...+

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ภารกิจสำคัญยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของพลเอกเปรม

ภารกิจสำคัญยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของพลเอกเปรม

โดย ดร.ป. เพชรอริยะ




สาธุชนคนดีทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรม ต่างก็ยอมรับว่า อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้น ท่านเป็นผู้นำทางการเมืองคุณธรรมในหลายๆ ด้าน เช่น ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเป็นคนซื่อสัตย์ต่อชาติและประชาชนอย่างยิ่งยวด เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนเดียวก็ว่าได้ที่ไม่มีเรื่องด่างพร้อยเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ในยุคที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี (3 มีนาคม 2523-29 เมษายน 31) มีอุปสรรคมากมายนับแต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเมืองภายใน และที่ร้ายที่สุดคือตกอยู่ในช่วงของสงครามกลางเมืองโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้คนไทยทั้งสองฝ่ายต้องล้มตายลงเป็นอันมาก ต้องเสียงบประมาณในการปราบปรามมากมายมหาศาลในแต่ละปี

แต่ด้วยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นจริงจัง จริงใจ ใสสะอาดต่อชาติบ้านเมือง เป็นคนซื่อสัตย์ยิ่ง จึงมีคนดีมีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วย และท่านก็เห็นปัญหาของชาติว่า จะต้องยุติสงครามกลางเมืองให้ได้เสียก่อน

จากประสบการณ์ของการเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พลเอกเปรม ท่านยอมรับว่าปัญหาการก่อการร้ายและสงครามกลางเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์มันเป็นปัญหาทางการเมือง จึงต้องแก้ด้วยการเมือง สภาวการณ์การเมืองเป็นเผด็จการ อำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุนเพียงหยิบมือเดียว การยึดครองทรัพย์สมบัติแห่งชาติอยู่ในมือของคนหยิบมือเดียว ความแตกต่างทางชนชั้นมันหมักหมกมายาวนาน

จึงเป็นที่มาของคำสั่งที่ 66/2523 ซึ่งเป็นนโยบายต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ในทางการเมืองคือขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชนและเสรีภาพของปวงชน ทำให้ผู้ที่หลงผิด กลับออกมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” คนดังหลายคนก็ออกจากป่า เช่น อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, อดิศร เพียงเกษ,หมองเหวง โตจราการ และภรรยา, จาตุรงค์ ฉายแสง เป็นต้น

นโยบายที่ 66/2523 เป็นนโยบายที่ต้องการเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ในขั้นตอนแรก “ว่าด้วยการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ยุติสงครามกลางเมือง” ด้วยการขยายอำนาจอธิปไตยของปวงชนและขยายเสรีภาพทางการเมืองของปวงชน หลังจากที่ทุกส่วนของราชการและโดยเฉพาะรัฐบาลและกองทัพ (ทหารประชาธิปไตย) พลังขับเคลื่อนนโยบาย 66/23 ก็สามารถยุติสงครามกลางเมืองลงได้ภายใน 2 ปีกว่า ไฟสงครามก็ดับมอดลง พรรคคอมมิวนิสต์ย่อมรับการพ่ายแพ้วางอาวุธ “เกือบทั้งหมดยอมรับกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พรรคคอมฯ ได้ประกาศว่าจะ “ยึดอำนาจรัฐให้ได้ภายในปี 2525 แล้วไปกินข้าวพร้อมกันที่สนามหลวง”

คอมฯ พ่ายแพ้เพราะ หนึ่ง ตั้งยุทธศาสตร์ผิด เข้าใจว่า “ประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ฝ่ายประชาธิปไตย นโยบาย 66/23 เห็นว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศอิสระแต่เป็นเผด็จการรัฐสภาหรือเป็นเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญ”

ผลสำเร็จของนโยบายที่ 66/23 นั้นยิ่งใหญ่ กระทั่งมีคนสงสัยว่าใครเป็นคนเขียน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนร่าง พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ เป็นคนร่าง หรือในเชิงลึกกล่าวกันว่า อ.ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นคนแก้ไขหรือเป็นเจ้าของความคิด ใครจะยกร่างก็ตาม “แต่ถือว่าผลสำเร็จต่อชาติยิ่งใหญ่เกิดจากความเข้าใจและนำไปบริหารการเมืองเป็นผลสำเร็จเครดิตตรงนี้ต้องยกให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น”

นโยบายที่ 66/2523 ในขั้นตอนที่ 2 “ว่าด้วยการสร้างระบอบประชาธิปไตย” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงหัตถเลขาไว้ว่า “หลัก Democracy”

ตลอดรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การลดค่าเงินบาท นายทุนเสียประโยชน์ รัฐบาลของ พลเอกเปรม จึงถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งจากนายทหารในกองทัพที่ไม่เข้าใจ ตามไม่ทันนโยบาย 66/23 ฝ่ายซ้ายที่อกหักไม่ยอมรับการพ่ายแพ้ รวมทั้งฝ่ายแนวร่วมมุมกลับ (คือฝ่ายที่เกลียดคอมฯ แต่กลับทำให้คอมฯ ชนะ) ร่วมมือกับนักศึกษาซึ่งเป็นแนวร่วมทางอ้อมของพรรคคอมฯ พยายามโค่นรัฐบาลพลเอกเปรมให้ได้ เพราะเกรงว่าพลเอกเปรม จะดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือ สร้างระบอบประชาธิปไตย ต่อไป

“ทหารประชาธิปไตยและมวลชน” ต้องการผลักดันให้รัฐบาลพลเอกเปรม ในขณะนั้น “สถาปนาหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย” ซึ่งสามารถทำได้ในทันทีและทำได้อย่างสันติเพราะรัฐบาลเป็นผู้เข้าใจและเป็นผู้ทำเสียเอง

แต่ถูกฝ่ายแนวร่วมมุมกลับ โดยนัยหนึ่งก็คือ “ขวาจัด” หรือเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการรัฐธรรมนูญนี่เอง ซึ่งขณะนั้นมีความเข้มแข็งมากเช่นกัน ยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ “เสาหลักประชาธิปไตย” แท้ที่จริงเขาเป็น “เสาหลักเผด็จการรัฐธรรมนูญ” เช่น คำประกาศท้ารบกลางสนามหลวงว่า “ไม่ว่าเลขที่เท่าไหร่ ทับที่เท่าไหร่ กูจะทำลายให้หมด”

พลังฝ่ายก้าวหน้าประชาธิปไตย ตามแนวพระปกเกล้าฯ ในนาม นโยบายที่ 66/2523 สู้ไม่ได้ “พวกขวาจัด” กดดันกระทั่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ลาออกจากรัฐบาล “ผมพอแล้ว”

นับวันนั้นจนถึงวันนี้ เพราะความล่าช้าของ พลเอกเปรม และฝ่ายขวาจัดต่อต้านอย่างหนัก จึงทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในความหายนะภายใต้ “ลัทธิเผด็จการรัฐธรรมนูญ” แต่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ตัวเองต้องการประชาธิปไตยก็ไปร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชน-นักศึกษา-กรรมกรต้องการประชาธิปไตยก็ไปร่างรัฐธรรมนูญให้พรรคเพื่อไทย เสื้อแดง คอมฯ อยากได้ประชาธิปไตยก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นี่คือความเห็นผิดที่แย้งกับพระปกเกล้าฯ มายาวนานร่วม 80 ปี ขณะนี้ฝ่ายขวาจัดอ่อนลง ฝ่ายซ้ายจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับที่ 19 ทั้งๆ ที่ล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก ก็ยังจะทำอยู่นั่นแหละ

จึงเป็นโอกาสสุดท้าย อันเป็นภารกิจแห่งชีวิตที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี จะได้ทดแทนคุณแผ่นดินครั้งยิ่งใหญ่สำคัญยิ่งยวดของชาติ ในการเป็นผู้นำปวงชนผลักดันเพื่อการ “สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9” หรือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ในปีหน้า คือของขวัญที่ประชาชนอยากได้อย่างแท้จริง ความแตกแยกของชาติก็จะหมดสิ้นไป หรือจะปล่อยให้ฝ่ายซ้ายทำความแตกแยก ครอบงำทำผิดซ้ำซากด้วยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ถึงวันนั้นพลเอกเปรม ก็หมดสิทธิแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น