...+

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

ปีใหม่นี้ขอดาวน์โหลด “A New Me Upgrade”

ปีใหม่นี้ขอดาวน์โหลด “A New Me Upgrade”


โดย ประสาท มีแต้ม

ในสังคมยุคนี้ไม่ว่าเราจะคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์หรือไม่ก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจกับคำว่า “ดาวน์โหลด” ซึ่งหมายถึงการส่งโปรแกรม หรือ ชุดคำสั่ง เข้าไปในคอมพิวเตอร์เพื่อให้ชุดคำสั่งนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เช่น โปรแกรมเวิร์ด 2003, 2007 และ 2010 เป็นต้น

แต่คำถามก็คือ แล้วผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลายได้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพขึ้นบ้างไหม? หลายสิบปีก่อนญาติผมคนหนึ่งพูดไว้อย่างน่าคิดว่า "เวลาเลือกซื้อนาฬิกาแล้วจะเอายี่ห้อที่เดินตรงเวลาเปี๊ยะ ผิดไปแค่ 2-3 วินาทีก็ไม่ได้ แต่พอถึงเวลานัดหมายกลับมาช้าเป็นชั่วโมงๆ”

การ์ตูนข้างบนนี้ (มีชื่อผู้วาดเรียบร้อย) ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง โดยมีข้อความที่เข้าใจได้ว่า “ถึงเวลาที่จะต้องดาวน์โหลดฉันรุ่นใหม่ (A New Me Upgrade)”

คำว่า บุคลิกภาพ ไม่ได้มีความหมายแค่รูปร่างหน้าตา การแต่งตัว การเข้าสังคม แต่หมายรวมถึง ความเชื่อ คุณค่า และความคาดหวัง ของแต่ละบุคคลด้วย

ผมเคยนำการ์ตูนนี้ไปบรรยายในโอกาสการประชุมประจำปีขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่าได้รับความสนใจมาก สมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านถึงกับจัดอบรมเพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ แทบไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่หลายคนทั้งๆ ที่เป็นโรค “กลัวคอมพิวเตอร์” กลับมาให้ความสนใจกับการส่งข่าวสารเพื่อสื่องานที่ตนทำให้สาธารณะรับทราบ แม้โดยเนื้อหาพวกเขายังไม่สามารถสื่อสารได้ในระดับมีประสิทธิภาพ ลึกซึ้ง กินใจเพียงพอ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่น่าดีใจมาก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอการ์ตูนนี้ให้ที่ประชุม “ปลุกพลังพลเมืองปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาทั่วประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน เหมืองแร่โพแทส เป็นต้น แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะผมไม่ได้เน้นย้ำเท่าที่ควร หรือเพราะเขายังไม่มีเวลาได้ครุ่นคิด

ทำไมผมจึงเห็นว่า A New Me Upgrade เป็นสิ่งสำคัญ และเราควรจะ Upgrade ไปสู่สิ่งใด ผมมีประเด็นจะนำเสนอครับ

ประเด็นแรก ผมเชื่อว่าทิศทางการพัฒนากระแสหลักของโลกที่นำโดยพ่อค้ามหาอำนาจแค่ 1% ของจำนวนประชากรโลก (ขอยืมตัวเลขของกลุ่มยึดครองวอลล์สตรีท) กำลังนำชาวโลกและโลกไปสู่หายนะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาวะโลกร้อนหรือความเหลื่อมล้ำที่นักคิดบางท่านบอกว่า “เป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง” กลุ่มพ่อค้าผูกขาดเหล่านี้มีกระบวนการล้างสมองโดยผ่านสื่อ ระบบการศึกษารวมทั้งอาหารและวัฒนธรรม ดังนั้น “ฉันรุ่นใหม่” ต้องรู้เท่าทันและ รู้จักแยกแยะ

ผมใช้วลีว่า “ต้องรู้ทันโลกาภิวัตน์ สรรค์สร้างเศรษฐกิจและวัฒนธรรมท้องถิ่น” และคำว่า “ฉัน” หมายรวมไปถึงองค์กรและชุมชนต่างๆ ด้วย

ประเด็นที่สอง “ฉันรุ่นใหม่” ควรจะมีลักษณะ 6 อย่างต่อไปนี้ คือ

1. เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารชัดเจนและมีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารที่มีระบบและมีเป้าหมายชัดเจน แสดงหลักฐานและตรรกะมาสนับสนุนอย่างเหมาะสมในการสื่อสาร ปรับการสื่อสารให้เหมาะกับผู้ฟัง และใช้วิธีการแสดงออกที่หลากหลาย การพูด การเขียน การใช้ทัศนูปกรณ์ การแสดง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร ต้องสื่อสารให้สาธารณะเห็นพิษภัยของโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันก็สื่อถึงศักยภาพของชุมชนเองที่จะทำให้มนุษย์และสิ่งแวดล้อมสามารถมีความสุขร่วมกันได้ ความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์จะดีขึ้นกว่าเดิมแม้ต้องบริโภคทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงก็ตาม

2. เป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิตและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตระหนักถึงความจำเป็นของข้อมูลและข่าวสาร รู้ถึงแหล่งข้อมูลและประเมินข้อมูลได้ ประยุกต์ใช้ความรู้ในการตั้งเป้าหมายและทำการตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบถ้วน ประยุกต์ใช้ความรู้ในบริบทใหม่ๆ แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และเป็นอิสระ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งความสามารถในการเรียนรู้ ปลดละความรู้เดิมและเรียนรู้สิ่งใหม่ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้และคำนึงถึงคุณภาพ และใช้ทักษะของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในการเรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้คนที่มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน

3. เป็นผู้แก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และสามารถปฏิบัติได้ รู้จักสังเกตการณ์และประเมินสถานการณ์เพื่อกำหนดปัญหา ตั้งกรอบคำถาม คาดการณ์และออกแบบการเก็บข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ มองหารูปแบบ แนวโน้ม และความสัมพันธ์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา คิดทางแก้ปัญหาหลายๆ ทาง สร้างสถานการณ์ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุด และประเมินประสิทธิภาพของคำตอบอย่างมีวิจารณญาณ มองเห็นโอกาส หาแหล่งทรัพยากรและแสวงหาผล ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา และมุ่งมั่นไม่ท้อถอยต่อสถานการณ์ที่ท้าทาย

4. เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วม เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนด้วยความมั่นใจ และคิดออกแบบการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ ยอมรับที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตน แสดงถึงพฤติกรรมที่มีจริยธรรมและมีความกล้าหาญทางศีลธรรมที่จะผดุงไว้ซึ่งจริยธรรม มีความเข้าใจอันดีและเคารพในความแตกต่าง แสดงถึงความตระหนักเกี่ยวกับความเป็นไปของโลก และมีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง แสดงถึงความตระหนักในสุขภาวะของทั้งส่วนตัวและชุมชน

5. เป็นผู้ที่คิดอย่างบูรณาการและมีข้อมูลพร้อม รู้จักรับเอาความรู้ข้ามสาขาและในบริบทการเรียนรู้ที่แตกต่างมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในชีวิตจริงโดยการใช้และไม่ใช้เทคโนโลยี ประเมินและสังเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง ประยุกต์ใช้ความคิดที่ได้จากข้ามสาขาและใช้ความคิดอย่างมีระบบในการทำความเข้าใจกับปฏิสัมพันธ์และอิทธิพลของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อผู้คนและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

6. เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย สามารถเชื่อมโยงและประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ได้ดี เข้าใจความเป็นชุมชนของตนเองทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เข้าใจและพิทักษ์สิทธิของชุมชน และต้องร่วมกันกำหนด “อนาคตร่วม” ของชุมชนต่างๆ ต้องเตือนตนเองเสมอว่า การสร้างเครือข่ายเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาและลงทุน

ในโอกาสที่ปีใหม่จะมาถึง ผมขอนำแนวคิด “A New Me Upgrade” มาให้ทุกท่านพิจารณาด้วยความหวังว่าเราจะร่วมกันทำให้สังคมมนุษย์และโลกใบนี้จะน่าอยู่และยั่งยืนมากขึ้น ขอบคุณครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น