดาของโลกนั้นเป็นอย่างไร

วันนี้ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มรณภาพแล้ว

มรณภาพก็คือ “ตาย”

ตายนั้นมี ๒ อย่าง

๑ ตายให้คนเล่า

๒ ตายให้คนลืม

หลวงตาเป็นผู้ที่ตาย (มรณภาพ) แล้วให้คนเล่า คือ บอกกล่าวเล่าขานถึงคุณูปการของท่านไม่รู้จบ ความตายของหลวงตานั้น สั่นสะเทือนตั้งแต่ทับกระท่อมไปจนถึงพระราชวังหลวง ทะลุทะลวงออกไปจนถึงต่างประเทศ

หากหลวงตาเป็นคนเห็นแก่ตัว ชีวิตของท่านคงไม่มีคุณค่าถึงเพียงนี้


ตรงกันข้าม หลวงตาเป็นผู้ให้มาทั้งชีวิต พอถึงแก่อนิจจกรรมอันเป็นคติธรรมดาสามัญของสรรพสิ่ง คนที่อยู่ข้างหลังต่างจึงยังรู้สึกเสียดาย อาลัยรัก หลั่งไหลไปกราบไหว้บูชาไม่สร่างซา



ส่วน ผู้ที่ตายให้คนลืมนั้นมีอยู่มากมายในสังคมไทยหรือในโลก คนบางคน ยังไม่ตายทำลายขันธ์ คนก็ตั้งใจที่จะลืม หรือจงใจที่จะมองไม่เห็นทั้งๆ ที่เขายังมีชีวิตอยู่ คนอย่างนี้ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนตาย และคนเช่นนี้เองนับวันจะมีมากมายในบ้านเมืองของเรา

วันหนึ่ง เราทุกคนก็คงจะตายกันหมด

เราจะตายให้คนเล่าเหมือนหลวงตา

หรือว่า เราจะตายให้คนลืมเหมือนทรราชในอดีต

ฝากไว้คิด พิจารณา โดยทั่วกัน !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น