“น้ำลด ราผุด” และ แนวทางกำจัด เชื้อราภายในบ้านและวัสดุเครื่องเรือนหลังน้ำท่วม
ภายหลังน้ำลดแล้ว บางครั้งเราสามารถเจอ เชื้อราในบ้าน และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ วอลเปเปอร์ ฝ้า ผนัง หนังสือ เครื่องเรือน เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า ห้องน้ำ เพดานท่อน้ำที่มีการรั่วซึม และอุปกรณ์อื่นๆที่มีการเปียกชื้น
หน้าที่ 1 - น้ำลด ราผุด (เรียบเรียง by Nattawut Boonyuen ใน http://www.vcharkarn.com/my/154/blog )
วัสดุที่เปียกที่ถูกน้ำท่วมมักจะมีความชื้นสูงและมีอากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้ ซึ่งบางคนอาจมีความไวต่อการเชื้อราดังกล่าว เมื่อหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าไป อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้ โดยเชื้อราอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ต่างๆได้ เช่น เกิดอาการคัดจมูก หอบหืด ไอ หายใจไม่ออก
บางคนได้รับสปอร์ของเชื้อราเข้าไปนานๆและปริมาณมาก ก็อาจทำให้เนื้อเยื่อปอดผิดปกติได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากที่สุด
ภาพประกอบจาก http://www.thaigoodview.com/node/48236
เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์ จัดเป็นเซลล์ยูคาริโอต อยู่ในอาณาจักรรา เชื้อรามีระบบสืบพันธุ์ที่เรียกว่าสปอร์ทั้งอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ซึ่งมีทั้งชนิดที่ก่อให้เกิดโรค และชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อราที่พบในบ้านหลังน้ำท่วมส่วนใหญ่มักจะพบบนวัสดุที่เปียกชื้นและมีปัจจัยสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต เช่นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกน้ำท่วมมีองค์ประกอบของไม้และน้ำตาลเชิงไม่ซับซ้อนอาจเป็นอาหารอย่างดีของเชื้อรา ซึ่งนำไปสู่การเสื่อมสภาพและสร้างความเสีย หายต่อ เฟอร์นิเจอร์ ยิ่งไปกว่าน้ำถ้าเป็นราที่ก่อให้เกิดโรคนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้
ภาพจาก http://teerawatsri.multiply.com/journal/item/472
บ้านและเครื่องเรือนที่ถูกน้ำท่วมอาจสามารถมองเห็นโคโลนีของเชื้อราบนพื้นผิวของวัสดุได้ด้วยตาเปล่า โคโลนีของเชื้อรามักมีมีรอยจุด สีต่างๆ เช่นสีดำ (เป็นสีที่พบมากที่สุด) สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว เป็นดวงและมีกลิ่นอับ ๆ นั่นคือสัญญาณบอกให้รู้ว่าเชื้อราได้เข้าโจมตีบ้านและวัสดุที่เปียกเข้าให้แล้ว
ภาพจาก http://ldthealthsolutions.com/ldtrxtest/FacilityDesign.aspx
สีโคโลนีของเชื้อราดังกล่าวคือกลุ่มสปอร์ขนาดเล็กจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับสกุลและสายพันธุ์เชื้อรา มีการรายงานการปนเปื้อนของเชื้อราบางสกุลหรือ จีนัสมักพบกับ วัสดุ เช่น หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ที่เปียกชื้น เช่นจีนัส Aspergillus จีนัส Cladosporium จีนัส Chaetomium จีนัส Trichoderma จีนัส Stachybotrys และเชื้อราในสกุล Epicoccum เชื้อราดังกล่าวมักถูกพบอยู่บ่อยครั้ง
รูปจาก http://news.mthai.com/general-news/138740.html
ขั้นตอนง่ายๆทำลายเชื้อรา 6 ขั้นตอน ดัดแปลงจากคู่มือ “A Brief Guide to Mold, Moisture and Your Home”
1. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย
โดยเฉพาะคนที่มีความไวต่อสปอร์เชื้อรา ควรสวมหน้ากากป้องกัน หรือ เครื่องช่วยหายใจที่รับการจัดอันดับ (N - 95 หรือสูงกว่า) หน้ากากป้องกันบางชนิดอาจมีวาล์วเพื่อให้ง่ายต่อการหายใจ ควรสวมถุงมือ รองเท้าบู๊ทยาง และสวมใส่แว่นป้องกันตา เพื่อป้องกันการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง ในระหว่างการทำความสะอาด
ภาพจาก
http://www.navy34.com/index.php/khowledge-general-navy34?start=12
2. แยกพื้นที่ทำงานและระบายอากาศ
โคโลนีของเชื้อราในระหว่างการทำความสะอาดสามารถปล่อยสปอร์จำนวนมากไปในอากาศได้ ควรเปิดประตู หน้าต่าง ม่าน ให้อากาศถ่ายเทในห้อง ให้มีแดดส่องถึง และไม่ควรใช้ระบบระบายอากาศภายในบ้าน หรือเปิดแอร์ และพัดลมในระหว่างการทำความสะอาดป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา
ภาพจาก
http://www.decorreport.com/
3. เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆที่พบเชื้อรา
โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากวัสดุที่มีลักษณะเป็นรูพรุนซึ่งไม่สามารถชำระล้างและทำให้แห้งได้ รวมทั้งที่ปูพรม เบาะผ้าและที่นอน ฟูก วอลเปเปอร์ ฝ้าผนัง แผ่นยิปซั่ม ผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นฝ้า ไม้เนื้ออ่อน ผลิตภัณฑ์กระดาษ หนังสือและเครื่องเรือนที่เป็นวัสดุที่มีลักษณะเป็นรูพรุน เพื่อลดการแพร่กระจายของสปอร์ราและทำลายแหล่งเพาะเชื้อรา อุปกรณ์ต่างๆ ควรทิ้งใส่ในถุงพลาสติกและมัดอย่างดี กันแพร่กระจายของเชื้อราสู่อากาศ ทั้งนี้โดยให้พิจารณาว่าสิ่งของใดก็ตามและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมดหลังจากทำความสะอาดฆ่าเชื้อและไม่สามารถทำให้แห้งได้ ไม่ควรเก็บไว้ อย่าเสียดาย ให้ทิ้งไปให้หมด
ภาพจาก http://www.cartoonstock.com/directory/b/bedroom_furniture.asp
4. ทำความสะอาดและการทำลายเชื้อรา
ทำความสะอาดโดยการขัดล้างให้เร็วที่สุด ภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังน้ำท่วมลดลง พวกวัสดุที่ไม่มีลักษณะเป็นรูพรุนรวมทั้ง อุปกรณ์ต่างๆบางประเภทที่สามารถทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ไม่ต้องทิ้ง เช่นพลาสติก คอนกรีต กระจก กระเบื้องเซรามิก โลหะ และไม้เนื้อแข็ง (เชื้อราไม่สามารถเจาะไม้เนื้อแข็งได้) อย่าลืมเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อระบายอากาศตามวิธีที่กล่าวมาแล้วข้อ 2 และสวมถุงมือยางทุกครั้ง ถ้ามีพื้นที่ด้านนอก ให้ขยับอุปกรณ์ต่างๆออกมาพึ่งอากาศที่โปร่งโล่ง กลางแจ้ง หรือที่มีแดดส่องถึง ประมาณ สอง ถึงสามวัน ก็ยิ่งดี
***ส่วนการทำลายเชื้อรา เริ่มแรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกก่อน แล้วตามด้วยการขัดล้างด้วยน้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 0.5 เปอร์เซนต์ (NaOCl) หรือ ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าขาว ที่มีส่วนผสมของ โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ที่มีชื่อทางการค้าว่า “ไฮเตอร์” นำน้ำยาซักผ้าขาวชนิดนี้ ผสมกับน้ำ โดยมีอัตราส่วน 3-5 ต่อ 1 เพื่อฆ่าเชื้อราได้ (น้ำยาซักผ้าขาว ชนิดนี้มีส่วนผสมของสารละลาย คลอรอกซ์ โดยทั่วไปจะเรียกว่าคลอรีนน้ำ มีสมบัติในการฟอกจางสี กัดกร่อนอย่างรุนแรง และทำลายจุลินทรีย์ได้ดี นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อทำความ สะอาด ดังนั้นเวลาใช้ต้องเจือจางก่อน) ห รือ หาซื้อผลิตชื่อทางการค้าอื่นๆที่มีสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ผสมอยู่ เราสามารถดูข้างฉลากว่ามีสารเคมีที่สามารถฆ่าเชื้อราได้ สามารถหาซี้อได้ตามท้องตลาด และ ซุปเปอร์มาเกตทั่วไป
ภาพจาก http://www.chem1.com/CQ/oxyscams.html
@ ถ้าเป็นการการขัดผนังปูนหรือพื้นผิวที่หยาบควรขัดด้วยแปรงชนิดแข็ง ถ้าไม่สามารถหาซื้อได้ให้ อาจผสมน้ำยาใช้เองโดยใช้ผงฟอกขาวที่มีใช้อยู่ตามบ้านและตามท้องตลาดผสมกับน้ำ โดยมีอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เช่นใช้ ปริมาณ 1 ถ้วยตวงของผงฟอกขาว ผสมกับน้ำ 1 แกลลอน (ประมาณ 3. 8 ลิตร)
ภาพจาก http://www.safemoldsolutions.com/basement_mold_removal.php
@หากพบเชื้อราขึ้นเป็นจุด ๆดวงๆ บน วอลเปเปอร์ และ ผนัง อาจใช้ เช็ดแอลกอฮอล์ล้างแผล 70 เปอร์เซนต์ ผสม กับ กรดซาลิไซลิก โดยมีอัตราส่วน 5 ต่อ 1 หรือหากพบว่ามีเชื้อราเป็นจำนวนมาก เกินกว่าจะกำจัดไหว ก็ควรเปลี่ยนวอลเปเปอร์และ ผนังเสียใหม่ดีกว่า
ภาพจาก http://www.yourblackmoldguide.com/black-mold-pictures/
@หากพบเชื้อราขึ้นบน หนังสือ และ เครื่องเรือนประเภทไม้ อย่าใช้ผ้าชุบน้ำ เช็ด เพราะ น้ำ ทำให้เกิดการสะสมความชื้นอีก และทำให้เกิดเชื้อรามากขึ้น ในการทำความสะอาดผลิตเครื่องเรือนประเภทไม้ อาจใช้ผ้าชุป แอลกอฮอล์ 70 ปอร์เซนต์ หรือ ฟอร์มาลีนเจือจางเช็ด และแล้วปล่อยให้แห้งเอง หากมีเชื้อราขึ้นมากเกินการกำจัด ก็ควรเปลี่ยนไม้ดีกว่าและทิ้งไปเลย ถึงแม้ว่าได้ทาแลกเกอร์เคลือบผิวก็ตาม
ภาพจาก http://www.moldbacteriaconsulting.com/mold-on-books.html
@หากพบเชื้อราขึ้นบนเครื่องเรือนและอุปกรณ์ประเภทเครื่องหนังให้ใช้น้ำส้มสายชู เช็ดถู หลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากน้ำส้มสายชูมีสภาพเป็นกรดสามารถทำลายเชื้อราได้ หลังจากแห้งแล้วเราสามารถเช็ดทำความสะอาดโดยวิธีอื่นๆเพิ่ม เช่น ใช้น้ำยาทำความสะอาดอีกครั้ง บางกรณีอาจใช้ครีมเช็ดรองเท้ามาเช็ดถูปิดท้าย
ภาพจาก http://www.alibaba.com/buyofferdetail/103369457/Buying_Mold_leather_Furniture.html
@หากพบเชื้อราขึ้นบนเครื่องเรือนและอุปกรณ์ประเภทที่ทำจาก ผ้า เช่น เสื้อผ้า ปอกหมอน ม่านและเครื่อนนอนต่างๆ ให้ต้มน้ำร้อนเดือดฆ่าเชื้อรา ทั้งนี้สามารถใช้วิธีอื่นๆร่วมด้วยเช่น ใช้น้ำยาซักผ้าขาว ที่มีส่วนผสมของ โซเดียมไฮโปคลอไรด์แช่ไว้ก่อน หากมีเชื้อราขึ้นมากเกินกำจัด ก็ควรเปลี่ยนและทิ้งไปเลย
ภาพจาก http://www.moneypit.com/question-and-answer/cleaning-mold-furniture
@นอกจากนี้หากพบเชื้อราฝังตัวอย่างแน่นหนาตามเครื่องเรือนประเภทไม้ ผนัง วอลเปเปอร์ ที่ไม่สามารถกำจัดออกได้ โดยการขัดล้าง ทำความสะอาด โดยเฉพาะการฝังซ่อนตัวภายในชั้นวัสดุแทรกภายใน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ ไม่ควรทาสีกลบทับเพราะไม่สามารถทำลายสปอร์ที่เหลือได้และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราขึ้นได้ภายหลัง
ภาพจาก http://www.inspectapedia.com/sickhouse/Green_Mold_Pictures.htm
ข้อควรระวัง ควรศึกษาคู่มือการใช้ยาฆ่าเชื้อราที่ผสมในผลิตสำเร็จรูปบางยี้ห้อโดยให้ปฏิบัติตามป้ายและคำเตือนในการใช้อย่างระมัดระวัง
5. การทำให้แห้ง
หลังจากทำความสะอาดและฆ่าเชื้อราในบ้านแล้ว ให้ใช้พัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้นควรเปิดหน้าต่าง เปิดประตู เพื่อดึงสปอร์ราที่อยู่ในอากาศในบ้านออกไปนอกตัวบ้านหรืออาคารให้มากที่สุด โดยใช้เวลา พึ่งลมประมาณ 1 ชัวโมง หรือ มั่นใจว่า บ้าน และอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องแห้งสนิทแล้ว หากบ้านไหนมีเครื่องลดความชื้นก็อาจใช้ร่วมด่วย บางกรณีอาจเลือกการทำให้แห้งของอุปกรณ์ต่างๆที่มีขนาดเล็กสามารถใช้เครื่องเปล่าผมไฟฟ้าซึ่งเป็นความร้อนแห้ง ช่วยทำให้แห้งไวขึ้น
ภาพจาก http://ldthealthsolutions.com/ldtrxtest/FacilityDesign.aspx
6. ตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง
ภายหลังจากความสะอาดแล้วผ่านไป 2 ถึง 3 วัน แล้ว ให้ มองหาสังเกตการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งเชื้อราอาจถูกพบและเจริญเติบโตซ้ำได้ ถ้าวัสดุ เครื่องเรือน ดังกล่าวยังไม่แห้งดีพอ ซึ่งมีความชื้นอยู่ ถ้ายังพบเชื้อราอีกให้ทำความสะอาดซ้ำโดยวิธีที่กล่าวด้านบน ข้อ 1-ข้อ 5 โดยเฉพาะบ้านที่ใช้เครื่องปรับอากาศ อาจมีความบกพร่องของเครื่องปรับอากาศ ในการดึงความชื้นออกจากอากาศภายในห้องได้ไม่ดีเท่าที่ควรอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการกลับมาของเชื้อราดังกล่าว ควรเรียกช่างแอร์ทำการแก้ไขโดยด่วน กรณีการตรวจสอบปัจจัยต่างๆโดยละเอียด ถ้ายังพบเชื้อราอีกอาจจะต้องตรวจสอบระบบการระบายอากาศ ระบบแอร์ทั้งหมด ระดับความชื้นภายในอาคารด้วย ระดับอุณหภูมิ และสิ่งแวดล้อมทื่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจต้องมีการนำเครื่องมือเฉพาะทางมาตรวจส อบเชื้อรา
ภาพจาก http://ldthealthsolutions.com/ldtrxtest/FacilityDesign.aspx
หมายเหตุ การเก็บตัวอย่างเชื้อรามาตรวจสอบด้วยละเอียดเพื่อกรณีระบุว่าเชื้อราดังกล่าวเป็นตัวทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น เชื้อรา แอสเปอร์จิลลัส ฟูมิกาตัส (Aspergillus fumigatus) เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคระบบทางเดินหายใจ สามารถส่งบริการทั้งต่างประเทศและภายในประเทศ ซึ่งในประเทศไทยการระบุชนิดของเชื้อราและการตรวจเชื้อราทางห้องปฏิบัติการ โดยดูรูปลักษณะสัณฐานวิทยาและใช้เทคนิคเชิงโมเลกุลมาช่วยจำแนก สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านราวิทยาโดยตรง เช่น การบริการการจำแนกเชื้อรา ในมหาวิทยาลัยรัฐบางแห่ง สถาบันวิจัยของ ภาครัฐบางแห่ง หน่วยงานในกำกับของกระทรวงของภาครัฐบางแห่ง
เอกสารและข้อมูลอ้างอิง
@ ห้องปฏิบัติการราวิทยา หน่วยวิจัยการเทคโนโลยีทรัพยากรชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) http://www.biotec.or.th/mycology/
@อ้างอิงบางส่วนจาก คู่มือ “A Brief Guide to Mold, Moisture and Your Home” ของhttp://www.epa.gov/mold/moldguide.html
@อ้างอิงบางส่วนจาก www.epa.gov/mold/pdfs/moldguide.pdf
@อ้างอิงบางส่วนจาก “Mold Removal Guidelines For Your Flooded Home” ของ Louisiana State University Agricultural Center
@อ้างอิงบางส่วนจาก http://www.vcharkarn.com/my/154/blog
@อ้างอิงบางส่วนจาก http://inspectapedia.com/sickhouse/mold.htm
@อ้างอิงบางส่วนจาก www.vcharkarn.com/vcafe/134208
@อ้างอิงบางส่วนจาก www.vcharkarn.com/vcafe/66372
@อ้างอิงบางส่วนจาก www.vcharkarn.com/vblog/114955/1/30
*หมายเหตุ งานเขียนชิ้นนี้ ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิทางปัญญา โดยลิขสิทธิเป็นของผู้เขียน ที่ให้เกียรตินำเผยแพร่ผ่าน วิชาการ.คอม เรามีความยินดีและอนุญาตให้ทำซ้ำหรือเผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น กรุณาให้เกียรติผู้เขียน โดยอ้างชื่อผู้เขียนและ วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ทุกครั้งที่ทำการเผยแพร่ต่อ ห้ามนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อในสื่อที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจก่อนได้รับอนุญาต ขอขอบคุณที่ร่วมกันช่วยสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น