...+

วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

พิจารณากาย ถ่ายถอนกิเลส

พระธรรมเทศนาโดยพระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (หลวงปู่วัน อุตฺตโม)
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

ต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศลมี ๓ สาย คือโลภะ โทสะ โมหะ
ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะสายโลภะ คือความอยาก
โลภะมันแตกออกไป แยกออกไปเป็นพิษเป็นภัย คนจึงไปหลงตามหมด
ตระกูลของโลภะมันก็เริ่มเกิดมาตั้งแต่ตัวราคะขึ้นมาก็เป็นกิเลสตระกูลเดียวกัน
มันแยกออกไปสาขาหนึ่ง ที่มันต้องแยกออกเพราะชอบรักสวยรักงาม
ชอบปรารถนาดิ้นรน ต้องการปรารถนาอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้
ตลอดถึงการอยากดีอยากเด่น อยากมีอำนาจวาสนา
อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ อยากมีหน้าที่ตำแหน่ง มันก็เกิดจากกิเลสตัวเดียวกันนี่เอง
หรืออยากดีอยากเด่น บางขณะอยากให้เจ้าของดีก็ยกโทษคนอื่น
เพ่งเล็งคนอื่นในทางที่อิจฉา ยกตัวเจ้าของขึ้นว่าเป็นผู้ดีอยู่เรื่อยไป
เหยียดหยามคนอื่น ดูถูกคนอื่น หมิ่นประมาทคนอื่น
ยกโทษคนอื่น ตั้งข้อหาให้คนอื่นมีความผิดไป
ก็คือประสงค์อยากให้ตัวดีเด่น มันจึงเป็นอย่างนั้น
เราด่าคนอื่นก็คือการข่มขู่นั่นเอง การเหยียดหยามนั่นเอง
เพราะอยากให้ตัวเรานี้ดีกว่าคนนั้น เราจึงได้เพ่งเล็งในการที่จะเหยียดหยาม
หรือยกโทษ ใส่ร้ายป้ายสีเขา ก็ต้องการให้เจ้าของดีนั่นเอง

นั้นว่าเรื่องของกิเลสมันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จักการปรับปรุง ไม่รู้จักการชำระกิเลสของเรา
จิตไม่เป็นกลาง คือมันเป็นด้วยความชอบใจ
ถ้าเอาความชอบใจไม่ได้ มันก็ต้องแยกเป็นความไม่ชอบใจอีก
ก็เกิดจากจุดเดียวกัน นี่เรียกว่าจิตไม่เป็นกลาง
การดำเนินข้อปฏิบัติจึงไม่เป็นไปเพื่อมรรคเพื่อผล เพราะมันเดินทางไม่ถูก
คนเราถ้าจะไปคิดเพ่งเล็งแต่คนอื่นในทางที่ไม่ดีแล้ว
ก็เป็นคนที่ลืมตัวนั่นเอง ไม่ได้ปรับปรุงตัวของตน
ก็เรื่องของคนอื่นเราก็อย่าไปเพ่งเล็ง ให้ทำตัวของเรานี้ให้มันดี
แก้ตัวของเรา เราต้องมาปรับปรุงตัวของเราให้มันดี
ต้องรู้จักเรื่องของกิเลสที่มันแสดงออกในความคิดของเรา
ต้องรีบแก้ตั้งแต่ต้นคือตั้งแต่เริ่มคิด
ถ้าเรามาแก้ตั้งแต่เริ่มคิดขึ้นมา กิเลสทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่แก้ได้ง่าย
เหมือนกันกับเราดับไฟ เราดับเสียตั้งแต่เริ่มติดขึ้นมาจากก้านไม้ขีด แล้วมันก็ดับได้ง่าย
ถ้าหากมันเป็นกองไฟลุกลามไปแล้วมันดับยาก เราต้องมาแก้เมื่อเริ่มต้น

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้พิจารณากาย ดูกายของตน
เจริญตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าให้พิจารณากายในกาย
คือเอากายนี้เป็นต้น แล้วก็พิจารณาเรื่องในกาย มันมีอะไรบ้าง มันเป็นลักษณะอย่างไร
โดยที่เราพิจารณาถึงรูปพรรณ สัณฐาน ทรวดทรงของมัน
พิจารณาถึงสีของมัน ถึงกลิ่นของมัน ถึงที่เกิดที่อยู่ของมัน
ต้องกำหนดพิจารณาในลักษณะอย่างนี้
อย่างเราพิจารณาผม ผมมีทรวดทรง รูปพรรณ สัณฐานอย่างไร สีของมันเป็นอย่างไร
กลิ่นของมันเป็นอย่างไร ที่เกิดที่อยู่ของมันเป็นอย่างไร แล้วมันมีสภาพที่เป็นไปอย่างไร
นี้เราค้นเราคิด จนจิตของเรานี้หยั่งรู้ในสภาพตามความเป็นจริง
แล้วเราก็จะรู้จะเห็น จะได้มองเห็นว่ารูปร่างกายของเรานี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นแก่นสาร
ท่านจึงว่าเป็นเรือนร่างที่อยู่อาศัยของจิตที่มันมาก่อภพก่อชาติเท่านั้น
ไม่ได้มีแก่นสารมั่นคงถาวรอะไร พลันที่จะต้องแตกดับ
ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้มีความมั่นคงถาวรแต่ประการใด

เราค้น เราคิดเข้าไปหาความจริงในร่างกายของเรา
ยิ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูลโสโครก เป็นของไม่สะอาด สกปรกโสมม
ไม่ได้มีความสะอาดสะอ้าน ไม่ได้มีความสวยงามแต่ประการใด
ท่านจึงเรียกว่ากาย คือสภาพที่มีความเปื่อยเน่า
ทั้งที่เรารักษาอยู่มันก็ยังเปื่อย ไม่เปื่อยมันก็ต้องเน่า มันเน่าแล้วมันก็ต้องเปื่อย
ดูแต่อุจจาระ ปัสสาวะของแต่ละคน ถ่ายเทออกมาก็มีกลิ่นที่เหม็นกันอยู่ทั้งนั้น นั้นคือมันเน่าในอยู่แล้ว
ถ้าจะดูถึงลำไส้ก็เหมือนกันกับผ้าที่เราเย็บเป็นไถ้ ใส่ของทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไป ก็ไปเปื่อยไปเน่าอยู่
ว่าถึงกระเพาะก็คือที่รวมใหญ่ของมัน อาหารการบริโภคเราส่งลำเลียงเข้าไป
มันก็ไปพักอยู่ที่นั้น แล้วก็เกิดบูดเกิดเน่าขึ้นมา
นี่เป็นสภาพที่เราจะต้องตามรู้ตามเห็นเข้าไป
ในปากของเราก็ชุ่มแช่อยู่ด้วยน้ำลาย เสลด
ในตาของเราก็มีน้ำตาที่หล่อเลี้ยงอยู่แล้ว แล้วก็จับก้อนแข็งกันขึ้นมาเรียกว่าขี้ตา
เข้าไปในหูก็มีน้ำหล่อเลี้ยงหูของเรา แข็งตัวขึ้นก็เรียกว่าขี้หูออกมา
เป็นกันอยู่อย่างนี้ทั่วไปทั้งสรรพางค์ร่างกาย
ผิวหนังของเราก็มีเหงื่อมีไคลที่เยิ้มไหลออกมาอยู่ตามผิวหนังของเรา
เพราะว่าไฟธาตุอันนี้มันก็ต้องแผดเผาอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
ร่างกายของเราถ้าจะอุปมาก็เหมือนกันกับหม้อต้มอาหาร ไฟอันนี้เผาอยู่ข้างใน
นี่แหละจึงเรียกว่ากายคือความเปื่อยเน่า
สภาพที่มีความเปื่อยเน่า ที่ท่านว่ารูป ก็คือสภาพที่มีความฉิบหาย
มันฉิบหายตัวของมันอยู่ตามธรรมดา มันก็หมดไปสิ้นไป
อวัยวะร่างกายของเรานี้มันก็สลายตัวของมันไปโดยลำดับ
แต่มันมีการสืบต่อกันไว้เท่านั้น สภาพเดิมมันก็สลายตัวไป หมดไป

นี่แหละเราก็ฉิบหายมาแล้ว ฉิบหายมาตั้งแต่แรกเกิดมาโดยลำดับ จนถึงเป็นเด็ก
เด็กแดงก็ฉิบหายไปแล้ว เด็กอ่อนก็ฉิบหายไปแล้ว เด็กเล่นฝุ่นเล่นดินก็ฉิบหายไปแล้ว
เด็กนักเรียนก็ฉิบหายไป หนุ่มสาวก็ฉิบหายไป แล้วมันก็ฉิบหายไปโดยลำดับ
ดูแต่ชิ้นส่วนของร่างกาย นัยน์ตาของเราที่มองเห็นแจ่มชัดมันก็ฉิบหายไป เกิดมืดเกิดมัวขึ้นมา
หูที่ฟังเสียงชัดมันก็ฉิบหายไป ก็เป็นหูตึงไปหูหนวกไป
รสชาติอาหารที่ลิ้นของเรามันรู้รสดี หรือแต่เรายังเป็นเด็กยังหนุ่มยังสาว
รับประทานอะไรก็ได้เอร็ดอร่อยกันไปหมด แต่เมื่อแก่ตัวไป มันก็ฉิบหายไป
เลือกอาหารมันก็ไม่ได้อร่อยทุกอย่างเหมือนแต่ก่อนแล้ว นั้นละมันฉิบหาย
สีสันวรรณะของเราที่ผุดผ่องมันก็ฉิบหายไป เป็นซูบซีด หนังก็ตกกระไป
เมื่อมันฉิบหายอยู่อย่างนี้ ไม่ฉิบหายเท่านี้ รูปอันนี้ยังก่อความฉิบหายมากต่อมาก
เงินทองของเราหามาได้เท่าใดก็ฉิบหายเพราะรูปร่างกายอันนี้
ข้าวที่เราทำนาปีหนึ่งๆ ได้ตั้งมากๆ ก็มาฉิบหายเพราะรูปอันนี้อีก
หมดไปตั้งแต่โรงสีสีข้าวมากๆ มันฉิบหายไปไหน
ก็ฉิบหายกับรูปอันนี้แหละมันไปบริโภคกินหมด นี่แหละตัวฉิบหายใหญ่
ผ้านุ่งผ้าห่มของเราฉิบหายไปแล้วกี่ตัว ก็เอามาห่อหุ้มร่างกายของเรา
นี้มันก็ก่อความฉิบหายให้แก่ผ้านุ่งผ้าห่มไปหมด
ไม้ในป่าก็ฉิบหายเพราะเอามาทำบ้านทำช่องที่อยู่ที่อาศัย ก็ฉิบหายไป
ปูปลาอาหารก็ฉิบหายกับรูปร่างกายอันนี้ วัวควายก็ฉิบหายไป ไปฆ่ากิน ก็รูปอันนี้แหละตัวฉิบหาย

นี่แหละเราคิดเอาเองว่ามันฉิบหายมากเท่าใด
โลกอันนี้ฉิบหายอยู่กับรูปร่างกายอันนี้ เป็นตัวฉิบหายใหญ่ ท่านจึงเรียกว่ารูป
ถ้าโดยความหมายแล้วก็คือความฉิบหาย เราฟังดูก็คิดว่าเป็นคำพูดที่สวยที่เพราะ
แต่แล้วมันบ่งบอกถึงลักษณะของความจริง
ว่าเป็นสภาพที่มีความฉิบหาย เป็นตัวฉิบหายอย่างสำคัญ
นี้แหละที่เราเรียกกันว่าคน มันก็มาจากคำว่าบุคคล
ทีนี้บุคคลนี้ท่านแปลว่าผู้กลืนกินของเน่า
อาหารการบริโภคของเราไม่ใช่ว่าเป็นของดี มันเป็นของเน่า
คือเป็นประโยชน์สุดท้ายที่จะต้องทิ้ง
อาหารที่เราปรุงแล้วถ้าเราไม่บริโภคมันก็ต้องทิ้ง
ร่างกายอันนี้มันมารับเอาไปเป็นประโยชน์สุดท้าย คือเอาเข้าไปทิ้งไว้ในกระเพาะในลำไส้ของเรา
ผลไม้มันก็สุกงอมแล้ว ถึงที่จะเน่าของมันแล้ว เราจึงได้บริโภคเข้าไป
มันก็เป็นประโยชน์สุดท้ายที่จะต้องเน่าของมัน
ร่างกายอันนี้มันจึงมารับเอาส่วนประโยชน์สุดท้าย
ที่ประเภทอาหารทุกอย่างที่จะต้องเน่าอยู่แล้ว จึงเรียกว่ามันกลืนกินของเน่า

เราฟังแต่คำพูดก็ดูว่ามันสวย มันคำพูดที่ดี แต่บรรพบุรุษสร้างคำพูดมาให้เหมาะสม
ที่เราจะต้องนำมาคิด มาพิจารณาที่เกี่ยวด้วยรูปร่างกาย
หากว่าเรามีปัญญาค้นคิดในกายของเรานี้ เราก็จะได้รู้ได้ฉลาด
เพราะพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ออกไปจากรูปร่างกายนี้
ไปเป็นคำสอนถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็มากต่อมาก ก็ออกมาจากอันเดียวกันนี้เอง
แล้วเราจะว่าไม่ได้เรียนมากก็ไม่ถูก เพราะพระไตรปิฎกอยู่ที่รูปร่างกายของเรา
ร่างกายของเราเท่ากับเป็นตู้พระไตรปิฎกอยู่แล้ว เราต้องเปิดอ่าน
เราไม่อ่านตัวของเราสักที เราก็ไม่รู้เมื่อเราไม่อ่าน
เราจึงใช้คำว่าคิดอ่าน ทีนี้เรามาเปิดอ่าน เปิดคัมภีร์คือร่างกายของเรานี้
มาอ่านดูให้มันรู้ มีทั้งหยาบมีทั้งละเอียด มีทั้งสุขุมลุ่มลึกลงไป
มรรคผลนิพพานก็เกิดจากความคิดอ่านตรวจค้นในสภาวธรรมอันนี้
มรรคผลนิพพานจึงไมได้อยู่ที่อื่น ตั้งอยู่ที่ตัวเรานี้

ท่านจึงว่า อริยธัมเม ฐิโต นโร อริยธรรมตั้งที่อยู่ที่นรชน
ก็คือตัวของแต่ละคนนี้เอง ตั้งอยู่ที่นี่ มีอยู่ที่นี่ หาเอาที่นี่ ไม่ได้หาเอาที่อื่น
มรรคผลนิพพานไม่ได้อยู่ป่า อยู่ดง อยู่สวนอะไร
อยู่ที่ตัวเรา ถ้าเรารู้จักหาแล้ว เราก็หาเอาในตัวของเรานี้ มันจะพบอยู่ที่นี่
แต่ว่ารูปร่างกายของเรานี้มันเป็นสภาพของกลาง จะมีทั้งดีทั้งชั่ว
ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงมาพิจารณาให้เห็นทั้งดีทั้งชั่ว
ต้องรู้ทั้งสอง ไม่ใช่รู้อย่างเดียว ถ้าเรารู้อย่างเดียวนั้นเรียกว่าเรายังรู้ไม่หมด
ผู้รู้ทั้งหมดเรียกว่าผู้รู้รอบ คือรู้ทั้งดีทั้งไม่ดี ทั้งคุณทั้งโทษ จึงเรียกว่าเป็นปัญญา
เราต้องตรวจ ต้องค้น ทบทวนเข้ามาหากายของเรานี้ จึงเรียกว่าพิจารณากายในกาย
เมื่อเราพิจารณาอยู่ที่กายนี้ เวทนามันอยู่ที่นี่ จิตมันก็อยู่ที่นี่ ธรรมก็อยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ที่อื่น
สรุปแล้วเรียกว่าอยู่ที่แห่งเดียวกัน

แม้พระพุทธเจ้าจะแยกอธิบายในสติปัฎฐาน ว่ากายานุปัสสนาสติปัฎฐาน
เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน ธรรมานุปัสสนาสติปัฎฐาน
สรุปแล้วคือตั้งหลักอันเดียว แล้วมันจะอยู่ด้วยกัน ไม่ได้หนีจากกัน
ไม่ใช่ว่าเราจะแยกไปปฏิบัติเอาทีละอย่าง
เมื่อเรามากำหนดภายในกาย ค้นไปค้นมาก็ต้องเห็นเอง
เวทนาอยู่ที่นี่ เป็นลักษณะหนึ่งที่มันแสดงออก
จิตที่มันนึก มันคิด มันก็อยู่ที่นี่
ธรรมคือกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม มันก็อยู่ที่นี่
ไม่ได้อยู่ที่อื่น รวมอยู่ที่แห่งเดียวกัน
เมื่อเรารู้ว่าธรรมทั้งหลาย มันอยู่ที่แห่งเดียวกันนี้
ธรรมนั้นจะเป็นธรรมสามัคคี ศีล สมาธิ ปัญญา
ก็มารวมกันเข้าเป็นพลังอันหนึ่ง เรียกว่าธรรมเอก
ทีนี้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อมันรวมกันเป็นอันเดียวนี้แล้ว
ความสำเร็จมรรคผลจึงจะเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น