...+

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

เกษตรพันธสัญญากับใบอนุญาตละเมิดสิทธิเกษตกรรายย่อย

เกษตรพันธสัญญากับใบอนุญาตละเมิดสิทธิเกษตกรรายย่อย

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

นอกจากการเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสที่จำเป็นต่างๆ อันเนื่องมาจากขาดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอจนถูกละเมิดสิทธิได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสแล้ว เกษตรกรรายย่อยยังถูกนโยบายรัฐที่ลำเอียงเข้าข้างเกษตรกรขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมกระทำชำเราเรื่อยมาอีกด้วย ดังห้วงมหาอุทกภัยไทยครั้งใหญ่สุดในรอบครึ่งศตวรรษที่เกษตรกรรายย่อยเป็นผู้สูญเสียกลุ่มแรกๆ จากการเลือกเบนน้ำเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาแทนพื้นที่เศรษฐกิจ-อุตสาหกรม-เมือง และอาจเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟูด้วย

ความสูญเสียสะสมที่ใช้ชีวิตแร้นแค้นวันนี้จะอยู่อย่างไรต่อไป แต่หมายถึงชีวิตข้างหน้าของตนเองและลูกหลานจะสามารถปลดเปลื้องหนี้สินล้นพ้นตัวจากการสูญเสียทุกสิ่งที่ลงทุนลงแรงมาทั้งชีวิตอย่างไร ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั่วไปที่สูญเสียพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ก็อาจพอประคับประคองต่อไปได้จากการซื้อหาหยิบยืมหรือได้ฟรีจากโครงการผ้าป่าเมล็ดพันธุ์หรือคาราวานล็ดพันธุ์ หากแต่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) จะลำบากกว่ามากเพราะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง ต้องเป็นหนี้สินบรรษัทคู่สัญญาขึ้นอีกมากจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ พันธุ์สัตว์ ซ่อมแซมโรงเรือน และอื่นๆ อีกมากมายตามหลักเกณฑ์ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่หรือเลี้ยงรอบใหม่ได้

ดังนั้นเกษตรกรพันธสัญญาซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการด้านเงินทุน สินเชื่อ ปัจจัยการผลิต และกลไกการตลาด ด้วยการเชื่อมโยงการตลาดกับผู้ผลิตเข้าด้วยกันแบบบูรณาการ จึงต้องการ ‘ความยุติธรรม-ธรรมาภิบาล’ มากกว่านี้ เพราะเมื่อเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตภายใต้ระบบพันธสัญญา ด้วยอำนาจต่อรองด้อยกว่า และตกอยู่ในภาวะจำยอมต้องผูกพันตนตามที่ตกลงกันด้วยความรู้ที่ไม่เท่าทัน ก็ทำให้เกษตรกรตกเป็นเสมือนแรงงานผู้รับจ้างบนที่ดินและปัจจัยการผลิตของตนเอง โดยบรรษัทธุรกิจการเกษตรสามารถจะกำหนดคุณภาพและราคาในการรับซื้อ

ที่สำคัญบรรษัทธุรกิจการเกษตรไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงร่วมกันกับเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตแต่อย่างใดในกระบวนการผลิต และไม่ต้องรับผิดชอบด้านสวัสดิการ แต่กลับสามารถแสวงหาผลกำไรจากการตกเขียวปัจจัยการผลิต รวมทั้งสินเชื่อ เครื่องจักร เครื่องมือเทคโนโลยี วัสดุการผลิตและเวชภัณฑ์ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขผูกมัดให้เกษตรกรจำต้องรับข้อผูกมัดดังกล่าวเพื่อแลกกับการรับซื้อผลผลิต ทั้งยังผลักภาระปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไปให้สังคมแบกรับอีกต่างหาก โดยกลไกควบคุมทางกฎหมายภายใต้ระบบราชการ และตามนโยบายของรัฐไม่เข้าไปดำเนินการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ

ระบบเกษตรพันธสัญญาที่ส่วนมากเป็นปากเปล่าไม่มีลายลักษณ์อักษร หรือมีลายลักษณ์อักษรแต่เกษตรกรก็ไม่เคยเห็นตัวสัญญาจึงเป็นช่องทางให้บรรษัทธุรกิจการเกษตรที่ไร้ธรรมาภิบาลฉกฉวยโอกาสขูดรีดเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยโดยง่าย หรือไม่ก็อาศัยตีความตัวอักษรที่มีอยู่ในสัญญาเป็นเสมือนใบละเมิดสิทธิ ข่มขืนเกษตรกรซ้ำในห้วงยามวิกฤตพิบัติภัยให้ต้องรับผิดชอบความเสียหายไปเพียงลำพัง

ดังนั้นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จึงมุ่งให้รัฐเข้ามามีบทบาทปรับปรุงแก้ไขปฏิรูปพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรม โดยยึดหลักปฏิบัติที่สำคัญด้าน ‘ความเป็นหุ้นส่วน’ ซึ่งบรรษัทธุรกิจการเกษตรและเกษตรกรร่วมกันทำข้อตกลง ร่วมกันรับความเสี่ยงอย่างเท่าเทียมกัน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ด้าน ‘ความโปร่งใส’ โดยระหว่างการทำพันธสัญญาต้องมีตัวแทนหน่วยงานของรัฐและองค์กรท้องถิ่นเป็นพยานรับรู้ และเกษตรกรถือสัญญาคู่ฉบับไว้ด้วย และด้าน ‘พัฒนาระบบการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามพันธสัญญา’ โดยให้มีการจดทะเบียนบริษัทผู้ประกอบการเกษตรพันธสัญญา และแจ้งรายการทำพันธสัญญากับหน่วยงานด้านยุติธรรม รวมถึงมีหน่วยงานหรือองค์กรกลางของรัฐด้านความยุติธรรมดูแลตรวจสอบการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาที่โปร่งใส่และมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นก็ต้องมีการศึกษาวิจัยข้อมูลห่วงโซ่ต้นทุนและกำไรเพื่อการกำหนดต้นทุนการผลิต ราคารับซื้อผลผลิต และราคาขายที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร บริษัท พ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภค ด้วยเช่นกัน เพราะการผลักดันส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาบนหลักการของการค้าที่ยุติธรรม (fair trade) จะทำให้เกษตรกรรายย่อยมีอำนาจการเจรจาต่อรอง (negotiation) มากขึ้น ไม่ตกเป็นลูกไล่ทางธุรกิจในห้วงเวลาปกติหรือผู้รับผิดชอบความเสียหายฝ่ายเดียวในห้วงวิกฤตพิบัติภัยธรรมชาติ

แต่กระนั้นใช่ว่าเกษตรกรรายย่อยทุกรายในระบบเกษตรพันธสัญญาจะมีชีวิตรื่นรมย์ หลายรายต้องการถอนตัวจากระบบนี้ มีไม่น้อยที่เลิกเด็ดขาดแบบ ‘เจ็บแต่จบ’ หรือไม่ก็เสี่ยงย้ายไปอยู่กับบรรษัทใหม่ในลักษณะ ‘เจ็บไม่จบ’ แต่ก็เผชิญกับความไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการอีก จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทสมานความเจ็บปวดรวดร้าวของเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้โดยการจัดตั้งกลไกการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในรูปแบบอนุญาโตตุลาการอันประกอบไปด้วยตัวแทนเกษตรพันธสัญญา ตัวแทนบรรษัทผู้ประกอบการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่เสียเปรียบหรือต้องการออกจากระบบพันธสัญญาด้วย

การพัฒนากลไกทางกฎหมายที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญาเกษตรกรรายย่อยและบรรษัทธุรกิจการเกษตรผ่าน ‘ตัวสัญญาที่เป็นธรรม’ จะไปจัดวางสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับบริษัทให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นจากการเพิ่มอำนาจเจรจาต่อรองของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย แต่ทว่าภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่อยู่ใต้อิทธิพลบรรษัทธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ การสร้างความเป็นธรรมที่ยั่งยืนอยู่ในมือผู้บริโภคมากกว่าจะตระหนักมากแค่ไหนว่าถ้าเกิดการละเมิดสิทธิผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยในระบบเกษตรพันธสัญญานั้น ก็เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคไปในเวลาเดียวกันนั่นเอง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น