...+

วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติพระบรมธาตุ และ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติพระบรมธาตุ และ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช







วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดใหญ่
ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณค่อนมาทางทิศใต้ เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน
มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เข้าใจว่าเดิมคงเป็นถนนโบราณ
ประวัติการสร้างวัดไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดนอกจากประวัติจากตำนานที่กล่าวถึงการก่อสร้างพระมหาธาตุ
ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังเหตุการณ์จริงเป็นเวลายาวนานมาก
หลักฐานทางเอกสารที่ชัดเจนปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าวัดนี้เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
อุปราชปักษ์ใต้ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแลรักษาวัด
และคราวที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสเมืองนคร ได้โปรดพระราชทานนามวัดว่า
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ประวัติจากตำนานที่เล่าเรื่องการก่อสร้างพระบรมธาตุมีหลายสำนวน
สามารถประมวลเนื้อหาได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
เมืองต่าง ๆ ในแว่นแคว้นชมพูทวีปได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปเก็บรักษาเคารพบูชา
มีเมืองหนึ่งชื่อเมืองทนธบุรี ได้พระทันตธาตุมาเก็บรักษาไว้
ต่อมามีกษัตริย์จากเมืองอื่นยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระทันตธาตุ
กษัตริย์สิงหราชเจ้าเมืองทนธบุรีเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้มิได้
จึงให้พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารพระธิดาและพระโอรสอัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือหนีไปลังกา
เผอิญเรือกำปั่นถูกพายุพัด เรือแตก ทั้งสองพระองค์มาขึ้นฝั่ง ณ
หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้
เรื่องราวดำเนินต่อไปจนทั้งสองพระองค์ได้กลับไปลังกาโดยมีพระทันตธาตุสวนหนึ่งยังฝังอยู่ที่หาดทรายแก้วต่อมาพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้มาพบพระทันตธาตุและโปรดให้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์
ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมือง ณ หาดทรายแก้ว
จนสำเร็จเมืองดังกล่าวก็คือ เมืองนครศรีธรรมราช พระบรมธาตุเจดีย์ก็คือ
พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช
ซึ่งเชื่อกันว่าเดิมเป็นเจดีย์แบบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย
คือเป็นเจดีย์ทรงมณฑป
มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุเจดีย์ที่อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕
ต่อมาพระสถูปแบบศรีวิชัยทรุดโทรมลง
จึงได้มีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งเป็นเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบไว้
เชื่อกันว่าในขณะนั้นคือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
อิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกาในดินแดนนครศรีธรรมราชเข้มแข็งมาก
นครศรีธรรมราชจึงได้รับอิทธิพลทั้งศาสนาและศิลปกรรมจากลังกา
ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุลทรงวินิจฉัยว่า
พระบรมธาตุเจดีย์ปัจจุบันมีลักษณะคล้ายเจดีย์ กิริเวเทระ
ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา สร้างในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช
ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็ควรสร้างหลังจากนั้นมาก
ส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ
ล้วนเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่จะมีสิ่งก่อสร้างในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอยู่บ้าง
เช่น วิหารทับเกษตร วิหารพระแอด เป็นต้น







การบูรณะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เท่าที่ค้นคว้าได้มีดังนี้
๑. สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. ๒๑๕๕ และ ๒๑๕๙ มีการซ่อมแผ่นทองที่ปลียอดพระบรมธาตุ
๒. สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๙๐ ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง
และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่
๓. สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑
มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า
๔. สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๓๑๒ ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด
และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตรต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระธาตุ
๕. สมัยพระบาทพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร
พระบรมธาตุที่ชำรุด
๖. สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระครูเทพมุนี (ปาน) บูรณะกำแพงชั้นนอก
วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป
๗. สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๗
ติดตั้งสายล่อฟ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์


๘. สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลปัจจุบัน
บูรณะโดยกรมศิลปากร ดังต่อไปนี้คือ


- พ.ศ. ๒๕๑๐ บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารธรรมศาลา


- พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๗ บูรณปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวงและพระอุโบสถ


- พ.ศ. ๒๕๒๐ บูรณะวิหารทับเกษตรส่วนหลังคา


- พ.ศ. ๒๕๒๒ จ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ( AIT)
ทำการวิจัยและสำรวจโครงสร้าง
ความมั่นคงแข็งแรงของฐานรากและตัวองค์พระบรมธาตุ


- พ.ศ. ๒๕๒๓ บูรณะวิหารทับเกษตรทั้งหลัง


- พ.ศ. ๒๕๒๔ ทำความสะอาดกำจัดคราบสกปรก เช่นตะไคร่น้ำ รา อุดรอยแตก
อาบน้ำยา ป้องกันการดูดซึมที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์


- พ.ศ. ๒๕๒๕ อนุรักษ์เจดีย์ทิศบนฐานทักษิณ ๔ องค์ กำแพงแก้วฐานทักษิณ
ซ่อมเครื่องสูงซ่อมทางระบายน้ำ และปูนทับหลังคาทับเกษตร
ทำความสะอาดคราบสกปรกและอาบน้ำยาป้องกันการดูดซึมของน้ำที่ผิวปูนฉาบอง๕พระบรมธาตุ


- พ.ศ. ๒๕๓๐ ซ่อมกลีบบัวทองคำที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม
เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระบรมธาตุโอรสสาธิราช
สยามมกุฏราชกุมารเสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำขึ้นประดิษฐ์บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์


- พ.ศ. ๒๕๓๓ บูรณะองค์พระบรมธาตุตั้งแต่วิหารทับเกษตรไปจนถึงระดับกลีบบัวคว่ำ
- บัวหงายทองคำ


- พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์
และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๕๐ ล้านบาท
สิ้นทองคำ ๑๔๑ บาท


- พ.ศ. ๒๕๓๙ บูรณะพระวิหารหลวง งบประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท


- พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒ บูรณะพระวิหารหลวง วิหารธรรมศาลา วิหารเขียน
และพระระเบียงคด งบประมาณ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น