...+

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รู้สึกห่วงใย...ไทยพีบีเอส โดย บรรจง นะแส

รู้สึกห่วงใย...ไทยพีบีเอส


โดย บรรจง นะแส

หลังจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ประเทศไทยก็มีสถานีโทรทัศน์ที่มีเป้าหมายให้เป็นสื่อเสรีของประชาชน แต่หลังจากดำเนินการมาได้ไม่กี่ปี อำนาจทุน อำนาจนักการเมืองโดยเฉพาะการเมืองในยุคที่พรรคไทยรักไทยกำลังก่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรค ได้มีส่วนสำคัญในการวางแผนเข้าไปยึดครองสถานีโทรทัศน์ไอทีวีของประชาชนให้เป็นของตัวเอง และใช้เป็นช่องทางในการให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และเป็นช่องทางในการทำมาหากินของตัวเองและพวกพ้อง

โดยใช้บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เข้ามายึด แต่ก็ไปไม่รอด เมื่อถูกศาลปกครองสั่งปรับเพิกถอนสัมปทานและยึดเครื่องมือในการดำเนินงานทั้งหมด ...สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2551 วันนี้ก็ต้องมาเฝ้าระวังกันว่าการเมืองในยุคที่พรรคเพื่อไทยมีอำนาจ เขาจะจัดการไทยพีบีเอสหรือไม่อย่างไร???

ในช่วงที่มีการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไว้ในมือของตัวเองได้อย่างเบ็ดเสร็จในปี 2543 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2544 เขาได้เข้าแทรกแซงการดำเนินงานของทางสถานีจนเกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่นักข่าวที่มีอุดมการณ์และรักศักดิ์ศรีของความเป็นสื่อมวลชน พวกเขาได้ทำการประท้วงจนถูกไล่ออก ถูกเลิกจ้าง ประมาณ 23 คน นำมาซึ่ง “กบฏไอทีวี” ที่ฉาวโฉ่มาแล้ว

มีการกล่าวถึงรูปธรรมของการใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าไปแทรกแซงไอทีวีในยุคนั้นในหลายๆ เรื่อง เช่น มีคำสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ไปตั้งคำถาม พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น, มีการสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์, มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการสายตรงไอทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์

มีเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักไทยเช่ารถโอบีของไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรค ในทางตรงกันข้าม เมื่อเจ้าหน้าที่ข่าวเข้าไปทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดชลบุรี กลับถูกสั่งเรียกรถโอบีกลับสถานีโดยผู้บริหารชินคอร์ป , กรณีเจ้าหน้าที่ข่าวบันเทิง ที่ไม่ได้ไปทำข่าวเปิดตัวนักร้องใหม่ในเครือของค่ายชินคอร์ป (ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายบริหาร และมีคำสั่งให้ไปทำข่าวชิ้นนั้นออกอากาศในทันที เป็นต้น

ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การยึดกุมหัวใจของสถานีโทรทัศน์เพื่อประชาชนไว้ที่กรอบของเนื้อหาที่กำหนดให้ มีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30 รายการ ทำให้การผลิตรายการของสถานีมีเนื้อหาที่หลากหลายและเน้นผู้ชมรายการเป็น “พลเมือง” มากกว่า “ผู้บริโภค”

หากเราเข้าไปดูการจัดผังรายการของสถานี เราจะพบว่าทางสถานี ได้แบ่งออกเป็นสัดส่วนได้สองประเภทคือ 1. แบ่งตามประเภทรายการข่าว 39.98%, สารคดีเชิงข่าวและวิเคราะห์ข่าว 5.42%, รายการสารคดี 29.57%, รายการสาระประโยชน์ 11.58%, รายการเด็กและเยาวชน 7.01%, รายการสาระบันเทิง 6.44% 2. แบ่งตามประเภทของผู้ผลิตรายการ, รายการที่ผลิตโดยสถานี 50.18%

รายการจัดซื้อลิขสิทธิ์ (เช่น สารคดี) 26.87%, รายการที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 21.78%, รายการจ้างผลิต 1.17% การกำหนดไว้เช่นนี้จึงมีส่วนทำให้นักข่าว ผู้ผลิตรายการสารคดี ได้มีโอกาสได้นำเสนอสิ่งดีๆ ต่อสังคม ในสัดส่วนที่มากกว่ารายการไร้สาระ ประเภทเกมโชว์หรือละครน้ำเน่า

เมื่อปี 2551 ทางโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้จัดการแถลงผลการศึกษา เรื่อง: โทรทัศน์ไทยมองผู้ชมเป็น “ผู้บริโภค” (consumer) หรือ “พลเมือง” (citizen) ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหารายการทุกประเภทของสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ITVในยุคนั้น)

มีข้อค้นพบจากการศึกษา และความคิดเห็นที่น่าสนใจ คือรายการที่มองผู้ชมเป็นผู้ “บริโภค” ซึ่งหมายถึงรายการที่ส่งเสริมและโน้มน้าวใจเพื่อการซื้อ-ขายสินค้าและหรือบริการ สร้างความจงรักภักดีต่อตราสินค้าเพื่อนำไปสู่การบริโภคอุปโภค ให้ความสำคัญกับปริมาณผู้ชม (rating) เพื่อผลด้านการขายเวลาเพื่อการโฆษณาสินค้า มุ่งตอบสนองประโยชน์ส่วนตัวและความพอใจในระดับบุคคล ต่างจากรายการที่มองผู้ชมเป็น “พลเมือง” ซึ่งหมายถึงรายการที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ การศึกษา และความบันเทิงที่มีคุณค่า เพื่อพัฒนาบุคคล เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของส่วนรวม แม้มีเนื้อหาที่ให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว แต่ผลนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมในสังคม เป็นต้น

ผลสรุปของการศึกษาในครั้งนั้นพบว่าโดยภาพรวมของทีวีทุกช่องในปี 2551 นั้น ดัชนีรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหามองผู้ชมเป็นผู้ “บริโภค” มีค่าเฉลี่ยที่ 69.4% ขณะที่ดัชนีรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหามองผู้ชมเป็น “พลเมือง” มีค่าเฉลี่ยเพียง 30.6% เท่านั้น กล่าวได้ว่า 7 ใน 10 ของคนที่ดูฟรีทีวี จะเลือกชมรายการที่มองผู้ชมเป็นผู้ “บริโภค” ขณะที่มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ชมรายการที่มองผู้ชมเป็น “พลเมือง” และ 5 ใน 10 คนเลือกรับชมจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และ 3 นั่นก็หมายความว่าทีวีช่อง 7 และช่อง 3 มีส่วนมอมเมาประชาชนไม่ให้ตื่นรู้ และเร่งเร้าการบริโภคแก่ประชาชนมากที่สุด

ที่กล่าวว่ารู้สึกห่วงใยไทยพีบีเอสก็เพราะว่า จากการติดตามการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์ช่องนี้มาตลอด พบว่ามีส่วนทำให้ข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชนและปัญหาทางสังคมอื่นๆ ได้มีโอกาสปรากฏแก่สาธารณะอยู่บ่อยๆ และล้วนเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาด ความล้มเหลวของระบบราชการ ของกลุ่มทุนธุรกิจ ของนักการเมือง ที่หากินกับความอ่อนแอของสังคมไทย ไทยพีบีเอสมีส่วนกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก “พลเมือง” ซึ่งจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เขาต้องการให้ประชาชนเป็นเพียง “ผู้บริโภค” เท่านั้น ไทยพีบีเอสจึงมีโอกาสถูกกำจัดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น