...+

วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

6 ทางเลือกปฏิรูปประเทศไทย โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเสรีประชาธิปไตยนอกเหนือจากการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) การกำหนดมาตรการทางกฎหมายและนโยบายสาธารณะของรัฐบาลแล้ว การเป็นพลังร่วมปฏิรูปสังคมในองคาพยพต่างๆ ที่ยังขาดความเป็นธรรมและเหลื่อมล้ำยังเป็นพันธกิจหลักของ ‘พลเมือง’ ด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากรากฐานการเป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมกันด้านสิทธิและเสรีภาพจะสร้างความเป็นธรรมที่ลดทอนความเหลื่อมล้ำจากการถูกเอารัดเอาเปรียบเชิงโครงสร้างที่หมักหมมมาช้านานได้

ในความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทยที่แม้ปัญหาทุกด้านก่อตัวเป็นวิกฤตแหลมคมเข้มข้นจนยากจะแก้ไขคลี่คลายส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนนั้น ทว่าถึงที่สุดการจัดลำดับความสำคัญ (prioritize) เพื่อสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมก็ต้องตั้งต้นที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งก่อนเพื่อลงมือปฏิบัติการร่วมกันระหว่างพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (active citizen) ผู้เชี่ยวชาญ (expert) และปัญญาชน (intellectual) โดยเฉพาะแง่มุมของการสร้างองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เหมือนดังการเคลื่อนขบวนของโลกาภิวัตน์ทางเลือก (alter-globalization) ในฝรั่งเศสที่มุ่งต้านผลกระทบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ด้วยการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การปกป้องสวัสดิภาพแรงงาน สิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ วัฒนธรรมชนพื้นเมือง และสิทธิมนุษยชน

วิกฤตประเทศไทยภายใต้ผลกระทบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่มีพลวัตของสถานการณ์และตัวแปรต่อเนื่องจึงต้องการการปฏิรูปเร่งด่วนใน 6 มิติสำคัญเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยการบูรณาการพลังร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ปัญญาชน และพลเมือง เพื่อหนุนเคลื่อนหรือผลักดันนโยบายสาธารณะที่มีความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจของประชาชนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกีดกันกดทับของโครงสร้างสังคมอยุติธรรมด้วยการปรับเปลี่ยนแนวนโยบายใหม่

ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ‘เพิ่มพลังพลเมือง สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ’ ที่มุ่งพัฒนากลไกภาคประชาชนควบคู่กับภาครัฐเพื่อถากถางความเท่าเทียมทางด้านการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและการมีส่วนร่วมตัดสินใจสาธารณะของประชาชนทุกกลุ่มในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) จึงกำหนดการปฏิรูปประเทศไทยไว้ที่ 6 แนวทางด้วยกัน อันเนื่องมาจากแต่ละมิติส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมส่วนรวม รวมถึงก่อตัวเป็นวิกฤตกัดกร่อนคุณภาพชีวิตผู้คนและระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็มีชุดข้อเสนอทางวิชาการที่วิเคราะห์สังเคราะห์มาอย่างเข้มแข็งจนสามารถสร้าง ‘ทางเลือก’ (alternative) เพื่อทวงถามความเป็นธรรมที่สูญเสียไปจากการพัฒนาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ได้

นัยสำคัญของชุดข้อเสนอเหล่านี้คือการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้พลังประชาชนเป็นทั้งกลไกและเครื่องมือการปฏิรูป โดย

1) การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ โดยการเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างโดยคำนึงถึงความจำเป็นของชีวิต การพัฒนาสมรรถนะความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงปรารถนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และการคุ้มครองแรงงาน

2) การปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร โดยกำหนดให้เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวทางหลักพัฒนาระบบเกษตรกรรม และอาหารของประเทศภายในปี 2564 เร่งรัดให้มีการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมสำหรับเกษตรกรและผู้บริโภคในระบบการผลิตทางเกษตรและการกระจายอาหาร เช่น กำหนด พ.ร.บ.พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาภายในปี 2556 เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสร้างระบบให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลผลิตจากระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และให้มีการออกกฎหมายจัดตั้งการดำเนินงานของกลไกวิชาการที่เป็นอิสระ

3) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจสู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น โดยการจัดตั้งองค์กรอิสระในการจัดทำกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างอำนาจระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงตรากฎหมายที่มีสาระครอบคลุมถึงการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดังที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 283 และ 303 บัญญัติไว้

4) การปฏิรูประบบการเมืองเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของพลเมือง โดยการพัฒนาความเป็นพลเมืองด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับโดยเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน ลดอำนาจราชการส่วนกลาง ให้ชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการพื้นที่ตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ของภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนเกี่ยวกับสิทธิการปกครองของพลเมืองและความสามารถในการร่วมพัฒนาการเมือง

5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายที่ดิน โดยบูรณาการหน่วยงานด้านที่ดินในระดับนโยบายและร่วมจัดทำแผนการใช้ที่ดินของชาติเพื่อแก้ปัญหาขาดเอกภาพ การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมโดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือและจูงใจให้เจ้าของที่ดินรักษาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนแก้ปัญหาการกระจายสิทธิและการถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการสูญสิทธิในที่ดินของเกษตรกรโดยปรับปรุง พ.ร.บ.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม 2518 และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และตรวจสอบสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินและให้สิทธิในที่ดินแก่เกษตรกรผู้เช่าซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน

6) การปฏิรูปการศึกษาโดยปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพและลดเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการส่งเสริมภาคชุมชนท้องถิ่นให้เป็นกลไกสำคัญในด้านปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น การปรับปรุงมาตรการการคลังและวิธีการจัดสรรงบประมาณการศึกษาที่เน้นระบบการจัดสรรงบประมาณตามตัวผู้เรียนและการจัดสรรงบประมาณลงไปสู่ฐานชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรและทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นในการร่วมจัดการศึกษา สนับสนุนให้พัฒนาและดำเนินการเครือข่ายประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นเพื่อปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ และจัดตั้งกลไกการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกระดับด้วยโดยมุ่งศึกษาวิจัยเชิงระบบ

ทั้งนี้ที่สุดแล้ว 6 แนวทางปฏิรูปประเทศไทยมีสถานะ ‘ทางเลือก’ (alternative) ที่รอสังคมเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของพลเมือง (citizen movement) ที่จะมาเป็นพลังหลักร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและปัญญาชนที่เป็นหัวขบวนทางวิชาการในการเคลื่อนเป้าหมาย และวิธีการเพื่อทลายความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำโดยใช้ชุดความรู้ ประสบการณ์ จนถึงอุดมการณ์ที่ทวนกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ที่ไม่ให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น